- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ขมวดปม! คำชี้แจงอบจ.โคราช ใช้เงินสะสมทำถนนยาง440ล.ขั้นตอนโปร่งใส-ไม่รั่วไหล(ได้)จริงหรือ?
ขมวดปม! คำชี้แจงอบจ.โคราช ใช้เงินสะสมทำถนนยาง440ล.ขั้นตอนโปร่งใส-ไม่รั่วไหล(ได้)จริงหรือ?
"...คำถาม คือ ทำไม อบจ. โคราช ต้องรีบเร่งรวบรัดการดำเนินงานโครงการจำนวนมากนับร้อยโครงการพร้อมกันทันที ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาความผิดพลาดรั่วไหลสูงอย่างมากแบบนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า อบจ.โคราช ก็เคยมีตัวอย่างปัญหาการนำเงินสะสมมาใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างในอดีตจากกรณีการทำคลองการขุดคลองแล้วมิใช่หรือ ขณะที่การใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในปัจจุบัน ก็ถูกตรวจสอบพบปัญหาการรั่วไหล ไม่คุ้มค่าอยู่เป็นจำนวนมากหลายโครงการ..."
"...ดำเนินงานโครงการนี้ทำตามนโยบายกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง ดำเนินการโปร่งใสทุกขั้นตอน โครงการในเป้าหมายที่จะดำเนินการผ่านการตรวจสอบข้อมูลความพร้อม ตามแผนแม่บทเป็นความต้องการจากประชาชนในพื้นที่"
คือ สาระสำคัญโดยสรุปที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในอบจ.นครราชสีมา รายหนึ่ง ที่เข้าไปร่วมรับฟัง ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)นครราชสีมา พร้อมด้วยกลุ่ม สจ.สายนายกฯอบจ. ตั้งโต๊ะเปิดแถลงข่าวเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2561 ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนำเงินสะสมจำนวน 440 ล้านบาท ออกมาใช้ทำโครงการถนนยางพารา จำนวน 240 โครงการ พร้อมกันทันที ภายหลังจากที่ สถ. ได้กำหนดนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถนำเงินสะสมของอปท.ออกมาใช้จ่ายในกรณีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ โดยเฉพาะการทำถนนที่กำหนดให้ใช้ส่วนผสมของยางพาราด้วย ที่กำลังถูกจับมองจากสาธารณชนอยู่ในขณะนี้ (อ่านประกอบ : ทำตามนโยบายคสช.! ระนองรักษ์ ยันใช้เงินสะสมทำถนนยาง440ล.โปร่งใส-ป.ป.ช.ยังได้เอกสารไม่ครบ, อบจ.โคราช สบช่อง สถ. ปล่อยผีใช้เงินสะสมเกลี้ยงคลังซอยงบทำถนนยาง440ล.-จี้บิ๊กตู่สอบด่วน , วอนบิ๊กตู่ช่วยด้วย! ฉบับเต็มภาคีต้านคอร์รัปชัน ชำแหละอบจ.โคราชถลุงเงินสะสมทำถนนยาง440ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับมอบเสียงคลิปการตั้งโต๊ะเปิดแถลงข่าวฉบับเต็ม ของ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกอบจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยกลุ่ม สจ.สายนายกฯอบจ. มาเพิ่มเติม ทำให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อหาการแถลงข่าวเพิ่มเติมดังนี้
ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ ยืนยันว่า ในจำนวน 240 โครงการเป้าหมายที่จะมีการนำเงินสะสมมาใช้ มีหลายรูปแบบ หลายวงเงิน ในส่วนโครงการที่มีมูลค่างานตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวนมากที่สุดจำนวน 156 กว่าโครงการ พร้อมยืนยันว่าการดำเนินงานขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ตรวจสอบได้
"การดำเนินงานโครงการนี้ ไม่มีการปกปิดข้อมูลอะไร เพราะหลังจากที่ได้ตัวผู้รับเหมาแล้ว เมื่อผู้รับเหมาเข้าไปทำงานในพื้นที่ คนในพื้นที่ก็ต้องรู้กันอยู่แล้วว่าใครได้งาน และการมีคนมาช่วยตรวจสอบเป็นเรื่องดี ชอบให้มีการช่วยตรวจสอบ"
ร.ต.หญิงระนองรักษ์ พร้อมกลุ่ม สจ. ยังยืนยันว่า เงินสะสมที่นำมาใช้ในการทำถนนลาดยางทั้ง 240 โครงการ ไม่ได้เอาออกมาใช้ทั้ง 100 % เอามาแค่ 60% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 40 % มีการกันไว้สำหรับภารกิจงานของอบจ. รวมถึงกรณีการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้วย ปัจจุบันยอดเงินสะสมของ อบจ.อยู่ที่ ตัวเลขประมาณ 795 ล้านบาท
