ทำธุรกิจสีข้าว-ขายยา!เปิด 5 บ.รับเหมาตู้ประชารัฐฯโอท็อป ททท.แห่งละ 8 แสน
เปิดตัว 5 เอกชน สร้างตู้ประชารัฐฯโอท็อป ททท. 148 แห่ง ทั่วปท. 122 ล้าน เผยทำสัญญาวันเดียวกัน แยกรับงาน 5 ภูมิภาค 4 รายล้วนตั้งอยู่ในกทม. บางแห่งทำธุรกิจ ทำธุรกิจสีข้าว-ขายยา-รับปรึกษาออกแบบซอฟต์แวร์
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบการจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ที่ใช้ขายสินค้าโอท็อปของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำนวน 148 ตู้ทั่วประเทศ วงเงินกว่า 122 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยตู้ละ 8 แสนบาท โดยใช้วิธีพิเศษ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีราคากว่าท้องตลาด ที่อยู่ประมาณตู้ละ 2 แสนบาท และบางพื้นที่ไม่มีการเปิดใช้งาน
ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ยืนยันว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยอิงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ใช้วิธีพิเศษเพราะเป็นโครงการขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้เบิกจ่ายงบฯ ให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ธ.ค. 2558 ทำให้มีระยะเวลาดำเนินการไม่กี่เดือน เนื่องจากประกวดราคาโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ต้องใช้เวลา ทั้งนี้ ตอนแรกของบประมาณตู้ละ 9 แสนกว่าบาท แต่เวลากำหนดราคากลางจริงอยู่ที่ 8 แสนกว่าบาท จึงมองว่าเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่ากว่า และประหยัดงบฯ
(อ่านประกอบ : จัดซื้อ 'ตู้ประชารัฐฯ' 148 แห่ง ททท.วิธีพิเศษ 122 ล.- ผู้ว่าฯยันไม่มีทุจริต, เผยโฉม‘ตู้ประชารัฐฯ’โอท็อป ททท.แห่งละ 8 แสน ปล่อยทิ้งร้าง-เท่าห้องบ้านเอื้อฯ)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจ้างหน่วยงานภาครัฐพบว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2558 ททท. ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างเอกชนเข้ามารับงานจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ภายใต้ชื่อโครงการรพัฒนาสถานีริมทางเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวท้องถิ่น: ก่อสร้างพื้นที่สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวและจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น จำนวน 5 สัญญา 5 ภูมิภาค กับ เอกชน 5 ราย รวมวงเงินทั้งสิ้น 122,326,776.69 บาท (เฉลี่ยราคาแห่งละ 826,532.27 บาท) ปรากฎรายละเอียดตามตารางต่อไปนี้
จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเอกชนทั้ง 5 ราย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ บริษัท ทูเวย์-คอนแท็คท จำกัด ผู้ชนะงานในภูมิภาคภาคใต้ จำนวน 27 แห่ง 22,431,234.47 บาท
จดทะเบียนจัดตั้ง 3 ธันวาคม 2558
ทุน 5 ล้านบาท
ตั้งอยู่เลขที่ 303 ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็คโทรนิคส์ และรับเหมาทั่วไป
ปรากฎชื่อ นาย พลเทพ เทพมณฑา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย พลเทพ เทพมณฑา ถือหุ้นใหญ่
@ บริษัท อาณาจักรสระแก้ว จำกัด ผู้ได้รับงานในภูมิภาคภาคตะวันออก 14 แห่ง วงเงิน 11,831,850.02 บาท
จดทะเบียนจัดตั้ง 3 สิงหาคม 2547
ทุน 5 ล้านบาท
