ผู้สูงอายุไทย ไม่มีเงินออม ปฏิรูปด้านสังคม เสนอให้คืน VAT ผู้บริโภค จนอายุ 60 ปี
ประชากรไทยโดยเฉลี่ยมีรายได้ไม่พอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายตลอดช่วงชีวิต ออมต่ำ ส่งผลต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตในวัยสูงอายุ ปฏิรูปด้านสังคม เสนอให้คืน VAT ให้ผู้บริโภค จนอายุ 60 ปี พร้อมเร่งออกกฎหมายที่กำหนดจัดสรรเงินจากภาษีมูลค่าเพิ่มคืนผู้บริโภคเป็นเงินออมโดยตรงภายในปี 2562
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปฏิรูปประเทศด้านสังคม หนึ่งใน 11 ด้านของการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นั้น (อ่านประกอบ:แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว) ในแผนการปฏิรูปด้านสังคม มีการระบุถึงสถานการณ์และแนวโน้มภายใน โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ไว้อย่างน่าสนใจ
ข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ปี 2564 โดยจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 และสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่วันเด็กและวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลง โดยวัยเด็กมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 16 ขณะที่วันแรงงานคิดเป็นร้อยละ 64 และในปี 2579 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 30 ขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 14 และร้อยละ 15 ตามลำดับ
การลดลงของวัยแรงงาน อาจส่งผลต่อรายได้ภาครัฐที่จะนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการจัดสวัสดิการต่างๆ ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน พบว่า ประชากรไทยโดยเฉลี่ยมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายตลอดช่วงชีวิตและมีการออมอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตในวัยสูงอายุ
และจากข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติประเทศไทย ปี 2556 (Nationl Transfer Account:NTA) พบว่า ประชากรวัยแรงงานเท่านั้นที่เกินดุลรายได้เฉลี่ยประมาณ 27,860 บาทต่อคน ขณะที่วัยเด็ก วัยเรียน และวัยสูงอายุ มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารายได้
อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เกินดุลของวัยแรงงานยังไม่สามารถชดเชยหรือปิดส่วนขาดดุลรายได้ของตนเองตลอดช่วงชีวิต
นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักสถิติแห่งชาติ พบว่า การออมของครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนลดลงจาก 5,758 บาท ในปี 2558 เป็น 5,076 บาท ในปี 2560 และหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 156,770 บาท เป็น 177,128 บาท ในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 24 ไม่มีเงินออม
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ มีการดำเนินการในการส่งเสริมการขยายความคุ้มครองเพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ให้กับประชากรไทยในวัยสูงอายุ ทั้งแบบบังคับและสมัครใจในกลุ่มที่อยู่ในระบบและนอกระบบ อาทิ การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
สำหรับประเด็นการปฏิรูปการออม
1.มีการเสนอให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร กอช. เพื่อเป็นหลักประกันทางสังคมแก่ผู้ท่ไม่มีสวัสดิการอื่นรองรับ ทั้งการอำนวยความสะดวกกับผู้ฝาก การมีปฏิสัมพันธ์กับการออมชุมชน มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จูงใจให้เกิดการออม และพิจารณาความเหมาะสมเงินสมทบภาครัฐถ้ามีความจำเป็น โดยหนึ่งในตัวชี้วัดการปฏิรูปการออมนั้น คือสมาชิกกอช.ได้รับเงินบำนาญไม่ต่ำกว่าคนละ 1,500 บาทต่อเดือน สมาชิกกอช.มีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนภายในปี 2561 เพิ่มเป็น 15 ล้านคนภายในปี 2565
2. สร้างระบบให้คนไทยมีบำเหน็จบำนาญหลังพ้นวัยทำงาน ตัวชี้วัด คือการมีพระราชบัญญัติว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญในรูปแบบการออมภาคบังคับภายใน 2 ปี (2562) และประชาชนมีรายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของรายได้สุดท้ายที่ประชาชนได้รับภายใน 15ปี
3.พัฒนาการออมภาคบังคับ วิธีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ส่วนหนึ่งคืนกับผู้เสียภาษีตามเลขบัตรประชาชน เพื่อเป็นเงินออมของผู้เสียภาษีจนอายุ 60 ปี ซึ่งตัวชี้วัด คือการมีกฎหมายที่กำหนดจัดสรรเงินจากภาษีมูลค่าเพิ่มคืนผู้บริโภคเป็นเงินออมโดยตรงภายในปี 2562 ซึ่งหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักคือกระทรวงการคลัง
4.ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากสวัสดิการต่างๆ ให้เหมาะสมและเป็นธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ก่อนขึ้น VAT นักวิชาการ แนะรัฐเร่งเก็บภาษีอื่นให้ได้ก่อน ทั้งลดรายจ่ายไม่จำเป็น
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ขายไอเดีย "ขึ้น VAT-ส่งเสริมปลูกต้นไม้" ออมเนิ่นๆรับสังคมสูงวัย