ช่องโหว่ระบบภาษีไทย เราจ่าย...ใครได้ประโยชน์
เปิดข้อมูลพบรายได้ภาษีไทยต่ำกว่าศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ หวังรัฐจัดทำข้อมูลการคลังจัดเก็บ-ใช้จ่ายภาษี เปิดเผยต่อสาธารณะ โชว์โมเดลสหราชอาณาจักรเข้าถึงผ่านแอปฯ ด้านทีดีอาร์ไอ หนุนขึ้น VAT เป็น 10% ขืนประวิงเวลา มีแต่คนรวยได้ประโยชน์
เราจ่ายภาษีมากไหม...เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก
นี่คือคำถามแรกที่ถูกตั้งขึ้นในเวทีเสวนา ‘อัดฉีด เก็บภาษี เพื่อใคร’ ภายใต้โครงการ เศรษฐกิจไทย (TEF) ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ณ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ข้อมูลจากธนาคารโลก ปี 2558 ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุด ร้อยละ 35 และขั้นต่ำสุด ร้อยละ 0 โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลกแล้ว ถือว่าประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง เฉลี่ยมีประชาชนต้องจ่ายภาษีเพียง 4-5 ล้านคน เท่านั้น
ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ขั้นสูงสุด ร้อยละ 20 ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศในอาเซียน อย่างสิงคโปร์ ร้อยละ 17 อินโดนีเซีย ร้อยละ 25 มาเลเซีย ร้อยละ 25 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 30 แต่ปัญหาที่พบ คือ ประเทศไทยมีสิทธิพิเศษลดหย่อนทางภาษี ทำให้เก็บภาษีได้ไม่เต็มที่
เมื่อศึกษาข้อมูลอัตราภาษีทั้งสองประเภทแล้ว ชี้ชัดได้ว่า ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ใช่อัตราภาษีที่สร้างรายได้หลักให้แก่ประเทศไทย
ดร.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาษีที่สร้างรายได้หลักให้แก่ประเทศไทย คือ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นรายได้หลัก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว พบว่า ยังต่ำอยู่ ซึ่งข้อเท็จจริงอาจเป็นไปได้จะมีแนวโน้มปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในอนาคต หรือไม่สามารถเก็บได้ตามศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ
“งานศึกษาของธนาคารโลกให้คำตอบคร่าว ๆ ไว้ว่า เมื่อเปรียบเทียบรายได้ภาษีของประเทศไทยกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจแล้ว พบรายได้ภาษียังต่ำกว่าที่ควรจะเป็นไปได้ตามศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 20 ทั้งที่ควรจะอยู่ที่ร้อยละ 25”
ทั้งนี้ ส่วนต่างร้อยละ 5 อาจมาจากจัดเก็บภาษีไม่ได้จริง และอัตราภาษีสูงไม่เท่ากับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจก็ได้
ดร.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
หวังรัฐสร้างฐานข้อมูลจัดเก็บ-ใช้จ่ายภาษี เปิดเผยสาธารณะ
ส่วนภาษีในทุกวันนี้ตอบโจทย์เศรษฐกิจอย่างไร ดร.ธร ระบุว่า ภาษีไม่ใช่เครื่องมือหารายได้ของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ภาษียังตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจได้มากมาย เช่น การใช้กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การกระตุ้นลงทุน การกระตุ้นบริโภค
ข้อมูลปี 2557 พบว่า รายได้หลักของภาษีไทยยังมาจากฐานบริโภค ในขณะภาษีฐานทรัพย์สินแทบไม่มีบทบาทใด ๆ
“ภาษีทุกวันนี้ไม่ตอบโจทย์เรื่องการกระจายรายได้เท่าที่ควร และยิ่งตอบโจทย์ด้านรายได้น้อยไปอีก เมื่อนำประเด็นลดหย่อนภาษีเข้ามา เมื่อรายได้เข้าขั้นสูง” ดร.ธร กล่าว และว่า ปี 2559 ไทยสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลของสิทธิพิเศษ BOI กว่า 1.48 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่มีผลการศึกษาชัดเจนให้ประโยชน์แล้วเกิดความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
ดร.ธร ยังกล่าวถึงทิศทางของระบบภาษีในประเทศไทย ต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างการใช้จ่ายของรัฐบาล และต้องสร้างฐานข้อมูลทางการคลังที่เปิดเผยต่อสาธารณะและสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ของเงินภาษีที่ย้อนกลับมาสู่ตนเอง ยกตัวอย่าง การสร้างแอปพลิเคชั่น การจ่ายภาษีของสหราชอาณาจักร เป็นต้น
ประวิงเวลา ไม่ขึ้น VAT เป็น 10% คนรวยจะได้ประโยชน์
ขณะที่ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเสริมว่า ภาษีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยเพียงใดนั้น รัฐบาลต้องเอาภาษีมาจากกระเป๋าคนรวยมากกว่าคนจน ซึ่งเมื่อไล่ดูข้อมูลแล้ว พบว่า คนรวยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถึงร้อยละ 35 เพราะกฎหมายอนุญาตให้แยกคำนวณได้ เช่น มีรายได้จากเงินปันผล มีรายได้จากดอกเบี้ย ซึ่งเสียภาษีสูงสุดเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้น
