พบปัญหาผิดพลาด-ส่อทำราชการเสียหาย! ระนองรักษ์ ชิงเลิกโครงการถนนยางพรวด53 สาย
เผยความคืบหน้าโครงการใช้เงินสะสมทำถนนยางพารา 240 โครงการ ล่าสุด 'ระนองรักษ์' ลงนามยกเลิกแล้ว 53 สาย หลังตั้งคกก.ตรวจสอบรายละเอียดแผนงานพบบางรายการผิดพลาดคลาดเคลื่อน หากดำเนินการทางพัสดุอาจทำให้ราชการเสียหาย ด้านภาคีต้านทุจริตโคราช ลุยยื่นป.ป.ช.สอบเชิงลึกต่อ ประกาศรับสมัครอาสาพิทักษ์เงินภาษีปชช.ติดตามใกล้ชิด32 อำเภอ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าล่าสุดกรณี องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)นครราชสีมา นำเงินสะสมจำนวน 440 ล้านบาท ออกมาใช้ทำโครงการถนนยางพารา จำนวน 240 โครงการ พร้อมกันทันที ภายหลังจากที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กำหนดนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถนำเงินสะสมของอปท.ออกมาใช้จ่ายในกรณีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ โดยเฉพาะการทำถนนที่กำหนดให้ใช้ส่วนผสมของยางพารา แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเร่งรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เม.ย.2561 ทั้งที่ สถ. ระบุว่า หลังพ้นวันที่ 20 เมษายน 2561 ก็ยังสามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเรื่องยางพาราได้ แต่ต้องใช้วิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2560 นั้น (อ่านประกอบ : ขมวดปม! คำชี้แจงอบจ.โคราช ใช้เงินสะสมทำถนนยาง440ล.ขั้นตอนโปร่งใส-ไม่รั่วไหล(ได้)จริงหรือ?)
แหล่งข่าวจาก อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกอบจ.นครราชสีมา ได้ลงนามในประกาศยกเลิกโครงการทำถนนที่กำหนดให้ใช้ส่วนผสมของยางพารา จำนวน 53 โครงการ โดยให้เหตุผลว่า ได้ตรวจสอบรายละเอียดของแผนงานและโครงการพบว่า มีบางรายการที่มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนหากดำเนินการทางพัสดุต่อไป อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการในด้านของการดำเนินการทางพัสดุ และประกอบกับได้มีการเสนอญัตติต่อสภาอบจ.นครราชสีมา เพื่อขอแก้ไขรายละเอียดโครงการเพื่อประโยชน์ของทางราชการ (ดูรายละเอียด 53 โครงการ ที่มีการประกาศยกเลิกที่นี่ file:///C:/Users/USER/Downloads/IWmGpF1522308488.pdf)
แหล่งข่าวอบจ.นครราชสีมา ระบุว่า สาเหตุที่ อบจ.นครราชสีมา สั่งยกเลิกโครงการถนนยางพารา 53 โครงการดังกล่าว เป็นเพราะหลังจากโครงการทำถนนยางพารา 240 โครงการ ได้รับการอนุมัติจากสภา อบจ.นครราชสีมา ได้มีสมาชิก อบจ.รายหนึ่ง ยื่นญัตติเพื่อขอแก้ไขในเรื่องของรายละเอียดในโครงการบางตัว ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องของตัวเลขของพื้นที่โครงการ ซึ่งผิดไปจากข้อเท็จจริง ขณะที่ข้าราชการที่รับผิดชอบก็มีความกังวล ไม่กล้าจะทำโครงการเพราะกลัวความผิด เพราะก่อนหน้านี้มีข้าราชการจำนวนหนึ่ง ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการไปแล้ว จากการดำเนินงานโครงการขุดลอกคลอง 11 โครงการ ที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีปัญหาในขั้นตอนการเบิกจ่ายเงิน จึงทำให้ฝ่ายบริหารเห็นว่า หากมีการยื่นญัติแก้ไขในรายละเอียด ก็น่าจะมีการตรวจสอบให้ครบกระบวนการเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และเป็นการกลั่นกรองโครงการทั้ง 240 โครงการ ที่ใช้งบประมาณถึง 440ล้านบาท จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบรายละเอียดทั้ง 240 โครงการ โดยมีท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน
ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า เครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชนจังหวัดนครราชสีมา ได้ทำหนังสือถึง สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ตรวจสอบการนำเงินสะสมของอบจ.โคราช มาใช้ในการทำโครงการถนนยางพารา จำนวน 440 ล้านบาท ต่อเนื่อง พร้อมประกาศเปิดรับสมัคร อาสาพิทักษ์เงินภาษีประชาชน ติดตามโครงการก่อสร้างถนนยางพาราของ อบจ.นครราชสีมา ทั้ง 32 อำเภอ อย่างใกล้ชิด
อ่านประกอบ :
ทำตามนโยบายคสช.! ระนองรักษ์ ยันใช้เงินสะสมทำถนนยาง440ล.โปร่งใส-ป.ป.ช.ยังได้เอกสารไม่ครบ
อบจ.โคราช สบช่อง สถ. ปล่อยผีใช้เงินสะสมเกลี้ยงคลังซอยงบทำถนนยาง440ล.-จี้บิ๊กตู่สอบด่วน
วอนบิ๊กตู่ช่วยด้วย! ฉบับเต็มภาคีต้านคอร์รัปชัน ชำแหละอบจ.โคราชถลุงเงินสะสมทำถนนยาง440ล.
ขมวดปม! คำชี้แจงอบจ.โคราช ใช้เงินสะสมทำถนนยาง440ล.ขั้นตอนโปร่งใส-ไม่รั่วไหล(ได้)จริงหรือ?