กันตัวรองปลัดฯเป็นพยาน! ธีระเกียรติ ยันคดีสินบนMOENETมีมูล-ส่งป.ป.ช.สอบขรก.ซี11เอี่ยวด้วย
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาฯ แถลงความคืบหน้าผลสอบคดีสินบน MOENET ชี้มีมูลส่อทุจริตจริง เผยรองปลัดฯ ให้ข้อมูลเองถูกเสนอช่วงมารับตำแหน่งใหม่-พร้อมข่มขู่ แต่ไม่เล่นด้วย เบื้องต้นกันตัวไว้เป็นพยาน เตรียมชง ป.ป.ช.ลุยสอบขรก.เอี่ยวทุกระดับตั้งแต่ซี 9-11 รวมพวกเกษียณอายุด้วย เร่งประสาน ปปง.ตามรอยเส้นทางเงิน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบปัญหาการให้บริการระบบสัญญาณอินเตอร์เน็ตในสถาบันการศึกษาของรัฐ ที่เรียกว่า Moenet ระหว่างศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการกับ บมจ.ทีโอที ที่ถูก นพ.ธีระเกียรติ สั่งยกเลิกไปในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การให้บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ไม่มีคุณภาพ กระทรวงศึกษาฯ ต้องเสียงบประมาณในการดำเนินงานโครงการกว่า 3 พันล้านบาท แต่ไม่มีเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบ ที่ตนเองทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ว่า " ในช่วงปลายปีที่ผ่านมานั้น นายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เคยมาเรียนกับตนว่า เคยได้รับการติดต่อเสนอสินบนให้ต่อสัญญาของ MOEnet ตั้งแต่ช่วงที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นรองปลัด แต่ที่ผ่านมานายประเสริฐมีความคิดจะให้มีการจัดซื้อจัดจ้างผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือ E Bidding ให้ถูกต้อง และเมื่อนายประเสริฐแสดงท่าทีว่าจะไม่ต่อ MOEnet ก็มีการเสนอสินบนไปยังนายประเสริฐพร้อมกับข่มขู่ว่า ถ้าหากไม่เซ็นสัญญาต่อ MOEnet ระบบอินเตอร์เน็ตโรงเรียนทั้งประเทศจะใช้ไม่ได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่เป็นแบบนั้น เพราะขณะนี้อินเตอร์เน็ตของโรงเรียนดีทั้งประเทศ"
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า ดังนั้นตนถือว่านายประเสริฐไม่ใช่ผู้ทุจริต แต่เป็นพยานปากสำคัญในกรณี MOEnet นี้ และหลังจากที่นายประเสริฐได้มารายงาน ตนก็ได้ตั้งกรรมการสืบสวนกรณีนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งตนได้เข้ามาเป็นประธานสืบเองพร้อมทีมงานและพบว่ามีมูลว่าจะทุจริตจริง
"โดยข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนายประเสริฐน่าจะทราบดีว่าผู้ที่รับสินบนทุจริตในกระทรวงนั้นเป็นใครบ้าง สำหรับกระบวนการสืบสวนเรื่อง MOEnet นั้นขณะนี้เสร็จสิ้นไปแล้วในกระบวนการสืบ ส่วนกระบวนการสอบนั้น จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการสอบต่อ โดยเฉพาะในส่วนของข้าราชการระดับสูงในระดับซี 9 ซี 10 และ ซี 11 ตั้งแต่ระดับที่คุมเทคโนโลยีขึ้นไปจนถึงระดับปลัด ซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็ต้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบต่อ โดยสอบต่อไปด้วยว่าข้าราชการตั้งแต่ปีไหนบ้างเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และคาดว่าการทุจริตนั้นน่าจะมีการกระทำเป็นสิบๆปีนับตั้งแต่ที่มีอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย และขอย้ำว่าไม่ได้ปรักปรำว่าใครผิด นี่คือข้อกล่าวหาเท่านั้น"
รมว.ศึกษาฯ กล่าวต่อไปว่า ตนได้เห็นเอกสารใบเรียกเก็บเงินที่ส่งมาทั้งสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และทางปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่ว่ายังไม่จ่ายเนื่องจากมีมูลค่ามหาศาล อาทิ 2 MB/5500 บาท 2MB/8500 บาท ต่อโรงเรียน 1 ที่ เป็นต้น ซึ่งเป็นราคาที่ผิดปกติ ทำให้เดือนนึงต้องเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้นับร้อยล้านบาท และปีหนึ่งก็เสียเงินกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ต้องส่งไปยัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ตรวจสอบด้วย