ตั้งอยู่เลขที่ 430/5 ถนนสุวรรณศร ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว
แจ้งประกอบกิจการจำหน่ายเหล็กและวัสดุก่อสร้าง
ปรากฎชื่อ นาย วิชญ์ เลื่องเชื้อง น.ส. วรรณา จันทร์ธนไพบูลย์ เป็นกรรมการ ทั้งสองคนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
@ บริษัท เฮอบัลเฮลท์ อินโนเวชั่น จำกัด ผู้ได้รับงานในภูมิภาคภาคกลาง จำนวน 36 แห่ง วงเงิน 29,552,016.85 บาท
จดทะเบียนจัดตั้ง 13 กันยายน 2555
ทุน 1 ล้านบาท
ตั้งอยู่เลขที่ 30/184 ซอยนวมินทร์ 80 ถนนนวมินทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจการค้ายา,เคมีภัณฑ์
ปรากฎชื่อ นาย วิโรจน์ ตั้งเบญจผล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ผู้ถือหุ้นใหญ่
@ บริษัท ฮาตาริ ไวร์เลส จำกัด ผู้ได้รับงานในภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37 แห่ง วงเงิน 30,469,788.60 บาท
จดทะเบียนจัดตั้ง 20 มกราคม 2546
ทุน 20 ล้านบาท
ตั้งอยู่เลขที่ 518/5 อาคารมณียา เซ็นเตอร์ ชั้น 9 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจรับปรึกษาออกแบบซอฟต์แวร์ ขายหรือให้เช่าระบบอุปกรณ์สื่อสาร
ปรากฎชื่อ นาย วิชัย วนวิทย์ นาง สุนทรี วนวิทย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาง สุนทรี วนวิทย์ ถือหุ้นใหญ่สุด
@ บริษัท บุญสิงห์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ได้รับงานในภูมิภาคภาคเหนือ 34 แห่ง วงเงิน 28,041,886.75 บาท
จดทะเบียนจัดตั้ง 3 กันยายน 2550
ทุน 1 ล้านบาท
ตั้งอยู่เลขที่ 104/120 ถนนเลียบคลองสอง แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจการสีข้าว
ปรากฎชื่อ น.ส. กานติมา บุญสิงห์ นาย พลาศร ธุมชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย พลาศร ธุมชัย ถือหุ้นใหญ่สุด
จากข้อมูลทั้ง 5 บริษัท สรุปข้อสังเกตสำคัญที่ตรวจสอบพบ ได้ 2 ประเด็น คือ
หนึ่ง บริษัท ทูเวย์-คอนแท็คท จำกัด ผู้ชนะงานในภูมิภาคภาคใต้ จำนวน 27 แห่ง 22,431,234.47 บาท เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้ง 3 ธันวาคม 2558 ก่อนวันลงนามสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2558 ประมาณ 22 วัน
สอง เอกชน 4 ใน 5 ราย คือ บริษัท ทูเวย์-คอนแท็คท จำกัด บริษัท เฮอบัลเฮลท์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท ฮาตาริ ไวร์เลส จำกัด บริษัท บุญสิงห์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ล้วนแล้วแต่ จดทะเบียนจัดตั้งในกรุงเทพฯ และมีหลายบริษัทที่ แจ้งวัตถุประสงค์ทำธุรกิจ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาสถานีริมทางโดยตรง อาทิ สีข้าว ออกแบบซอฟต์แวร์ จำหน่ายติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็คโทรนิคส์ เป็นต้น
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการนี้ ใน 2 ประเด็น คือ 1. ราคาในการว่าจ้างแห่งละ 8 แสนบาท สูงกว่าราคาในท้องตลาดที่อยู่แค่ 2 แสนบาท 2. ตั้งอยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสม บางพื้นที่ไม่มีการเปิดใช้งาน ทั้งนี้การว่าจ้างเอกชนเข้ามารับงาน เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 นับเวลาจนถึงปัจจุบัน ผ่านมาประมาณปีเศษ
ส่วนข้อมูลเชิงลึกของแต่ละบริษัท รวมถึงคำชี้แจงต่างๆ สำนักข่าวอิศรา จะตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบในตอนต่อๆ ไป