ดวงมณี เลาวกุล:อัดฉีด เก็บภาษี ช่วยใคร?
รัฐสามารถยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เนื่องจากกลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ กลุ่มที่มีรายได้สูง มิได้เป็นประโยชน์กับกลุ่มที่มีรายได้น้อย ประกอบกับตลาดทุนปัจจุบันมีวิวัฒนาการและการพัฒนาไปมากแล้ว และสามารถดำรงอยู่ได้ หากไม่มีการลดหย่อน LTF รัฐบาลสามารถนำรายได้จำนวนนี้ไปจัดบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ด้อยโอกาสและยากจนได้อีกเป็นจำนวนมาก
ในช่วงเดือนนี้ เป็นช่วงของการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงน่าจะมาทำความรู้จักกับภาษีประเภทนี้มากขึ้น ซึ่งการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1.การจัดเก็บยังไม่ครอบคลุมฐานภาษีทั้งหมด จึงควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น
2.เงินได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกประเภท ควรจะนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้เกิดการเก็บภาษีที่มีความเป็นธรรมกับเงินได้ทุกประเภท ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย
3.การหักค่าใช้จ่ายมีการหักค่าใช้จ่ายที่หลากหลายสำหรับเงินได้แต่ละประเภท ควรมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและมีมาตรฐานของเงินได้แต่ละประเภท และมุ่งไปสู่แนวทางการหักค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
4.ในด้านการลดหย่อนภาษี รัฐสามารถยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เนื่องจากกลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ กลุ่มที่มีรายได้สูง มิได้เป็นประโยชน์กับกลุ่มที่มีรายได้น้อย ประกอบกับตลาดทุนในปัจจุบันมีวิวัฒนาการและการพัฒนาไปมากแล้ว และสามารถดำรงอยู่ได้ หากไม่มีการลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF ซึ่งรัฐบาลสามารถนำรายได้จำนวนนี้ไปจัดบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ด้อยโอกาสและยากจนได้อีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับการลดหย่อนภาษีการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แม้ว่ากลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มรายได้สูงมากกว่ากลุ่มรายได้น้อย แต่นับได้ว่าเป็นการออมในระยะยาว เพื่อการสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลยังสามารถคงมาตรการลดหย่อนนี้ไว้ได้
ภาษีอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะมีการจัดเก็บในปี 2562 คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเป็นการจัดเก็บภาษีบนมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั่นเอง ประเด็นที่พึงพิจารณาสำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีดังนี้
1.การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปตามหลักผู้รับประโยชน์และหลักความสามารถในการจ่าย ดังนั้นจึงไม่ควรมีการยกเว้นหรือลดหย่อนจำนวนมาก เพราะจะเกิดช่องโหว่ของกฎหมายขึ้น แต่ควรเก็บภาษีในอัตราต่ำ ๆ สำหรับฐานภาษีที่มีมูลค่าน้อย เพื่อไม่ให้เกิดภาระภาษีจนมากเกินไป
หากจะยกเว้นให้กับบ้านหลังหลักสำหรับผู้ที่มีกำลังในการจ่ายภาษีได้น้อย ควรอยู่ที่ไม่เกิน 5 ล้านบาท เพราะเป็นมูลค่าที่อยู่อาศัยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเจ้าของ และไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่มีบ้านมากกว่า 1 หลัง แต่ต้องเสียภาษีสำหรับบ้านหลักถัดไป
การยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินที่ใช้ในการทำการเกษตร ควรเป็นการดูแลเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีกำลังในการจ่ายภาษีต่ำ การยกเว้นไม่เก็บภาษีที่ดินเกษตร หรือยกเว้นในมูลค่าที่สูงเกินไป ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่า หลีกเลี่ยงภาษีสู่ช่องทางนี้
โดยสรุป คือ การยกเว้นภาษีในมูลค่าสูงจะไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
2.การกำหนดอัตราภาษีต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถตอบวัตถุประสงค์การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ได้ เช่น อัตราภาษีสำหรับที่ดินที่ปล่อยไว้รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ หากเป็นอัตราที่ต่ำจนเกินไป จะไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ เพราะราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ส่งผลให้ยังคงมีการสะสมที่ดินไว้เพื่อการเก็งกำไรต่อไป เนื่องจากต้นทุนนการถือครองที่ดินต่ำมาก
3.รัฐบาลและ อปท.ควรจะทำความเข้าใจกับประชาชนว่าภาษีที่ดินฯ ที่จะมีการจัดเก็บนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร และประชาชนสามารถตรวจสอบได้
4.สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาลควรแสดงความจริงใจและเห็นแก่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนและประเทศชาติในระยะยาว โดยการผ่าน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ และไม่เห็นแก่กลุ่มประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งมีอำนาจการต่อรองในระดับบนมากกว่าประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาจากท้องถิ่นในอนาคต .