ขณะที่การดำเนินงานโครงการนี้ เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ไขปัญหาความร้อนเดือนของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องถนนหนทางที่มีการร้องเรียนเข้ามาอยู่ตลอด
"240 โครงการดังกล่าว เป็นโครงการตามแผนงานของอบจ. มีการจัดทำแผนงานข้อมูลไว้อยู่แล้ว เป็นโครงการที่มาจากความต้องการของชาวบ้าน ผ่านการทำประชาคม ได้รับความเห็นชอบจากคณะทำงานระดับอำเภอ ส่วนพื้นที่เป้าหมายมีลักษณะกระจาย ไม่กระจุกอยู่แค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ประชาชนในโคราชทั้ง 32 อำเภอ ได้รับประโยชน์ทั้งหมด"
ส่วนปัญหาโครงการเก่าในอดีตที่มีการใช้เงินสะสมมาดำเนินการขุดลอกคลอง ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มี 11 โครงการที่มีปัญหา ผู้รับเหมาไม่ได้เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่จริง หลังจากเบิกเงินไป ในกรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โคกกรวดศิริมิตร ได้ส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช.รับไปสอบสวนต่อแล้ว หลังจากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าให้ส่งเรื่องไปยังป.ป.ช. ส่วนเจ้าหน้าที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องก็รับโทษไปตามความผิดที่ทำ ส่วนการดำเนินงานโครงการห้องเรียนอัจฉริยะ ที่ สตง. สรุปผลการสอบสวนมาแล้ว ว่ามีความเสียหายต่อทางราชการเกิดขึ้นประมาณ 26-28 ล้านบาท ก็มีการแจ้งความดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนอดีตผู้บริหารระดับสูงของอบจ.ข้าราชการไปแล้ว ส่วนการตั้งกรรมการสอบวินัยครูจำนวนกว่า100 คน ที่ปรากฎชื่อเป็นกรรมการตรวจรับก็อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ (รายละเอียด 2 เรื่องนี้ ขอนำเสนอในโอกาสหน้า)
ทั้งหมด คือ สาระสรุปคำชี้แจงของ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ นายกอบจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยกลุ่ม สจ.สายนายกฯอบจ. เกี่ยวกับข้อเท็จจริงกรณีนำเงินสะสมจำนวน 440 ล้านบาท ออกมาใช้ทำโครงการถนนยางพารา จำนวน 240 โครงการ พร้อมกันทันทีดังกล่าว
หากพิจารณาในรายละเอียดคำชี้แจงดังกล่าว แม้ว่าจะมีความกระจ่างชัดเจนขึ้นในขั้นตอนการปฏิบัติงานอยู่พอสมควร แต่สำนักข่าวอิศรา เห็นว่ายังมีบางประเด็นที่ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ และกลุ่ม สจ. จะยังไม่ได้ชี้แจงต่อสาธารณชนเป็นทางการ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก
คือ ความเร่งรีบในการดำเนินงานแบบผิดสังเกต
หากพิจารณาจากข้อมูลของ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นจังหวัดนครราชสีมา ที่ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ได้จัดประชุมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ อปท. ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร สาระสำคัญให้ อปท. นำเงินสะสมออกมาใช้ ในกรณีการทำโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนนให้ใช้ส่วนผสมของยางพารา โดยสามารถขอใช้มาตรฐานของกรมทางหลวงหรือกรมทางหลวงชนบทได้
กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีหนังสือ ที่ นม 0023.3/6479 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2561 ถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ตามที่ร้องขอ จำนวน 240 โครงการ งบประมาณ 469,023,000 บาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 1 วาระสำคัญคือ ขอจ่ายขาดเงินสะสม 440 ล้านบาท ใน 240 โครงการ ในการจัดทำถนน โดยอ้างนโยบายของรัฐบาลและต้องทำอย่างเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เมษายน 2561 เจตนาเพื่อจะได้มิต้องดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
