13 ปีไฟใต้...คนหายยังไม่กลับบ้าน
"ละหมาดแล้วใจสงบขึ้น ขนลุกเหมือนในฝัน", "ชื่นใจ", "ดีใจที่ได้ละหมาดฮายัต" ฯลฯ
คือหลากหลายความรู้สึกของ "ครอบครัวคนหาย" เกือบ 40 ครอบครัวที่เข้าร่วมงาน "วันระลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหายสากล" ที่บ้านหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ถนนรามโกมุม อ.เมืองปัตตานี โดยภายในงานมีพิธีละหมาดฮายัตร่วมกัน และขอดุอาให้กับคนที่สูญหายด้วย
อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ หัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดงานครั้งนี้ร่วมกับ มูลนิธีหะยีสุหลง โต๊ะมีนา และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันระลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหายสากล ทั้งในพื้นที่ขัดแย้งและไม่ขัดแย้ง เพราะการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นในทุกพื้นที่
"ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ยกเว้นการหายตามธรรมชาติ ฉะนั้นจึงไม่มีใครควรถูกบังคับให้สูญหาย เหตุคนหายในพื้นที่นี้เริ่มตั้งแต่ปี 2545-2559 ทำให้มองเห็นว่าเหตุการณ์แบบนี้ยังไม่หายไปไหน จะทำอย่างไรที่ไม่ให้คนในพื้นที่เผชิญความลำบากเมื่อบุคคลอันเป็นที่รักจากไป อยากให้เป็นวันรำลึกถึงคนที่เรารัก เพราะคำว่าสูญหายมันดึงใจเราออกไป" อัญชนา กล่าว
งานนี้ยังมีนักจิตวิทยาจากศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 และมูลนิธิทนายความมุสลิม มาร่วมพูดคุยและให้คำปรึกษากับครอบครัวผู้สูญหายด้วย
นภาลัย ดือราแม นักจิตวิทยา บอกว่า รู้สึกชื่นชมครอบครัวคนหายที่สามารถเดินทางมาร่วมพูดคุยกันได้ ถือว่าเยียมมาก แม้ยังมีสิ่งค้างคาใจอยู่ แต่ก็ไม่ห่อเหี่ยวจนเกินไป เป็นเส้นชัยหนึ่งที่สามารถก้าวข้ามมาได้
"เราต้องเปิดโอกาสให้ตัวเอง เมื่อเกิดเหตุขึ้น ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ได้ เพื่อดูแลคนข้างหลังแทนคนที่เรารัก ต้องตั้งสติ นึกถึงอัลลอฮ์ ให้ก้าวผ่านไปให้ได้ ให้คิดเปรียบเทียบเสมอว่าเมื่อตอนดีใจทำไมเราอยู่ได้ ฉะนั้นเมื่อมีทุกข์ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับคนอื่นได้เช่นกัน แม้เราไม่ได้ประสบด้วยตนเอง แต่การให้กำลังใจ ไม่ซ้ำเติมกัน ให้รอยยิ้ม คำพูดดีๆ ก็จะช่วยได้ รวมทั้งวิธีการผ่อนคลายที่สามารถทำได้ทุกคน"
สถานที่จัดกิจกรรมคือบ้านของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำทางจิตวิญญาณของคนปัตตานีที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้สูญหายมานานกว่า 60 ปี การเลือกจัดกิจกรรมที่บ้านของหะยีสุหลง จึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง
“เราตะวักกัล (การมอบหมายต่ออัลลอฮ์) ละหมาด มอบหมายต่ออัลลอฮ์ ครอบครัวเราได้พูดตลอด ได้ระบาย ไม่เก็บเงียบ" จตุรนต์ เอี่ยมโสภา ทายาทของหะยีสุหลง บอกถึงความรู้สึกของครอบครัวโต๊ะมีนาต่อการสูญหายของหะยีสุหลง
"สมาชิกครอบครัวเราสูญหายไปในเหตุการณ์เดียวกัน 4 คน หลังจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจหลังปี 2500 ได้มีการสอบสวนคดีนี้ บังเอิญน้องชายของหะยีสุหลงเป็นปลัด และเป็นคณะกรรมการสอบสวนด้วย จึงทำให้รู้ว่าใครเป็นคนสั่งฆ่า ฆ่าอย่างไร ทำลายศพอย่างไร เมื่องมหาศพไม่เจอ เราก็ตัดใจว่าตายแล้ว ขณะที่พี่น้องที่นี่อีกหลายคน (หมายถึงครอบครัวคนหายที่มาร่วมงาน) ไม่แน่ชัดว่าเป็นหรือตาย ซึ่งหนักหนักหน่วงกว่าครอบครัวเรามาก"
"เรารู้ว่าเป็นประสงค์ของอัลลอฮ์ เราให้อภัยแต่ไม่เคยลืม โชคดีที่ทายาทของคนที่สั่งฆ่ามาขอโทษเราที่บ้าน เหตุการณ์ผ่านมา 62 ปีแล้ว การขอโทษถือว่าเป็นการปลดเปลื้องระหว่างทายาทด้วยกัน" จตุรนต์ บอก
นูนรียา ยูโซะ ภรรยาของ มะยูนิ โละนียะ ผู้สูญหายเมื่อปี 2550 เผยความรู้สึกจากก้นบึ้มของหัวใจ..."หากสามียังมีชีวิตอยู่ต้องกลับมาแล้ว"
