ก่อนขึ้น VAT นักวิชาการ แนะรัฐเร่งเก็บภาษีอื่นให้ได้ก่อน ทั้งลดรายจ่ายไม่จำเป็น
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เชื่อขึ้น VAT คนจนได้ประโยชน์ มองเหตุคนค้านเพราะยังไม่มั่นใจว่ารัฐจะใช้จ่ายสมเหตุสมผล แนะเร่งจัดการภาษีอื่นให้ทัดเทียมด้วยก่อนปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดรายจ่ายไม่เป็นจำเป็นลง
สืบเนื่องจากกรณีที่ ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2560 ได้มีการรายงานเรื่องแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน โดยหนึ่งในแนวทางที่นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง เผยว่าจะมีแนวทางการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมอีกร้อยละ 1 โดยกำหนดให้นำรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปใช้เฉพาะในด้านการศึกษาและการสาธารณสุขเท่านั้น คาดว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท
ทางด้านดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า คนคัดค้านเข้าใจได้เพราะมองว่าเป็นเรื่องของภาระที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับคนจนมากกว่าจะเป็นภาระของคนรวย แต่หากดูให้ดี เราจะพบว่าภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT เป็นเรื่องจำเป็น เพราะว่า โครงสร้างการคลังของรัฐบาลเป็นโครงสร้างที่ขาดดุล โดยปกติแล้ว รายรับของรัฐไม่พอกับรายจ่าย ซึ่งเวลาจะแก้ปัญหาเหล่านี้คือ ลดรายจ่ายกับเพิ่มรายรับ หลายคนเพ่งมองเรื่องรายจ่าย ยิ่งในยุคที่คนมองว่ามีการใช้จ่ายที่ไม่โปร่งใส บางคนมองไปถึงที่ว่าไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วจะมีสิทธิ์อะไรมาขึ้นภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ และก็ถูกต้องในตัวของมันเอง
"ผมคิดว่าต่อให้กลับมาอยู่ในรัฐบาลที่จากการเลือกตั้ง มีการตรวจสอบการใช้จ่ายต่างๆ ให้โปร่งใส ในภาวะอย่างนั้นเองรายได้ก็ยังไม่พอรายจ่ายอยู่ดี เพราะว่าด้วยโครงสร้างทางภาษี มีปัญหาว่าเราจัดเก็บน้อยเกินไป เพราะฉะนั้นเลยกลายเป็นปัญหาว่า ไก่กับไข่จะเอาอะไร จะยอมรอให้มีการปราบปรามเรื่องรายจ่ายที่โปร่งใส ลดคอร์รัปชั่น แล้วค่อยมาขึ้นาภาษี VAT หรือ ไปขึ้นภาษีอื่นก่อนเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุล แล้วค่อยมาขึ้น VAT" ดร.สมชัยกล่าวและว่า อย่างไรเสียการขึ้น VAT ไม่สามารถเลี่ยงได้ สำหรับขอเสนอในรายงานของ สนช.เห็นด้วยแค่ครึ่งเดียว แต่ที่อยากจะเห็นอีกครึ่งคือมาตรการในการปรับภาษีด้านอื่นๆ ให้ดี เช่นภาษีสิ่งปลูกสร้างที่ควรจะออกมาได้เเล้ว ภาษีมรดกที่ควรเพิ่มความพยายามในการเก็บเงินให้มากกว่านี้ ปรับเรื่องของภาษีมรดกอีกนิด ซึ่งเรื่องพวกนี้อยากเห็นความพยายามในการปรับพร้อมๆ กับการเพิ่ม VAT
ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า การขึ้นภาษี VAT มีส่วนในการช่วยคนจนได้ เพราะจากการศึกษาพบว่า สมมติมีการเก็บภาษีได้ แสนล้านบาท80% หรือ แปดหมื่นล้านบาทออกจากกระเป๋าคนรวย อีก 20% ออกจากคนจน ดังนั้นหากมีภาษีแสนล้านบาทและบอกไปเลยว่า ห้าหมื่นล้านบาทเอามาใช้คนจนหรือถ้าให้ดีบอกว่าทั้งแสนล้านบาทเอามาช่วยคนจน ดังนั้นเมื่อหักลบกันกับที่คนจนต้องจ่ายเพิ่ม แต่เขาจะได้เพิ่มมาในรูปของการช่วยเหลือ ซึ่งงการช่วยเหลือที่ว่าคือมาในนามของระบบสวัสดิการที่ดี และพุ่งเป้าไปยังคนจน
"ส่วนหนึ่งที่คนยังคัดค้านทุกครั้งที่จะเพิ่มภาษี VAT เพราะยังไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะนำมาจัดสรรได้อย่างมีระบบ ใช้จ่ายกับเรื่องที่สมควร ดังนั้นรัฐต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่ามีความตั้งใจจะขึ้นภาษีตัวอื่น ลดการใช้จ่ายไม่จำเป็น ไม่ใช่ใช้จ่ายจนขาดคลังแล้วจะมีขึ้น VAT อย่างเดียว"ดร.สมชัยกล่าว.
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก TDRI