14 ปีทนายสมชาย...อุ้มหายยังไร้กฎหมายจัดการ
คดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม นับจนถึงวันนี้ครบ 14 ปีเต็มแล้ว แต่ความคืบหน้าในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษดูจะเลือนราง ทั้งๆ ที่คดีนี้เป็น "คดีอุ้มหาย" คดีแรกที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มรูปแบบ แต่ท้ายที่สุดศาลฎีกาก็ยกฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดซึ่งเป็นตำรวจและอดีตตำรวจ
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรได้ร่วมกันจัดงานครบรอบ 14 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เพื่อเป็นการรำลึกถึงการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.47 ของอดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับ แต่จนถึงปัจจุบันกลับไม่มีแม้แต่ "หลุมฝังศพ" ให้ครอบครัวได้ระลึกถึง
งานครั้งนี้จัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะภรรยาของทนายสมชาย ได้นำภาพและช่อดอกไม้ไปวางเป็นสัญลักษณ์ไว้ที่ลานหน้าคณะนิติศาสตร์ และบอกว่าการจัดงานครบรอบ 14 ปีทนายสมชาย เพื่อเป็นการรำลึกถึงการถูกอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย และยังเป็นการทวงถามเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือที่เรียกว่า "กฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่าอุ้มหาย" ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลจะผลักดันให้กฎหมายออกมาบังคับใช้อย่างจริงจัง
สำหรับร่างกฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่าอุ้มหาย เคยผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และส่งเข้าบรรจุเป็นวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.แล้ว จนได้รับการขานรับจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง วัตถุประสงค์ก็เพื่อกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมากฎหมายไทยไม่มีบทบัญญัติใดรองรับตรงๆ เลย แต่ต่อมา สนช.ได้ตีกลับร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยอ้างว่าต้องจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านเสียก่อน ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งๆ ที่ระหว่างการยกร่างกฎหมายก็ได้มีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ไปแล้วหลายครั้ง และหลังจาก สนช.ตีกลับร่างกฎหมาย จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมอีกเลย
โอกาสนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับร่างกฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่าอุ้มหาย ส่งถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อย้ำเตือนให้เร่งผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ จะสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยที่ลงนามเอาไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกบังคับให้สูญหาย
ที่ผ่านมา จากการรวบรวมข้อมูลของคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พบว่ามีการบังคับให้สูญหาย หรือ "อุ้มหาย" เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างน้อย 92 กรณี หนึ่งในนั้นคือทนายสมชาย นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ตกเป็นข่าวครึกโครมแต่คดีไม่คืบหน้าอีกเป็นจำนวนมาก เช่น กรณี "บิลลี่" นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี, กรณี ลุงเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกินของชุมชน จ.ชัยภูมิ หรือแม้แต่ ลุงดารา พาไสย์ พยานคดีฆ่าเผานั่งยางที่ จ.อุดรธานี ซึ่งยังมีชีวิต แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กลับไม่รับเป็นคดีพิเศษ ทำให้จนป่านนี้ลุงดาราต้องหนีตายไปซ่อนตัวอยู่ในภาคใต้ ไม่กล้ากลับภูมิลำเนาอีกเลย