"สิบปีที่ผ่านมา ต้องตั้งสติ ดูแลตัวเองและลูก เป็นผู้นำครอบครัว ด้วยความเป็นแม่ เราต้องเข้มแข็งเมื่อพ่อไม่อยู่ จริงๆ ยังรับไม่ได้ แต่อดีตก็คืออดีต ต้องอยู่กับปัจจุบัน เวลาจะช่วยรักษา แม้ไม่หายแต่ช่วยบรรเทา ไม่พูดถึงแต่ไม่ลืม หลายชีวิตที่อยู่กับเรายังต้องการกำลังใจ เราคอยช่วยดูแลแม่เขา (หมายถึงแม่ของสามี) ไปเรียนหนังสือต่อจนจบอนุปริญญา เป็นครูพี่เลี้ยงใน อ.รือเสาะ (จ.นราธิวาส) ต้องเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่เขาต้องกลับมา ตามมาหลายปี แต่ไม่ได้ข่าวคราวอะไรเลย รอเขาแต่ไม่รู้วันไหนจะกลับมา ฉะนั้นต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ท้อถอยและไม่ท้อใจ"
ซูมาฮีเดาะ มะรานอ ภรรยาของ มะยาเต็ง มะรานอ เหยื่อบังคับให้สูญหายอีกรายหนึ่ง บอกว่า ตอนเกิดเหตุเกือบเป็นบ้า ลูกๆ ยังเล็ก เรียกหาแต่พ่อ
"แทบบ้าเลยในตอนนั้น บางทีลืม บางทีจำ ต้องอดทนมากๆ ตอนนี้ยังต้องกินยาบางครั้ง บอกลูกว่าถึงอย่างไรแม่ก็ยังอยู่ ไม่ต้องพูดถึงพ่อ ขอให้ลูกเป็นคนดี ตั้งใจเรียนหนังสือ"
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูนิธิผสานวัฒนธรรม และประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเพื่อเอาผิด "การบังคับสูญหาย" ฉะนั้นครอบครัวของผู้ถูกกระทำจึงไม่สามารถเข้าสู่กลไกการเยียวยาด้วยกฎหมายปกติได้
"ที่ผ่านมากลไกนี้เกิดด้วยคำสั่งทางนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ทำให้มีการบันทึก ติดตาม ได้ชื่อบุคคลที่ต้องได้รับการเยียวยาผ่านการทำงานระดับนโยบาย อย่างกรณี มะยาเต็ง มะรานอ ซึ่งเป็นนักการภารโรง และสูญหายไป มีพยานหลักฐานนำคดีขึ้นสู่ศาลได้เป็นคดีแรกของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นกระบวนการสอบสวนยังไปได้ถ้าบุคคลที่สูญหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจริง และจะดีกว่านี้มากถ้ามีกฎหมายออกมา"
กฏหมายที่พรเพ็ญพูดถึง คือ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งหลายฝ่ายผลักดันและทำประชาพิจารณ์กันมานานข้ามปี แต่สุดท้ายร่างกฎหมายถูกตีกลับในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
พรเพ็ญ เสนอว่า ครอบครัวผู้สูญหายต้องรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย เรียกร้องให้ทุกครอบครัวได้รับการเยียวยาอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนเป็นลำดับ
อนุกูล อาแวปูเต๊ะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า กฎหมายทุกฉบับให้อำนาจเจ้าหน้าที่ บางฉบับเปิดช่องให้ลิดรอนสิทธิผู้ถูกกระทำด้วย ทำให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ และการตรวจสอบเข้าไม่ถึง ปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหายมีหลายเรื่องอยู่นอกเหนือคดีทั่วไป ฉะนั้นจึงต้องอาศัยกลไกอื่นมาร่วมตรวจสอบ
"ระบบเรายังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติค่อนข้างมาก กลไกอื่นเข้าไปตรวจสอบยาก โดยเฉพาะ 3 เรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือ วิสามัญฆาตกรรม บังคับให้สูญหาย และการทรมาน ระบบมันมีปัญหาแน่ ถ้าไม่เปิดให้โปร่งใสและตรวจสอบได้โดยภาคประชาสังคม แม้เรื่องจะเกิดขึ้นนานแล้ว แต่ญาติก็ยังคาใจอยู่ กลายเป็นอารมณ์สะสมในสังคมไปเรื่อยๆ เกิดช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน" ทนายอนุกูล กล่าว
ตั้งแต่ไฟใต้ปะทุขึ้นเมื่อ 13 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ที่ชายแดนใต้มีผู้สูญหายเกือบ 40 คนโดยไม่มีใครรู้ชะตากรรมว่าเป็นหรือตาย...แต่ครอบครัวของพวกเขาก็ยังเฝ้ารอ...
--------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 2, 3 และ 5 บรรยากาศงาน "วันระลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหายสากล"
4 นูนรียา ยูโซะ
อ่านประกอบ :
ชำแหละ 3 ยุค "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" มูลเหตุ "การเมือง-ไฟใต้-เห็นต่าง"
การตายของ"เจะรอฮานี ยูโซ๊ะ" กับวงจร"อุ้ม-ฆ่า"ที่ชายแดนใต้