เปิดปมรมว.ศึกษาฯสั่งเลิกMOEnet ถลุง3พันล.ไร้เอกสารตรวจสอบ-ล่าไอ้โม่งหลังฉากรับปย.?
"...ปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ตของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ ใช้บริการระบบอินเตอร์เน็ตซ้ำซ้อน ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART TELECOM, AIS และ3BB) รวมถึงยังมี MOENet ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการ เพราะไม่มีตัวตน แต่ MOENet ไปซื้อบริการสัญญาณจากเครือข่ายจากเอกชน แล้วนำมาปล่อยสัญญาณต่อให้สถานศึกษา และปล่อยแบบกะปริดกะปรอย ซึ่งสถานศึกษาต้องเสียค่าใช้บริการในส่วนนี้..."
นับเป็นประเด็นสำคัญอีกหนึ่งเรื่องสำหรับประเทศไทย ที่ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด!
สำหรับกรณี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาประกาศต่อสื่อมวลชนในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ว่า จะยกเลิกการให้บริการระบบสัญญาณอินเตอร์เน็ตในสถาบันการศึกษาของรัฐ ที่เรียกว่า MOE net ที่เปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า MOE net ไม่มีตัวตน และไม่ถือเป็นผู้ให้บริการ แต่ไปซื้อสัญญาณจากเครือข่ายจากเอกชนแล้วนำมาปล่อยสัญญาณต่อให้สถานศึกษา ขณะที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันไม่ดี แต่กลับเสียค่าบริการในอัตราแพงมาก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังระบุด้วยว่า จากการลงไปดูรายละเอียดด้วยตนเอง พบว่ามีความไม่ชอบมาพากลในเรื่องค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตแต่ละเดือนของสถานศึกษา เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศจ.) ต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตให้ MOE net ศูนย์การเรียนรู้ละ 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแพงกว่าปกติ และแต่ละแห่งก็ไม่มีสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่จากการสอบถามข้อมูลจากทางโรงเรียนบางแห่ง ก็พบว่าใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากเอกชนมาใช้งานโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง หลังจากที่ MOE net มีประสิทธิภาพการใช้งานค่อนข้างต่ำ ปล่อยสัญญาณแบบกะปริบกะปรอย ที่สำคัญโรงเรียนบางแห่งก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า MOE net คืออะไร ไปซื้อสัญญาณอินเทอร์เน็ตอะไรให้สถานศึกษา และซื้อในราคาเท่าไร และใช้ไม่ได้อีก
"ปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ตของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ ใช้บริการระบบอินเตอร์เน็ตซ้ำซ้อน ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART TELECOM, AIS และ3BB) รวมถึงยังมี MOENet ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการ เพราะไม่มีตัวตน แต่ MOENet ไปซื้อบริการสัญญาณจากเครือข่ายจากเอกชน แล้วนำมาปล่อยสัญญาณต่อให้สถานศึกษา และปล่อยแบบกะปริดกะปรอย ซึ่งสถานศึกษาต้องเสียค่าใช้บริการในส่วนนี้"
หลังจากนั้นไม่นาน นพ.ธีระเกียรติ ก็ได้ออกนโยบายให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ ทุกแห่งยกเลิกการใช้บริการอินเตอร์เน็ตในระบบ MOE net เป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา พร้อมออกนโยบายแก้ไขปัญหาให้สถานศึกษาไปติดต่อใช้บริการอินเตอร์เน็ต ของเครือข่ายผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตโดยตรง พร้อมทั้งเปิดสำรวจความเห็นสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นทางการด้วย โดยเชื่อมั่นว่า หากทำเรื่องนี้สำเร็จจะประหยัดงบประมาณกว่าพันล้านบาท ที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้กับ MOE net
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ มากขึ้น โดยเฉพาะที่มาและปัญหาของMOE net สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลพบว่า เครือข่ายอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยมีการพัฒนามาจากเครือข่ายมหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อเครือข่ายไทยสาร (THAISAN : The Thai Social/Scientific,Academic and Research Network) เครือข่ายไทยสารส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยสถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการ ได้ต่อเชื่อมเข้าสู่อินเตอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ในเดือนกันยายน พ.ศ.2535 จุดแรกของการเชื่อมโยงคือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีถัดมาได้ต่อเชื่อมที่เนคเทค(Nectec)เป็นจุดที่สอง