กรณีของลุงดารา ไม่ต่างอะไรกับคดีทนายสมชาย ที่ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ดีเอสไอมีความเห็น "งดสอบสวน" เพราะหาตัวคนกระทำผิดไม่ได้ ทำให้กลุ่มคนที่ "อุ้มทนายสมชาย" ยังคงลอยนวล ทั้งๆ ที่เป็นอาชญากรรมร้ายแรง
หญิงหม้ายชายแดนใต้ทวงสิทธิ์ความเท่าเทียม
ก่อนวันครบรอบการหายสาบสูญไปของทนายสมชายครบ 14 ปี มีอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและเกี่ยวเนื่องกัน คือข้อเขียนของ "หญิงหม้าย" ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวาระ "วันสตรีสากล" วันที่ 8 มี.ค. ซึ่งถูกแชร์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ของคนในพื้นที่ โดยหญิงหม้ายเหล่านี้ต้องสูญเสียสามีไปเพราะเหตุการณ์ความรุนแรง และมีบางส่วนที่สามี ตลอดจนบุคคลอันเป็นที่รัก ถูกอุ้มฆ่า อุ้มหายด้วย
ข้อเขียนชิ้นนี้ระบุว่า "วันสตรีสากล" ไม่ใช่วันที่จะต้องมีการฉลองมีการเลี้ยงสังสรรค์ มีการหยิบฉลากของขวัญเหมือนวันปีใหม่หรือวันประเพณีทั่วไป แต่มันเป็นวันที่เหล่าบรรดาสตรีออกมาเรียกร้องปกป้องสิทธิ์ ศักดิ์ศรี และความเสมอภาคในการใช้ชีวิตบนสังคมที่แฝงไปด้วยอันตรายในทุกรูปแบบ
สังคมที่ยังไม่ยอมรับกับบทบาทสตรี สังคมที่มองผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังเสมอมา ความเสมอภาคในการระดมความคิดเห็นในด้านต่างๆ ของสตรีมักจะถูกลดทอนลงมาต่ำมาก ผิดจากผู้ชายที่มักจะได้รับการยอมรับมากกว่า แต่ในส่วนหนึ่งผู้หญิงก็มีบทบาทมากด้วยเช่นกัน แต่กลับมองไม่เห็นและมองข้ามไป
ในฐานะตนเป็นสตรีคนหนึ่ง สตรีที่ต้องมาใช้ชีวิตที่ปราศจากผู้นำครอบครัว สตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สามจังหวัด 12 ปีกับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนบทบาทจากแม่บ้านมาเป็นผู้นำครอบครัว ทำทุกอย่างเหมือนผู้ชายทุกคนทำ บางวันต้องอยู่ในบทบาทพ่อของลูก และบางวันต้องอยู่ในบทบาทแม่ของลูก เพราะอะไรหรือ เหรอ ก็เพื่อ "ลดคำดูถูก" จากสังคม
สังคมเดี๋ยวนี้มักจะมองผู้หญิงหม้ายว่าเป็นตัวปัญหา สร้างภาระให้สังคมต้องมาคิดแก้ไขปัญหา หาอาชีพให้ทำ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากเป็นแบบนี้ ในฐานะเป็นสตรีคนนึงอยากจะเรียกร้องในวันสตรีสากลวันนี้
- อย่ามองสตรีหม้ายที่เกิดจากเหตุการณ์ในสามจังหวัดฯ เป็นขยะสังคม เวลาเรียกร้องหาอาชีพโปรดให้การสนับสนุนพวกเขาด้วย สตรีที่ได้รับผลกระทบตามสถิติมีมากกว่า 2,000 ราย เด็กๆ ที่กำพร้ามากกว่านั้น พวกเขายังต้องดำรงชีพ ต้องมีงาน ต้องดูแลครอบครัว
- ความเท่าเทียมในสังคม สังเกตุได้ว่าที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีโครงการช่วยเหลืออะไรลงมาในพื้นที่ บุคคลส่วนใหญ่ที่พิจารณาก่อนคือ จะวัดระดับความพึ่งพอใจก่อน ฯลฯสุดท้ายถึงจะตกถึงผู้หญิง
- ลดความรุนแรงในครอบครัว ก็ต้องเอาเรื่องเศรษฐกิจมาอ้างอีก เศรษฐกิจแย่ คนตกงาน ครอบครัวรับภาระไม่ไหว ปัญหาในครอบครัวก็ตามมา สามีเครียด ทะเลาะกับภรรยา ตบ ตี เตะ ต่อยภรรยาสารพัด นี่คือสังคมที่ผู้หญิงมักเจอจริงๆ ถามว่าในฐานะสตรีคหนึ่ง การเป็นภรรยาก็เครียด แต่รู้จักอดทน แต่ความรุนแรงมักจะตกกับผู้หญิงเสมอ
หลากหลายเรื่องราวที่ผู้หญิงต้องตกเป็นเบี้ยล่างของสังคม แต่สังคมกลับละเลย ทำเป็นมองไม่เห็น และยังคงอยู่ในสภาพที่ยังหาข้อแก้ไขไม่ได้...จากใจ หญิงหม้าย 3 จังหวัด
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อังคณา และลูกสาว ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในงาน 14 ปีทนายสมชาย
ขอบคุณ : ภาพจากคณะผู้จัดงาน
อ่านประกอบ :
13 ปีทนายสมชาย...อุ้มหายคือฆาตกรรมที่ไม่มีศพ!
13 ปีไฟใต้...คนหายยังไม่กลับบ้าน
11ปีอุ้มทนายสมชาย..รอลุ้นกฎหมายใหม่ - เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวน
10 ปีทนายสมชาย...บทพิสูจน์ จนท.รัฐอยู่เหนือประชาชน
นับหนึ่ง "ร่าง พ.ร.บ.อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" หลัง ครม.ไฟเขียว
ชำแหละ 3 ยุค "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" มูลเหตุ "การเมือง-ไฟใต้-เห็นต่าง"