เจาะมุมมอง ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ กับรูรั่วโครงการประชารัฐ -ไทยนิยมฯ สู่รัฐล้วงเงินสะสมท้องถิ่นดันราคายาง
"ผมไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ กับยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ เพราะการทำถนนด้วยส่วนผสมของยางพารา ไม่ใช่เรื่องวิกฤติเหมือนเช่นภัยพิบัติ เหตุผลการไปขอยกเว้นไม่ควรทำแบบพร่ำเพรื่อ จะเกิดช่องว่างให้เกิดการทุจริต"
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือด่วนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด สั่งการให้ส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ สำรวจความต้องการและพิจารณาจัดทำโครงการ กิจกรรม ที่มีส่วนผสมของยางพารา โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีหนังสือแจ้งจังหวัดขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการ กิจกรรมที่มีส่วนผสมของยางพารา พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งแนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้ขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 32 กรณีการจัดซื้อจัดจ้างจากเงินสะสมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีสอบราคาเป็นกรณีเฉพาะราย ทั้งนี้ให้ก่อหนี้ผู้พันให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน (ระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2560-20 เมษายน 2561) นั้น
รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้านการเงินการคลังของเทศบาล” ให้มุมมองต่อเรื่องดังกล่าวไว้ 2 ประเด็น
ประเด็นแรก โจทย์วันนี้รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายมาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว มีการตรวจสอบเงินของภาครัฐว่า อยู่ตรงไหนบ้าง ก็พบว่า มีเงินสะสมในส่วนของท้องถิ่นที่มีกว่าแสนล้านบาท (หักเงินสำรองที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพันแล้ว ) ซึ่งรัฐบาลมองว่า หากนำเงินสะสมในส่วนของท้องถิ่นมาใช้จะสามารถกระตุ้นจีดีพีได้ประมาณ 0.5% จึงสั่งการมาตลอดเป็นระยะ ส่งเสริมให้ท้องถิ่นนำเงินสะสมมาใช้จ่าย
"รัฐบาลทำเรื่องนี้ 3 ปีก็ไม่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้น ความเห็นผมต้องตั้งคำถามกลับไปว่า เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการนี้ เท่าที่วิเคราะห์ เงินแสนล้านที่มีนั้น ไม่ได้มีทุกท้องถิ่น มีเฉพาะท้องถิ่นขนาดใหญ่ ซึ่งมีกำลัง มีงบประมาณเหลือ"
ฉะนั้น ความเข้าใจท้องถิ่นดำเนินการขับเคลื่อนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำนั้น รศ.ดร.วีระศักดิ์ ชี้ว่า จากจำนวนท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่ง มีแค่ 1-2 พันแห่งเท่านั้นเองที่มีกำลัง มีงบประมาณเหลือ รัฐบาลต้องไม่ดำเนินนโยบายแบบปูพรม ฉะนั้นต้องเจาะจงลงไป
ในทางปฏิบัติ คำถามต่อมาว่า ท้องถิ่นมีเงินสะสม แล้วทำไมไม่เอามาใช้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มองว่า จริงๆ ท้องถิ่นก็อยากดำเนินการตามโยบายรัฐบาล แต่ปัญหาข้อเท็จจริงที่ท้องถิ่นประสบพบเจอ และไม่สามารถตอบสนองนโยบายรัฐบาลได้ คือ ถึงเวลาจริงๆ แล้วทางปฏิบัติการที่ท้องถิ่นจะนำเงินสะสมออกมาใช้ไม่ได้ง่ายเหมือนดังที่รัฐบาลเข้าใจ มีกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทย เป็นอุปสรรคเยอะเลย
