ประชาสังคมจี้หยุดละเมิดสิทธิ์-ฟ้องปิดปาก ทหารโต้แรง"ลวงโลก"
สุดสัปดาห์ต้นเดือนมีนาคม มีการปะทะกันทางวาทกรรมอีกรอบระหว่างสื่อ เอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมชายแดนใต้ กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)
ประเด็นที่โต้แย้งกันก็ยังเป็นประเด็นเดิมๆ คือ สิทธิมนุษยชนและการฟ้องร้องดำเนินคดีกับสื่อมวลชน แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือ ฝ่ายรัฐที่นำโดย กอ.รมน.ภาค 4 สน. ตอบโต้แบบไม่ยั้ง ไม่มีเยื่อใยกันอีกต่อไป จนน่าคิดว่าจะร่วมมือกันดับไฟใต้ สถาปนาสันติสุขกันรูปแบบไหน
38 องค์กรจี้หยุดละเมิดสิทธิ์-ฟ้องปิดปาก
วันศุกร์ที่ 2 มี.ค.61 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตตานี) กลุ่มพลังมวลชนในนาม "เครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 38 องค์กร จังหวัดชายแดนภาคใต้" ได้จัดเสวนาเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจใฝนกระบวนการสันติภาพและความเป็นธรรม ตลอดจนเรียกร้องให้ยุติการคุกคามและปิดปากประชาชน พร้อมยื่นแนวทาง 6 ข้อต่อรัฐไทย
อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุมด้วยใจ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า กลุ่มพลังมวลชนในนามเครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นฯ เป็นการจับมือกันขององค์กรในพื้นที่ทั้งหมด 38 องค์กร ประกอบด้วยแกนนำองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ เยาวชน และสื่อมวลชน จำนวนกว่า 100 คน จากพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทั้ง 38 องค์กรมีความกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล กองทัพภาคที่ 4 และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ยุติการคุกคามและปิดปากประชาชน เปิดพื้นที่ทางการเมือง กอ.รมน.ภาค 4 สน.และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องต้องยุติการคุกคามประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาด้วยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ไม่เป็นธรรม
ขณะเดียวกันก็ขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือขบวนการต่อสู้ปาตานี ยุติการคุกคามและโจมตีพลเรือนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาโดยเด็ดขาด ให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยุติการคุกคามทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการแจ้งความดำเนินคดีต่อประชาชน สื่อมวลชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมให้รัฐบาลไทยดำเนินการทบทวนและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการดำเนินการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และขอให้หุ้นส่วนสันติภาพ ทั้งรัฐบาลไทย กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือขบวนการต่อสู้ปาตานีทุกกลุ่ม ตลอดจนกลุ่มประชาสังคมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศได้ร่วมกันติดตามและตรวจสอบกรณีการคุกคามข้างต้นอย่างใกล้ชิด ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะในการคลี่คลายปัญหาอย่างสร้างสรรค์ต่อรัฐบาลไทยและขบวนการต่อสู้ปาตานี
ทั้งหมดเพื่อตอกย้ำหลักคิดที่ว่า สันติภาพนั้นไม่อาจปรากฏขึ้นได้ หากไร้ซึ่งความเป็นธรรม
อนึ่ง การบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่เครือข่ายเฉพาะกิจฯ 38 องค์กรมองว่าไม่เป็นธรรม ก็เช่น การปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมประชาชนไปเข้ากระบวนการซักถามจำนวนมาก มีข้อกล่าวหาเรื่องการทำร้ายร่างกายหรือซ้อมทรมาน และเมื่อมีการเรียกร้องหรือเปิดโปงข้อมูลผ่านองค์กรสิทธิมนุษยชน หรือสื่อมวลชนบางแขนง ก็ถูกหน่วยงานความมั่นคงแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเครือข่ายเฉพาะกิจฯ 38 องค์กร เห็นว่าเป็นการ "ฟ้องปิดปาก"
กอ.รมน.โต้ "ลวงโลก-ป้ายสีรัฐ"
คล้อยหลังจากกิจกรรมของเครือข่ายเฉพาะกิจฯ 38 องค์กรเพียงวันเดียว ปรากฏว่า พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ทันที โดยใช้หัวข้อว่า "แถลงการณ์ลวงโลก ยุติหลอกลวงประชาชน"