จะพบว่า อบจ.ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 7 วัน ในการรับลูกนโยบายรัฐบาลดำเนินงานโครงการนี้ทันที นอกจากนี้ มติของสภาฯ อบจ. ยังระบุด้วยว่า ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เม.ย.2561 นับรวมระยะเวลาห่างกันประมาณเดือนเศษๆ เท่านั้น
ทั้งที่ หนังสือซักซ้อมกรมส่งเสริมการปกกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.2/ว2305 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2561 ก็ระบุชัดเจนว่าหลังพ้นวันที่ 20 เมษายน 2561 ก็ยังสามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเรื่องยางพาราได้ แต่ต้องใช้วิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2560
คำถาม คือ ทำไม อบจ. โคราช ต้องรีบเร่งรวบรัดการดำเนินงานโครงการจำนวนมากนับร้อยโครงการพร้อมกันทันที ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาความผิดพลาดรั่วไหลสูงอย่างมากแบบนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า อบจ.โคราช ก็เคยมีตัวอย่างปัญหาการนำเงินสะสมมาใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างในอดีตจากกรณีโครงการขุดลอกคลองมาแล้ว
ขณะที่การใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในปัจจุบัน ก็ถูกตรวจสอบพบปัญหาการรั่วไหล ไม่คุ้มค่าอยู่เป็นจำนวนมากหลายโครงการ
หากอบจ.โคราช ตั้งสติใหม่ ไม่เลือกทำงานโครงการจำนวนมาก แต่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ตรวจสอบงานที่ทำให้รัดกุมรอบคอบ กลั่นกรองควบคุมการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ เน้นโครงการที่ทำได้จริง โดยลำดับความเดือนร้อนจากประชาชนในพื้นที่ ดึงพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุดขึ้นมาทำก่อน ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหารั่วไหลเหมือนในอดีต จะไม่เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าหรือ?
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ไม่ต้องการเห็นภาพการดำเนินงานโครงการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะดึงเงินสะสมของอปท.มาใช้จ่ายได้แล้ว ยังไม่เกิดปัญหารั่วไหลด้วยหรอกหรือ?
นั้นเป็นมองมุมเกี่ยวกับกรอบวิธีคิดในการใช้จ่ายเงินเพื่อทำโครงการ แต่สิ่งที่สำคัญในลำดับต่อมา คือ กรอบวิธีการคิดค้นมาตรการป้องกันดูแลควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหล ในการแถลงข่าวดังกล่าว ยังไม่ได้ยินว่า นายกฯ อบจ. หรือกลุ่มสจ. หยิบยกประเด็นนี้ ขึ้นมาชี้แจงแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแบบจับต้องได้เท่าไรนัก นอกเหนือจากการยืนยันว่า สจ. จะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือมีส่วนร่วมในทางไม่ดีอะไรแน่นอน
แต่ที่น่าประหลาดใจ คือ นายกฯ อบจ. ประกาศว่า เป็นเรื่องดีที่จะมีการเข้ามาช่วยกันตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ไม่มีปกปิด
แต่ในระหว่างการแถลงข่าว มีสื่อมวลชนรายหนึ่ง แจ้งว่า จะขอรายละเอียด 240 โครงการได้หรือไม่ นายกฯอบจ. ระบุว่า พร้อมเปิดเผยข้อมูลแน่ แต่ตอนนี้ยังให้ไม่ได้รอให้เจ้าหน้าที่ทำเสร็จเรียบร้อยก่อน ตอนนี้ตนก็ยังไม่ได้รับข้อมูลเหมือนกัน
ทั้งที่ ข้อมูล 240 โครงการ เป็นรายละเอียดข้อมูลพื้นฐานที่ต้องมีการจัดทำเตรียมพร้อมไว้เรียบร้อยก่อนหน้านี้อยู่แล้ว?
ทั้งหมดนี่ คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุด ต่อกรณีการนำเงินสะสมจำนวน 440 ล้านบาท ออกมาใช้ทำโครงการถนนยางพารา จำนวน 240 โครงการ พร้อมกันทันที ของอบจ.นครราชสีมา
ส่วนผลการตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานตรวจสอบ ป.ป.ช. สตง. และป.ป.ท. ที่กำลังตรวจสอบคู่ขนานกันไปด้วยในปัจจุบันจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่ที่แน่ๆ มีเอกสารสำคัญบางชิ้น ที่ดูเหมือนหน่วยงานตรวจสอบ จะให้ความสนใจมากพอสมควร เพราะอาจเป็นหลักฐานสำคัญที่จะช่วยชี้ให้ร่องรอยความจริงอะไรบ้าง จากการดำเนินงานโครงการนี้ ว่าใครพูดจริง พูดไม่จริงบ้าง?