"อีกหน่วยงานหนึ่งที่รัฐบาลไม่เคยไปคุย ไม่เคยไปคิดไปเคลียร์ปัญหาให้เลย คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เหมือนกรณีการฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แล้วปัจจุบันมีปัญหาการกลับมาระบาดใหม่ เหตุเพราะสตง.ไปท้วงไม่ใช่หน้าที่ท้องถิ่น อย่าทำ มิเช่นนั้นจะเรียกเงินคืน แบบเดียวกันเลย กฎระเบียบกระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่นไม่มีเหตุผล ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ทำไม่ได้นะ พอท้องถิ่นไปทำตามนโยบาย หรือมติคณะรัฐมนตรี หรือหนังสือสั่งการจากกระทรวงมหาดไทย หากมีปัญหาทีหลัง สตง.ทักท้วง ไม่มีใครมาช่วยท้องถิ่นเลย"
รศ.ดร.วีระศักดิ์ ยังให้มุมมองอีกว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด หากออกหนังสือสั่งการ หรือระเบียบอะไรมาก็ตาม หากไม่ไปแก้ที่ปลายเหตุ ทำให้ท้องถิ่นเบิกจ่ายได้คล่องตัวมากขึ้นตามนโยบายรัฐบาล อย่างอื่นก็จะเป็นแบบนี้แหละ และก็เป็นแบบนี้มา 3 ปีแล้ว
ประเด็นที่สอง การนำยางพาราทั้งหลายมาทำถนน หรือโครงการกิจกรรมที่มีส่วนผสมของยางพารานั้น
รศ.ดร.วีระศักดิ์ ระบุว่า รัฐบาลคงได้ข้อมูลไม่ครบ เช่น การนำยางพารามาทำถนนไม่ได้ง่ายเหมือนกับเรานึกว่า นำมาผสมแล้วใช้ได้เลย ไม่ได้ง่ายแบบนั้น
"ผมกับคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เคยคุยกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท พบว่า ข้อจำกัดของการนำยางพารามาทำถนนนั้น ไม่แนะนำให้ทำมากกว่าปัจจุบัน"
รศ.ดร.วีระศักดิ์ ระบุถึงข้อจำกัดที่ยางพาราเป็นสินค้าเกษตร แสดงว่า ราคาขึ้นลง ผันผวน ทางปฏิบัติหากราคายางพาราขึ้นลง และท้องถิ่นทำแผนงบประมาณทำถนนจากยางพาราในราคา อาทิ 50 บาทต่อกิโลกรัม วันข้างหน้าราคายางพาราถูกกว่า ก็ยังรับได้ แต่หากวันข้างหน้าราคาเกิดสูง กลายเป็น 80 บาทต่อกิโลกรัม ท้องถิ่นจะทำไม่ได้เลยเพราะติดขัดเรื่องการจัดทำงบประมาณ เบิกจ่าย ราคาแพงกว่าแผนที่เคยตั้งไว้ เกิดความไม่แน่นอนในการบริหารงบประมาณ
"ยางพารา มีข้อจำกัดด้านวิศวกรรม แม้ความทนทานจะมีมากกว่าก็จริง แต่ต้องการการวิจัยหาส่วนผสมที่ลงตัว การทำถนนลาดยาง หากเพิ่มสัดส่วนยางพาราเข้าไปจำนวนหนึ่งต้องไปลดองค์ประกอบอื่นๆ ลง ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยกันอีกยาว ไม่ใช่ง่ายๆ ข้อมูลพวกนี้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมีอยู่แล้ว "
รศ.ดร.วีระศักดิ์ ตอกย้ำอีกว่า การที่นโยบายรัฐบาลออกมาแบบนี้ อีกด้านหนึ่งมองข้ามข้อเท็จจริง ทำให้ท้องถิ่นหลายแห่งไม่กล้าคิดจะเดินตาม
สำหรับขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 32 นั้น ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุว่า รัฐบาลทำมา 2-3 ปีแล้วเพื่อให้เกิดความคล่องตัว หากรัฐบาลยอมแลก ผลักดันนโยบายให้ทำได้เร็วขึ้น เร่งรัดแก้ไขปัญหาราคายาง แต่กลายเป็นว่า เจอปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างในอนาคตใครจะรับผิดชอบ
"ผมไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ กับยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ เพราะการทำถนนด้วยส่วนผสมของยางพารา ไม่ใช่เรื่องวิกฤติเหมือนเช่นภัยพิบัติ เหตุผลการไปขอยกเว้นไม่ควรทำแบบพร่ำเพรื่อ จะเกิดช่องว่างให้เกิดการทุจริต"