"ส่วนเรื่องที่อ้างว่าเป็นการคุยกันแบบจีทูจีเลยไม่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างปรากฏให้เห็นนั้น เรื่องนี้จะต้องให้ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยเช่นกัน"
เมื่อถามต่อว่ามีบริษัทที่เกี่ยวข้องกี่บริษัท รมว.ศึกษาฯ ตอบว่า มีหลายบริษัท แม้กระทั่งการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับเอกชนก็ยังไม่มีสัญญาเช่นกัน ซึ่งเรื่องการทุจริตแล้วเอกชนร่วมด้วยนั้น กฎหมาย ป.ป.ช.สามารถล้วงถึงและเอาผิดด้วยหมด
เมื่อถามว่ารูปแบบการให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ผ่านมาตกลงว่าเป็นการส่งจากบริษัทที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตแล้วมาถึงกระทรวงโดยตรง หรือส่งมาถึงตัวกลางแล้วส่งให้กระทรวงอีกทีหนึ่ง นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า "นี่คือปัญหา ปกติเขาใช้เงินสาธารณูปโภคในการดำเนินการ ถ้าหากเป็นอินเตอร์เน็ตของโรงเรียน ทำไมกระทรวงถึงจะต้องไปขอสาธารณูปโภคให้คนอื่น โรงเรียนควรจะขอมานานแล้ว เพราะฉะนั้นบริษัทอินเตอร์เน็ตไม่ได้ส่งเน็ตมาให้กับกระทรวง แต่ส่งเน็ตไปให้โรงเรียนโดยตรงเลย แต่ปัญหาก็คืออินเตอร์เน็ตนั้นมันช้า ใช้ไม่ได้ แต่ว่าโรงเรียนก็ไม่ได้ร้องเรียนอะไรกลับมา เพราะว่าเขาไม่ได้สนใจปัญหาตรงนี้ พออินเตอร์เน็ตมันใช้ไม่ได้ เขาก็แก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยไปซื้อเน็ตเองและเก็บเงินค่าเน็ตกับ สพฐ.เอง ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนขึ้นมา แต่ตรงนี้ผมขอย้ำว่าปัญหาการใช้เน็ตในโรงเรียนั้นหมดไปแล้ว"
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ได้พยายามติดต่อสัมภาษณ์ นายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากนายประเสริฐ อยู่ระหว่างการปฏิบัติภารกิจในต่างจังหวัด
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า นายประเสริฐ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสื่อกระแสหลักประจำกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ในช่วงปี 2559 มีข้าราชการระดับซี 7 ซึ่งตอนนี้ถูกย้ายออกจากหน่วยงานเดิมไปแล้ว ข้าราชการคนนี้เคยมาติดต่อให้ตนยืดสัญญา MOEnet ออกไปเรื่อยๆ เพราะสัญญาจะหมดในช่วงเดือน ต.ค. ปี 2559 ตนก็เลยยืดสัญญาไปอีก 3 เดือน เพราะว่าในเวลานั้นตนเตรียมเอกสารเพื่อทำ E Bidding ไม่ทัน พอหลังจากนั้นอีก 3 เดือน ข้าราชการคนเดิมก็มาขอให้ตนยืดสัญญาอีก โดยขู่ว่าถ้าไม่ดำเนินการ โรงเรียนกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ จะไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ และตนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า "ข้าราชการคนดังกล่าวยังเข้าใจว่าเหตุที่ตนไม่ยอมต่อสัญญานั้นเป็นเพราะต้องการเรียกรับเงิน ดังนั้น เขาจึงเสนอเงินให้จำนวน 7 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับบอกว่าข้าราชการระดับสูงที่ผ่านมานั้น ก็รับเงินจำนวนนี้กันทั้งนั้น ตนจึงได้นำเรื่องไปปรึกษากับ นพ.ธีระเกียรติ จนเป็นเหตุให้ นพ.ธีระเกียรติย้ายข้าราชการคนดังกล่าวออกจากตำแหน่ง"
อ่านประกอบ:
รมว.ศธ.เอาจริง! สั่งตั้งกก.สอบ Moenet ถลุงงบ3พันล.แล้ว-เล็งคุ้ยมติครม.หาหลักฐานเพิ่ม
อิศราตะลุย ศธ. แกะรอย MOEnet ถลุง3พันล. ศูนย์เทคโนฯยันตกลงทีโอทีแบบจีทูจีไม่มีสัญญาให้ดู?
เปิดปมรมว.ศึกษาฯสั่งเลิกMOEnet ถลุง3พันล.ไร้เอกสารตรวจสอบ-ล่าไอ้โม่งหลังฉากรับปย.?
เช็คชื่ออดีตผอ.ศูนย์เทคโนฯศธ.ไขปมMoenetเกิดยุค 'เกียรติศักดิ์-คุณหญิงกษมา'ก่อนกรณีถลุง3พันล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าวจาก https://thaipublica.org