คณะพูดคุยฯปัด "พักโทษ" ผู้เห็นต่างฯร่วม "เซฟเฮาส์" สร้างพื้นที่ปลอดภัย
แม้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเดินทางมาถึงขั้นตอน "เปิดเซฟเฮาส์" หรือ "ศูนย์ประสานงาน" เพื่อร่วมกันสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" นำร่องอำเภอแรกแล้วก็ตาม
แต่ดูเหมือนจะยังมีคำถามที่หลายฝ่ายยังคาใจ โดยเฉพาะการเกิดเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่ดูจะหนักหน่วงขึ้นหลังมีข่าวคณะพูดคุยฯ บรรลุข้อตกลงจัดทำ "พื้นที่ปลอดภัย" กับผู้เห็นต่างจากรัฐ ภายใต้ชื่อ "มารา ปาตานี" ขณะเดียวกันการเปิด "เซฟเฮาส์" เพื่อให้ตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกันในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็มีความกังวลเรื่องกระบวนการ "พักโทษ" หรือ "งดเว้นโทษ" ให้กับผู้เห็นต่างฯ ที่มีหมายจับในคดีความมั่นคง
จากข้อกังวลและความสงสัยดังกล่าว ทำให้ "สำนักงานเลขานุการ" คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เป็นเลขานุการคณะพูดคุยฯ) ออกมาชี้แจงประเด็นเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน
1.กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธีของรัฐบาล เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการยุติความรุนแรงและความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน รวมทั้งสร้างสันติสุขร่วมกันกับกลุ่มบุคคลที่มีความคิดและอุดมการณ์ต่างจากรัฐ ผ่านทางกระบวนการพูดคุยซึ่งเป็นวิธีที่นานาประเทศให้การยอมรับ และในอดีตประเทศไทยได้เคยนำมาใช้จนทำให้ประเทศสามารถผ่านพ้นวิกฤติเรื่องความขัดแย้งทางด้านลัทธิและอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนในชาติต้องจับอาวุธมาต่อสู้กันเองมาแล้ว
2.การจัดตั้ง "เซฟเฮาส์" (Safe House) หรือ "ศูนย์ประสานงาน" เป็นขั้นตอนแรกของการจัดตั้ง "เซฟตี้โซน" (Safety Zone) หรือ "พื้นที่ปลอดภัย" โดยเซฟเฮาส์จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมทั้งข้อกังวลของทุกภาคส่วน ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานการณ์ หรือผู้ที่ความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทั้งจากในและนอกพื้นที่
โดยการปฏิบัติงานในเซฟเฮาส์ จะประกอบด้วยผู้แทน จาก Party A หรือเจ้าหน้าที่รัฐ และ Party B หรือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ฝ่ายละ 7 คน ซึ่งจะมีการทำบัตรประจำตัวให้กับบุคคลเหล่านี้ เพื่อใช้เป็น "มาตรการในการรักษาความปลอดภัย" และการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานในเซฟเฮาส์ และเซฟตี้โซน
สำหรับผู้แทนของ Party B ที่เป็นบุคคลที่มีหมายจับ จะได้รับการช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรมทางด้านคดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่ใช่การ "พักโทษ" ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้กับผู้ต้องขังแล้ว และหากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด ก็อาจได้รับการพิจารณาให้ได้รับการปล่อยตัวก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลาตามคำพิพากษา
ดังนั้นการจัดตั้ง "เซฟเฮาส์" จึงไม่ใช่การเปิดโอกาสให้คนร้ายเข้าประเทศตามที่มีการตั้งข้อสังเกตไว้ เพราะกระบวนการพูดคุยในระยะปัจจุบัน เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายปกติทั้งสิ้น ไม่ได้มีการออกกฏหมายพิเศษเพิ่มเติมใดๆ มารองรับอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ
--------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์
ขอบคุณ : ภาพจากสำนักเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ
อ่านประกอบ :
ได้แล้ว! "เซฟเฮาส์" ลุยพื้นที่ปลอดภัยดับไฟใต้
"เบตง" ชงเลิก พ.ร.ก. - สรุปพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก "สัญลักษณ์วันเสียงปืนแตก"