สุดท้ายเมื่อถามถึงโครงการตลาดประชารัฐ ท้องถิ่นสุขใจ โดยมอบหมายท้องถิ่นจังหวัด เป็นผู้บริหารจัดการตลาดประชารัฐนั้น รศ.ดร.วีระศักดิ์ ยอมรับว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ประชารัฐที่ลงไปทั้งหมด เกิดจากคิดของรัฐบาลที่เร่งใช้จ่ายอัดฉีดเงิน ฉะนั้นอะไรที่เป็นระเบียบ การตรวจสอบ การจัดซื้อจัดจ้างของยกเว้นหมดเลย
"การรีบเร่งใช้จ่ายเงินเพื่อให้เห็นผลทางการเมือง กลายเป็นข้ามขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง การทำโครงการประชารัฐ จนถึงวันนี้ ปกติต้องสอบถามความต้องการ ดูว่าสอดคล้องกับปัญหาหรือไม่ วันนี้คิดอะไรได้ทำเลย กลายเป็นสูตรสำเร็จที่มาจากส่วนกลาง โดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริงในพื้นที่ว่า มีตลาดพอหรือยัง เงิน ความต้องการ หากไปทำเพิ่ม ไม่ได้ศึกษาความจำเป็น นี่คือรูรั่วของโครงการประชารัฐ"
สุดท้าย นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ เชื่อว่า อีกสักพักเราจะเห็น รูรั่วจากการเบิกจ่าย การใช้งบประมาณ ซึ่งเริ่มทยอยออกมาเรื่อยๆ แม้จะเปลี่ยนชื่อจากโครงการประชารัฐ เป็นไทยนิยมเข้มแข็ง เพื่อเบี่ยงความสนใจไป
"ประชารัฐ ตั้งแต่ปีแรกมีการอัดฉีดไม่ตรงกับความต้องการเยอะมาก จึงมีชื่อใหม่แก้เกมส์ทางการเมืองเปลี่ยนชื่อไป"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นายกฯ สั่งผู้ว่าฯ ดันตลาดประชารัฐทั่วประเทศ-รายงานผลทุกสิ้นเดือน
ทิ้งโครงการพระราชดำริ-รับเหมารวยกระจุก!สตง.พบแจกเงินประชารัฐ2แสนยโสธร รบ.บิ๊กตู่ 'เหลว'
ย้าย 'ช็อปประชารัฐ สุขใจ’ 5 แห่ง กทม.ไป ตจว.หลังตั้งทิ้งร้างในปั้มเป็นปี-ผลสอบยังเงียบ
เผยโฉม‘ตู้ประชารัฐฯ’โอท็อป ททท.แห่งละ 8 แสน ปล่อยทิ้งร้าง-เท่าห้องบ้านเอื้อฯ
ทำธุรกิจสีข้าว-ขายยา!เปิด 5 บ.รับเหมาตู้ประชารัฐฯโอท็อป ททท.แห่งละ 8 แสน
ประตู 6.3 หมื่น-ผนัง1.3 แสน!เปิดราคากลาง'ตู้ประชารัฐฯ' ททท.แห่งละ 8 แสน
isra.crowdsourcing: ครบชุด!ทีโออาร์ช็อปโอท็อปททท.ภาคกลาง29.5ล.!อิศรา ชวนปชช.ร่วมตรวจสอบ
รมว.ท่องเที่ยวฯยันจัดซื้อตู้ประชารัฐ 8 แสนสอบเชิงลึกอยู่-วิสาหกิจชุมชนดำเนินการ
ทำธุรกิจสีข้าว-ขายยา!เปิด 5 บ.รับเหมาตู้ประชารัฐฯโอท็อป ททท.แห่งละ 8 แสน
ได้สถานะธุรกิจนำเที่ยวก่อนคว้างานเดือนเศษ!เปิดตัวบ.สร้างช็อปโอท็อปประชารัฐใต้22.4ล.
ถึงคิว!เปิดตัว บ.ขายยาสร้างช็อปโอท็อปประชารัฐภาคกลาง29.5ล.-แจ้งไร้รายได้ก่อนรับงาน
ททท.ย้ายที่ตั้งช็อปประชารัฐ8แสน! อิศราลุยตรวจเพิ่ม2แห่งไม่เคยเปิดให้บริการร่วมปี
เผยโฉมทาวน์โฮม2ชั้นรามอินทรา!ที่ตั้ง บ.สีข้าว รับงานสร้างช็อปประชารัฐภาคเหนือ28ล.
เปิดตัว 2 เอกชนสุดท้าย คว้างานช็อปโอท็อป'ประชารัฐสุขใจ'-บ.ภาคตะวันออกถูกไล่บี้สอบภาษี
ฝนตกประตู6.3หมื่นบวมแล้ว! โชว์คลิปชำแหละช็อปโอทอป'ประชารัฐสุขใจ' รังสิต 8 แสน
เช็คราคาโครงสร้างไม่ถึง4แสน!สตง.จี้กอบกาญจน์สอบ ททท.จัดซื้อช็อปโอทอป'ประชารัฐสุขใจ'
ขอเกษียณแล้ว1ราย!เปิดตัวคกก.ราคากลางช็อปประชารัฐฯแห่งละ8แสน-ปธ.ยันใช้วัสดุมีคุณภาพ
หนักกว่ารังสิต! โชว์คลิปช็อปประชารัฐสุขใจจ.นนท์ 'ร้านโทรม-ป้ายลอก-ประตูชำรุด'
หลังคารั่ว-สินค้าแพงกว่าท้องตลาด! ตะลุยช็อปประชารัฐสุขใจ 'ปทุมธานี-บางบัวทอง'