แล้วคนรวยในประเทศไทยมีรายได้จากเงินปันผลเยอะหรือไม่ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่าง เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีประเด็นหนึ่งโผล่ขึ้นมาทางโซเซียลมีเดีย เกี่ยวกับลำดับของคนที่มีรายได้จากเงินปันผล สูงสุดกว่า 1 พันล้านบาท แต่เสียภาษีแค่ร้อยละ 10-15
เขาตั้งคำถามว่าคนรวยในประเทศไทยมีรายได้หลักจากเงินเดือนที่ทำมาหากินหรือไม่ ถ้าศึกษาจะพบว่าไม่ใช่ ยกเว้นซีอีโอที่มีเงินเดือน แต่คนที่มีรายได้เป็นแสนล้านนั้น ล้วนมาจากเงินปันผลทั้งสิ้น
ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล ดร.สมชัย มองว่า การให้สิทธิพิเศษ BOI ทำให้การจัดเก็บภาษีของไทยร่วงไปเยอะ จากที่ควรจะได้รับ เพราะฉะนั้นมาตรการดังกล่าวจึงไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
ดร.สมชัย ยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับขึ้น VAT จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 ว่า ถกเถียงกันค่อนข้างเยอะใครจะเป็นผู้รับภาระภาษี ซึ่งมักมีผู้เห็นใจคนยากคนจน ไม่อยากให้ปรับขึ้นภาษี เพราะจะเป็นภาระสำหรับคนจน
ทั้งนี้ หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง “สมมติ VAT 1 แสนล้านบาท ถามว่า ออกจากระเป๋าคนรวยสักเท่าไหร่ ซึ่งจากที่เคยฟังตัวเลขออกจากกระเป๋าคนรวยร้อยละ 80 ออกจากกระเป๋าคนจนร้อยละ 20 เพราะฉะนั้นการไปประวิงไว้ ไม่ยอมให้ขึ้น VAT คนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ ไม่ใช่คนจน แต่เป็นคนรวย ซึ่งจะประหยัดภาษีไปประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท เพียงเพราะไม่อยากให้คนจนต้องเสียร้อยละ 20”
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ จึงเสนอให้เพิ่ม VAT จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 ภายใต้แพคเกจว่า สมมติ เงิน 240,000 ยกตัวอย่างไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง 120,000 เป็นเงินที่ต้องเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ของคนจนเท่านั้น เขาควักกระเป๋าร้อยละ 20 แต่จะต้องได้คืนร้อยละ 50 เพื่อไม่ให้การขึ้นภาษีถูกอ้างว่าเป็นภาระของคนจน และโดนขัดขวางตลอดเวลา ทั้งที่คนที่ยิ้มจริง ๆ คือ คนรวย
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ชงยกเลิกลดหย่อน LTF ช่วยรัฐประหยัด 9 พันล.
ด้าน ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
มาตรการระยะสั้น รัฐควรกำกับและควบคุมรายจ่ายผ่านมาตรการภาษี (TE) เพื่อส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการคลัง โดยควรมีการศึกษาถึงรายจ่ายผ่านมาตรการภาษี รวมทั้งวิเคราะห์ผลของมาตรการทางภาษีต่อผู้เสียภาษีในแต่ละขั้นเงินได้เพิ่มเติม
สำหรับการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ( LTF ) นั้น เห็นว่าควรยกเลิก เพราะมาตรการลดหย่อนนั้นมุ่งเน้นเป้าหมายในการส่งเสริมตลาดทุนมากกว่าการสร้างความเป็นธรรม ดังนั้น กลุ่มคนที่มีรายได้สูงจึงได้รับประโยชน์จากมาตรการมากกว่าผู้มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ หากมีการยกเลิก นอกจากจะทำให้ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเป็นธรรมมากขึ้นแล้ว ยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย และจะทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่ายภาษีได้เกือบ 9 พันล้านบาท ซึ่งสามารถนำรายได้ส่วนนี้ไปจัดบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์สำหรับคนด้อยโอกาสและยากจนอีกจำนวนมาก
มาตรการระยะปานกลาง ปัจจุบันยังมีผู้มีเงินได้ที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรมีการขยายฐานภาษีให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้นด้วย ขณะที่เงินได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกประเภท ควรจะนำมารวมคำรวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้เกิดการเก็บภาษีที่เป็นธรรมกับเงินได้ทุกประเภท แต่ต้องศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย .
อ่านประกอบ:ดวงมณี เลาวกุล:อัดฉีด เก็บภาษี ช่วยใคร?
ดร.ดวงมณี เสนอยกเว้นภาษีที่ดินฯ บ้านหลังหลัก ไม่ควรเกิน 5 ล.
ภาพประกอบหลัก:https://www.csc.co.th/csc2016/?page_id=183&lang=th