สาระสำคัญของแถลงการณ์สรุปว่า สถานการณ์ชายแดนใต้ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา นอกจากความสูญเสียของพี่น้องประชาชนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีพฤติกรรมแบบสุดโต่งแล้ว ยังพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่แอบอ้างว่าเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่คอยเคลื่อนไหวบิดเบือนข้อเท็จจริงและทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการซ้อมทรมาน มีความพยายามทำหนังสือร้องเรียนไปยังองค์กรต่างๆ โดยไม่ยินยอมให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต่อมาภายหลังเมื่อทำการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เป็นจริงตามที่กล่าวอ้าง พฤติกรรมลักษณะนี้จึงถือเป็นความจงใจทำลายความน่าเชื่อถือและทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล
กอ.รมน.ภาค 4 สน.ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมายด้วยความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ทุกกรณี แต่ทุกครั้งที่มีการบังคับใช้กฎหมาย กลับถูกต่อต้านและบิดเบือนใส่ร้ายว่าเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน จากกลุ่มที่แอบอ้างว่าเป็นนักปกป้องสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เคยออกมาปกป้องสิทธิ์ให้พี่น้องประชาชนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนร้ายที่ใช้ความรุนแรง ทำให้สังคมเข้าใจว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงเสียเอง
ส่วนการแจ้งความดำเนินคดีกับสื่อออนไลน์ และบุคคลที่กล่าวอ้างว่าถูกซ้อมทรมานนั้น เพราะถือว่าละเมิดกฎหมายด้วยการจงใจเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐได้รับความเสียหาย จึงขอพึ่งอำนาจของกระบวนการยุติธรรม และเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการคุกคามหรือปิดปากประชาชนตามที่กล่าวอ้างและบิดเบือน
ทหารยัน "ปกป้องสิทธิ์" ไม่ใช่ปิดปาก
ด้าน พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า คำว่าสิทธิเสรีภาพต้องเสมอภาคกัน คนที่บอกว่าถูกลิดรอนสิทธิ์ กลับมีพฤติกรรมลิดรอนสิทธิ์คนอื่นเหมือนกัน
"สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงทำไป เพราะถูกลิดรอนสิทธิ์ เราอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ประชาชนท่านใดที่ถูกลิดรอนสิทธิ์ ก็สามารถไปฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ถ้าเกรงกลัวอิทธิพลที่จะฟ้องร้อง ก็สามารถแจ้งความกับสถานีตำรวจทุกแห่งในประเทศไทยได้" พล.ต.จตุพร ระบุ
สำหรับกรณีที่หน่วยงานความมั่นคงถูกละเมิดสิทธิ์ในความเห็นของ พล.ต.จตุพร ก็คือกรณีที่สื่อออนไลน์แห่งหนึ่งในพื้นที่ รายงานบทสัมภาษณ์ของอดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่อ้างว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว โดยมีการระบุชื่อหน่วยอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 เข้าแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี
พล.ต.จตุพร ย้ำว่า การแถลงต้องแถลงข้อเท็จจริง ไม่ใช่ลิดรอนสิทธิ์คนอื่น มิฉะนั้นบ้านเมืองก็วุ่นวายไปหมด
"ประเด็นการออกข่าวเรื่องซ้อมทรมาน ถ้ามีข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไรก็สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้ อย่างคนที่ถูกซ้อมทรมาน ตัวเองได้รับเงินเยียวยาจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ไม่ต้องรับเงินเยียวยา ไปดำเนินการตามกฎหมาย แจ้งความดำเนินคดีกับเราได้เลย" ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ระบุ
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 2 กิจกรรมของเครือข่ายเฉพาะกิจฯ 38 องค์กร
3 แถลงการณ์ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.
อ่านประกอบ :
แจ้งจับสื่อ-นักสิทธิ์-ประชาสังคม ไม่ได้ช่วยแก้ข้อกล่าวหาซ้อมทรมาน
องค์กรสิทธิ์จี้ทหารถอนแจ้งความสื่อตีข่าวซ้อมทรมาน ชี้เข้าข่าย "ฟ้องปิดปาก"