ปี 2538 ศูนย์สารสนเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้ต่อเชื่อมเครือข่ายเข้ากับเนคเทคภายใต้ชื่อเครื่อง emisc.moe.go.th และเรียกเครือข่ายของกระทรวงศึกษาธิการว่า MOENet (เอ็ม-โอ-อี-เน็ต) เพื่อเปิดบริการแก่หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ความเร็ว 19.2 K
ปี 2540 เครือข่าย MOENet ได้เปลี่ยนช่องทางการสื่อสาร จาก Nectec มาเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เพื่อประสิทธิภาพ และการบริการที่ดีกว่า ที่ความเร็ว 64 K
ปี 2540 เครือข่าย MOENet ได้ขยายความเร็วการสื่อสารเป็น 256 Kbps
ปี 2542เครือข่าย MOENet ได้เพิ่มความเร็วการสื่อสารเพื่อให้รองรับหน่วยงานของกระทรวง ศึกษาธิการที่ความเร็ว 512 Kbps
ก่อนที่เครือข่าย MOENet จะมีการเปลี่ยนช่องทางการสื่อสารเชื่อมโยงไปยังศูนย์บริการอินเทอร์เน็ต ที่ความเร็ว 2 Mbps และขยายไปยังสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ โดยในปี 2545 กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ บมจ. ทีโอที ทำโครงการ MOENet สร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมโยงสถานศึกษาและหน่วยงานทั่วประเทศ เข้ากับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงเป็นทางการ
ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ MOENet คือ กลุ่มเทคโนโลยีการสื่อสาร ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนกระบวนการทำงานของระบบ MOEnet เป็นระบบที่กระทรวงศึกษาธิการซื้อบริการระบบอินเทอร์เน็ตจากรัฐวิสาหกิจ คือ บมจ. ทีโอที แล้ว นำมาให้บริการแก่โรงเรียนในสังกัด ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนสามารถใช้ได้แต่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรและราคาสูง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายในแต่ละปี จึงทำให้โรงเรียนหลายแห่ง จำเป็นต้องเช่าซื้อระบบอินเทอร์เน็ตเพิ่มเพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดเล็ก ส่วนใหญ่โรงเรียนที่ไม่ค่อยมีปัญหา คือ โรงเรียนขนาดใหญ่ที่ใช้ระบบอินเทอร์เน็ต UNInet (โครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ที่จัดตั้งขึ้นตามมติ ครม.)
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงกำหนดนโยบายให้ยกเลิกระบบอินเทอร์เน็ต MOEnet เป็นระบบให้โรงเรียนดำเนินการไปเช่าซื้อระบบอินเทอร์เน็ตเอง โดยพิจารณาความจำเป็นพื้นฐานของโรงเรียนและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จัดสรรงบประมาณให้ มีเขตพื้นที่การศึกษาเป็นหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือ
สำหรับเหตุผลที่ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ต้องออกมาตรวจสอบเรื่องนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ มองเห็นว่าเรื่องการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตเป็นปัญหาสำคัญของประเทศอย่างมาก กล่าวคือ ประเทศไทยอยากเป็น 4.0 รัฐบาลอยากมีเป้า ในแต่ละช่วงของการพัฒนาเริ่ม 1.0 /2.0/3.0 และ 4.0 มีการเชื่อมโยงทั้งหมด สิ่งที่เป็นเรื่อง สําคัญของการพัฒนาตอนนี้ถนนมีการเชื่อมโยงทั้งหมด ไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และที่สําคัญ 4.0 ต้องมีอินเตอร์เน็ตเข้าถึงหมด โรงเรียนมีความจํา เป็นมากขึ้น
โดยในยุคแรกๆ กระทรวงได้มีการนํา Moenet เข้ามาใช้เนื่องจากมีผู้ ให้บริการจํานวนน้อย มีผู้ให้บริการ 3 กลุ่มใหญ่ไม่ใช่ Moenet แต่เป็นผู้จัดหา
ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการ ดังนี้
@ รัฐบาล Uninet มีเครือข่าย 60,000 กิโล มีอินเตอร์เน็ตประชารัฐ /รัฐวสิาหกิจ ToT ,CAT เอกชน AIS, true, Samart , 3BB,dtac
@ ภาพรวมการใช้อินเตอร์เน็ตที่โรงเรียน ในสังกัด สพฐ. มีดังนี้
1. สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา(สพป.)จํานวนโรงเรียน 27,566 แห่ง ใช้ Uninet 6,824 รร./Moenet 21,755 รร./ รัฐวิสาหกิจ/เอกชน 16,113 รร.
2. สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา(สพม.)2,312 แห่ง ใช้ Uninet 1,949 รร./Moenet 1,817 รร./รัฐวิสาหกิจ/เอกชน 2,065 รร.
3. สํานักวิชาการศึกษาพิเศษ 175 รร./ใช้ Uninet 54 รร. /Moenet 73 รร. / รัฐวิสาหกิจ/เอกชน 123 รร.
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น ในสำนักงาน สพฐ.เอง ใช้อินเตอร์เน็ตปีละ 5 ล้านบาท ตกเดือนละ 4 แสนบาท สำหรับโรงเรียนต่างๆส่วนใหญ่ซื้อเอกชนมาเสริม มีจำนวนกว่า 2 หมื่นกว่าโรงเรียนไม่มี Uninet ใช้ ขณะที่โรงเรียนที่มี Uninet ใช้และสามารถให้โรงเรียนซื้อเสริมได้ ปรากฏว่า Uninet ใช้ได้ดีมากสุด
โดยในเรื่องการใช้งบประมาณนั้น กระทรวงใช้ Moenet ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ใช้ทั้งหมดประมาณ 2,000 ล้านต่อปี และ สํานักงานปลัดอีก1,000 ล้านบาท รวม เป็น 3,000 ล้านบาท ใโดยใช้กับโรงเรียนทั้งหมด คิดเป็นค่าใช้จ่ายโรงเรียนละ 5,000 บาท ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะฯใช้ 130 ล้านบาท มี 425 โรงเรียน คํานวณแล้วแห่งละ 25,000 บาท ต่อเดือน
ส่วน กศน. ระดับตําบลใช้ 995 บาท มี 3 พันกว่าตําบล และถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้จ่ายงบไม่เท่ากัน บางที่ใช้ 5,000 บาท บางทีใช้ 995 บาท
แต่ปัญหาสำคัญที่ตรวจสอบพบว่า เรื่องการบริการสัญญาอินเตอร์เน็ตที่ไม่มีคุณภาพ แถมยังต้องเสียค่าบริการจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ทำให้รมว. ไม่พอใจเป็นอย่างมาก คือ เมื่อมีการเรียกขอดูรายละเอียดเอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานMoenet กลับได้รับแจ้งว่า ไม่มีให้ดู ทั้งที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบ โครงการนี้โดยตรง คือ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเอง
และนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ MOEnet ถูกมองว่า ไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้เป็นผู้ให้บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตด้วย เป็นเพียงตัวกลาง ที่แจกจ่ายสัญญาณต่อจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ไปให้สถานศึกษาเท่านั้น
ส่วนในขั้นตอนการดำเนินงานMOEnet จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในการดำเนินการเรื่องนี้ และเงินส่วนนี้ไปตกอยู่ที่ใคร หรือกลุ่มบุคคลใดหรือไม่
เป็นปริศนาที่ต้องค้นหาความจริงกันต่อไป