ประชาสังคม เรียกร้องแก้ม. 301 เปิดช่องทำแท้งได้ถูกกฎหมาย สร้างความเท่าเทียม
ประชาสังคม เรียกร้องแก้มาตรา 301 ในรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ถูกกฎหมาย สร้างความเท่าเทียมทางเพศ ด้านแพทย์เผยทำแท้งเถื่อนหนึ่งสาเหตุคร่าชีวิตสาวไทย ขณะที่ตัวแทนกฤษฎีกาเผยอยู่ในช่วงพิจารณา
เมื่อวันที่ 26 มี.ค.61 กลุ่มทำทาง มูลนิธิมานุษยะ สถานทูตอังกฤษ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และเครือข่ายทางเลือกเพื่อผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จัดงานเสวนา “ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร ทำแท้งปลอดภัยต้องถูกกฎหมาย” ณ ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
น.ส.สุพิชา เบาทิพย์ ตัวแทนกลุ่มทำทาง กล่าวว่า กลุ่มทำทางเป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องการให้คำปรึกษาผู้หญิงเพื่อยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย แต่พอเราให้คำปรึกษาไปเรื่อยๆกลับพบว่า องค์กรเราเป็นแค่ปลายทาง ผู้หญิงสามารถจะเข้าสู่กระบวนการที่ไม่ปลอดภัยอย่างรุนแรงมากเพราะมีข้อจำกัดในแง่ของกฎหมาย ทัศนคติของสังคม ดังนั้นเราคิดว่าเรื่องทัศนคติและเรื่องกฎหมายเป็นสองเรื่องที่สำคัญ
น.ส.สุพิชา กล่าวถึงการเรียกร้องให้แก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 คือ หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ซึ่งกฎหมายมาตรา 301 เป็นกฎหมายเดียวในรัฐธรรมนูญที่มีความไม่เท่าเทียมทางเพศ คือเอาผิดกับเพศหญิงเพียงเท่านั้น
ด้านน.พ.นิธิวัชร์ แสงเรือง แพทย์จากเครือข่ายแพทย์ พยาบาลอาสา R-SA (Referral system for Safe Abortion) กล่าวว่า สิ่งที่ขัดขวางการเข้าถึงบริการของผู้หญิงมีอยู่ 3 หลักใหญ่ๆ คือ 1)สังคมรวมทั้งศาสนา 2)กฎหมาย 3)ระบบบริการสุขภาพ ทัศนคติของผู้ให้บริการ นโยบายของประเทศไทยด้านสาธารณสุขค่อนข้างที่จะยอมรับเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์พอสมควร เพียงแต่ทัศนคติและความรู้ของผู้ให้บริการอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องคุยต่อไป
“สาเหตุที่ผู้หญิงเสียชีวิตบนโลกนี้ สาเหตุหลักๆคือ ตกเลือดหลังคลอด ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อ และการทำแท้ง”
น.พ.นิธิวัชร์ กล่าวว่า สิทธิประกันสังคมเป็นหน่วยงานแรกที่ออกมาขยับในเรื่องผู้หญิงมีปัญหาที่ต้องการจะยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย โดยประกันสังคมให้สิทธิตั้งแต่ปี 2555 มีประกาศจากสำนักงานประกันสังคม และตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้หญิงทุกคนที่เป็นคนไทยสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งที่มีการบริการยุติการตั้งครรภ์
ด้านตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาซึ่งจะพิจารณากฎหมายในทุกเรื่อง ประเด็นของการแก้ไขกฎหมายข้อยกเว้นที่ให้ทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมายเป็นอีกประเด็นที่อยู่กระบวนการการพิจารณาอยู่ ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายจะมีการขยายข้อยกเว้นให้ครอบคลุมกรณีที่สุขภาพของหญิงที่ตั้งครรภ์ทั้งทางกายและจิตใจ สุขภาพทารกในครรภ์ ถ้าตรวจพบตั้งแต่ในครรภ์ว่าคลอดออกมาแล้วจะไม่สมบูรณ์ก็จะเปิดเป็นข้อยกเว้นไม่ให้มีความผิด และอาจจะกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยทั้งเรื่องสถานที่ การให้ความเห็นของแพทย์ และอายุครรภ์
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ปัจจุบันทางกลุ่มทำทางได้มีการรรณรงค์ผ่าน เว็บไซต์ https://www.change.org เพื่อระดมรายชื่อในการขอให้มีการยกเลิก 301 เพื่อปกป้องชีวิต และสิทธิของผู้หญิง โดยระบุว่า ผู้หญิงที่ทำแท้ง ไม่ใช่อาชญากร แต่การทำแท้งเป็นเรื่องของสุขภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทิชา ยกเคสแม่ผลักลูกจมน้ำสะท้อนความล้มเหลวระบบรัฐสวัสดิการผู้หญิง-ครอบครัว
ความรุนแรงในครอบครัว ขยะใต้พรม ที่สวัสดิการรัฐไทยมองไม่เห็น