ทิชา ยกเคสแม่ผลักลูกจมน้ำสะท้อนความล้มเหลวระบบรัฐสวัสดิการผู้หญิง-ครอบครัว
'ทิชา' ยกเคส แม่ผลักลูกจมน้ำ ย้ำไม่ใช่ข่าวฆาตกรรมแต่เป็นสัญญาณเตือน สะท้อนความล้มเหลวเชิงระบบ ชี้สังคมไทยไม่เคยตั้งคำถามกับปัจจัยร่วมอย่างนโยบาย ปล่อยแม่เลี้ยงเดี่ยวแบกรับภาวะกดดัน
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โครงการปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จัดเวทีเสวนา "โศกนาฎกรรมแม่ลูก...บทเรียนและทางออกสังคมไทย"
นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากกรณีแม่อายุ 21 ปี ก่อเหตุผลักลูกชายวัย 2 ขวบจมน้ำเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาตามที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น ขอยืนยันว่าไม่ใช่ข่าวฆาตกรรมแต่เป็นสัญญาณเตือน เป็นภัยสังคมซ้ำซากเรื่องความคาดหวังต่อเพศหญิง ต่อแม่ ต่อใครก็ตามที่ต้องแบกรับภาระตามลำพัง มันคือแรงกดดัน คือภาวะที่เกินแบกรับไหว และการไม่คาดหวังต่อเพศชาย ต่อผู้เป็นพ่อ จึงเป็นแรงส่งทำให้เกิดเหตุขึ้น อีกปัจจัยคือเงื่อนไขในการเติบโต การถูกหล่อหลอม การเรียนรู้ที่ต่างกัน และความเข้มแข็งของคนเราไม่ใช่เครื่องมือในการตัดสินผู้อื่น
"คำถามคือสังคมเรียนรู้อะไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งราชการ เอ็นจีโอ สถาบันการศึกษา สายสังคม ฯลฯ ทำอะไรกันอยู่ในนาทีนี้จึงส่งสัญญาณเตือนภัยแรงขนาดนี้ แต่กลับไร้แนวทางรองรับผู้เปราะบาง การทำงานไม่ตอบโจทย์ หรือจะเงียบต่อไปจนเสียงด่าทอจางหายและรอการผลิตซ้ำอีกครั้ง" นางทิชา กล่าว และว่า สังคมไทยไม่เคยมองในด้านนี้ ปัจจัยร่วมที่ใกล้ตัวที่สุดคือผู้ชาย ต่อมาคือครอบครัว ชุมชน และนโยบายของรัฐ ซึ่งปัจจัยร่วมจะทำให้ปัจเจกบุคคลหนึ่งคนตัดสินใจแบบไหน ถ้าประเทศที่ปัจจัยร่วมถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อปัจเจกบุคคลจะสามารถประคองตัวเองได้ อย่างเช่น นโยบายของรัฐเรื่องการศึกษา เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาได้โดยที่แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือแม่ที่แบกภาระเพียงลำพังภายใต้เงื่อนไขที่ถูกทำร้ายก็ต้องทนเพื่อนำค่าเทอมไปให้ลูกเรียน แต่ถ้านโยบายของรัฐชัดเจนก็ไม่ต้องทนเรื่องพวกนี้มากนัก เพราะไม่ต้องหวังผลจากผู้ชายซึ่งทำร้ายเราทุกคืน แต่สังคมไม่เคยถามเรื่องปัจจัยร่วม เรามักจะตั้งคำถามกับตัวปัจเจก
นางทิชา ยังกล่าวอีกว่า รัฐยังลอยตัวเหนือทุกเรื่อง รัฐไม่ต้องตอบคำถามอะไร เช่น กรณีของแม่ที่ผลักลูกจมน้ำ หน่วยงานของรัฐอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีหน้าที่ดูแลสวัสดิการ สวัสดิภาพ ดูแลครอบครัวที่อ่อนแอและเปราะบาง แต่เราไม่ได้ยินเสียงตั้งแต่รัฐมนตรีลงมาจนถึงปลัด อธิบดี ผู้อำนวยการที่จะลุกขึ้นมาเพื่อทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยทำให้สถานการณ์ที่สังคมห่วงใยเหลือเกินมีทางออก
"พวกเรารอว่าหน่วยงานของรัฐที่ดูแลสวัสดิภาพและครอบครัวที่เปราะบางจะพูดอะไรบ้าง แต่เราก็ไม่ได้ยินเสียง หน่วยงานของรัฐควรทำงานได้อย่างทันท่วงที ออกแบบเชิงรุกเข้ากับสถานการณ์ของกลุ่มแม่ที่กำลังประสบปัญหา ต้องทำงานให้เท่าทัน ไม่ใช่นั่งรอให้เขาแจ้งเข้าไปหรือส่งข้อมูลเข้ามา" นางทิชากล่าว.