กทม. ฟัน'ตลาดรอบบ้านป้าทุบรถ'ผิดจริง - ขรก. 6รายเอี่ยว แม้เกษียณไปแล้ว
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กทม. เผยผลสอบพบ ตลาดรอบบ้านป้าทุบรถผิดจริง เปิดชื่อข้าราชการ 6 รายเกี่ยวข้อง พร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแม้เกษียณอายุแล้ว
สืบเนื่องจากการที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการประกอบกิจการตลาดในซ.หมู่บ้านเสรีวิลล่าว่าดำเนินการถูกต้องตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ และมีผู้ใดเกี่ยวข้องกับการดำเนินการในเรื่องนี้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 (อ่านประกอบ ผู้ว่ากทม.ตั้งทีมสอบกิจการตลาดรอบบ้านป้าทุบรถ ขีดเส้นตาย28 ก.พ.ได้คำตอบ )
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 61 นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ทางคณะกรรมการฯเห็นพ้องกันว่า การจัดการตลาดไม่ถูกต้องทั้ง 5 ตลาด ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 เดิมทีเป็นที่ออกกำลังกาย มีการตั้งแผงขายของตามริมฟุตบาธ ต่อมาภายหลังได้มีการจัดตั้งเป็นตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคาร เริ่มตั้งแต่ตลาดสวนหลวง ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดยิ่งนรา และตลาดร่มเหลือง จึงลงความเห็นว่าตลาดทั้ง 5 แห่งไม่มีสภาพเป็นตลาด
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีรายชื่อของข้าราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1. สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้แก่
- นายจุมพล สำเภาพล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ตุลาคม ปี 2552 ถึง 2554
- นายวินัย ลิ่มสกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ตุลาคม ปี 2554 ถึง 2556
2. สำนักงานเขตประเวศ ได้แก่
- นายสมชาย ฉัตรสกุลเพ็ญ อดีตผู้อำนวยการเขตประเวศ
- นางอัจฉรา ห่อสมบัติ อดีตผู้อำนวยการเขตประเวศ
- นายณรงค์ จงแจ่มฟ้า อดีตผู้อำนวยการเขตประเวศ
- นายธนะสิทธิ์ เมธพันธุ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศคนปัจจุบัน
"จากการตรวจสอบพบว่าช่วงเวลาที่ผู้อำนวยการเขตดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2551 มีการดำเนินการที่ไม่เท่ากัน บางช่วงมีการดำเนินการที่เข้มงวด มีการสั่งจับปรับ มีคำพิพากษา บางตลาดมีการเสียค่าปรับสองแสนกว่าบาท บางช่วงเวลาก็ไม่มีการจับปรับ และมีการเว้นระยะของการดำเนินคดี ข้อเท็จจริงทั้งหมดก็จะส่งให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป อย่างกรณีการเสียค่าปรับของตลาดรุ่งวาณิชย์ เสียค่าปรับจำนวน 157,800 บาท ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลจังหวัดพระโขนง ในแต่ละช่วงเวลามีการดำเนินคดีแตกต่างกันไป"
ส่วนการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องนั้น นายนิรันดร์ กล่าวว่า แม้จะเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ลาออกหรือยังดำรงตำแหน่งอยู่ ระเบียบข้าราชการสามารถดำเนินการได้โดยจะตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือสอบวินัย เมื่อผู้บังคับบัญชามีหลักฐานที่เชื่อว่าควรตั้งคณะกรรมการสอบวินัย โดยผลจะออกมา 3 ประการ คือโทษทางอาญา โทษทางแพ่ง และโทษทางวินัย
"ในคำสั่งมีการให้ตรวจสอบว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องหรือไม่ และในช่วงเวลานั้นมีใครเกี่ยวข้องบ้าง ส่วนรายละเอียดของผู้เกี่ยวข้องจะมีการแยกกลุ่มเพื่อตรวจสอบว่าแต่ละกลุ่มมีใครบ้างต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่" นายนิรันดร์กล่าวและตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าพนักงานยึด 3 ข้อกฎหมาย คือพ.ร.บ.ผังเมือง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และพ.ร.บ.สาธารณสุข แต่ ณ ปัจจุบันปรากฎว่ามีผู้ร้องต่อศาลปกครองว่านอกจาก 3 พ.ร.บ.ดังกล่าวยังมีข้อกฎหมายด้านการจัดสรรที่ดินซึ่งเรื่องอยู่ที่ศาลปกครองเพื่อรอผลการพิจารณา
อ่านประกอบ
เปิดคำสั่งคดีพิพาท ปี 2553 ก่อนเกิดเหตุขวานทุบรถจอดขวางประตู
โชว์รายได้18บ.ทุน40ล.!เปิดตัวธุรกิจ 'พัชรี เจียรวนนท์'เจ้าของตลาดยิ่งนรากรณีป้าทุบรถ