เปิดคำแย้ง กรธ.VS. มติสนช. ปม กม. ส.ส.-ส.ว.ส่อขัด รธน.เพียบ ชี้ชะตาเลื่อนเลือกตั้ง?
"...ต้องจับตาดูอย่างไม่กระพริบว่า การแก้ไขกฎหมายของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายนั้น จะส่งผลทำให้การพิจารณากฎหมายของ สนช.ในเดือน มี.ค. เกิดการคว่ำกฎหมายเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ก็ไม่อาจจะคาดเดาได้เลยว่าวันเลือกตั้งครั้งถัดไปนั้นจะเป็นเมื่อไรกันแน่..."
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญ ที่จะส่งผลต่อการกำหนดวันเลือกตั้งในครั้งถัดไป ว่าจะอยู่ภายในปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 หรืออาจจะนานกว่านั้น โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด่วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.หลังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งความเห็นแย้งในเนื้อร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงขอย้อนรอยความเคลื่อนไหวก่อนว่าที่ผ่านมานั้น กรธ.เห็นแย้งในประเด็นของ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ในรายละเอียดอะไรกันบ้าง เริ่มกันที่ พ.ร.บ.ฯว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กรธ.ได้เห็นแย้งใน 4 ประเด็นด้วยกันได้แก่
1.การตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งกรณีนี้ กรธ.เห็นว่า การจำกัดดังกล่าวมิใช่การจำกัดสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และอาจเป็นผลลงโทษให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งนั้นต้องรับผิดชอบหากแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวโดยไม่ทราบว่าเป็นผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิ โดยเฉพาะตำแหน่งข้าราชการการเมืองบางตำแหน่ง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญได้บัญญัติกระบวนการการได้มาไว้แล้ว รวมทั้งต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย นอกจากนี้ การจำกัดสิยังเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะจำกัดสิทธิเฉพาะผู้ซึ่งยังไม่ได้ดำรงตำแหน่ง แต่สำหรับผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนแล้วไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
2.การหาเสียงเลือกตั้งผ่านงานรื่นเริง หรือจัดมหรสพ กรธ.เห็นว่ากรณีนี้จะทำให้เกิดปัญหาเพราะว่าทั้งยากในการปฏิบัติ อีกทั้งพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่มีเงินเพื่อใช้ในการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงมากกว่าย่อมได้เปรียบพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่มีเงินน้อยกว่าส่งผลทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการปราศรัยหาเสียง ทั้งนี้การหาเสียงเลือกตั้งควรกระทำด้วยวิธีการที่ทำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สิทธิและหน้าที่ของประชาชน และนโยบายของพรรคการเมืองได้อย่างแท้จริง มากกว่าจะมามุ่งเน้นที่ความบันเทิงของงานมหรสพหรือเพื่อป็นเครื่องมือจูงใจให้ประชาชนไปลงคะแนนให้
นอกจากนี้ยังมีข้อบัญญัติตามกฎหมายว่าผู้ใดประสงค์จะช่วยเหลือผู้สมัครโดยมิได้รับจ้าง จะกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายนั้นมารวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครได้ ถ้าหากดูข้อบัญญัตินี้ประกอบกับข้อบัญญัติว่าอนุญาตให้พรรคการเมืองจัดมหรสพได้ กรณีนี้จะเป็นช่องทางที่เป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
3.การขยายระยะเวลาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็น 07.00-17.00 น. กรธ.เห็นว่าตามกฎหมายที่บัญญัติไว้แต่เดิม คือกำหนดช่วงเวลาเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. การกำหนดช่วงเวลาดังกล่าวนั้นก็เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปโดยเรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะเป็นระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ การขยายเวลาการออกเสียงลงคะแนนเพิ่มขึ้นไปจากร่างเดิมนั้นส่งผลทำให้ระยะเวลาการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งโดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่งต้องขยายออกไปด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตได้ง่ายยิ่งขึ้น และถ้าหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งได้ ก็จะส่งผลให้การนับคะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศไม่อาจกระทำได้ไปด้วย
นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี พ.ศ. 2554 ซึ่งมีกำหนดเวลาการออกเสียงลงคะแนนน้อยกว่านี้ คือ ตั้งแต่เวลา 8.00-15.00 น. ยังมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาลงคะแนนเลือกตั้งเป็นจำนวนร้อยละ 75.03 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเป็นเหตุผลว่า การกำหนดเวลาไว้เช่นเดิมคือ 8.00 น. – 16.00 น.มิได้มีผลกระทบต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และ การเลือกตั้งสามารถกระทำได้อย่างเรียบร้อย
4.การให้ให้บุคคลอื่นหรือเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้ง ช่วยเหลือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สามารถกระทำด้วยตนเอง เพราะพิการ หรือทุพพลภาพ ทาง กรธ.เห็นว่าประเด็นนี้นั้น ในรัฐธรรมนูญก็มีเจตนารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งชัดเจนว่า “หลักการเลือกตั้งโดยลับนั้นเป็นสาระสำคัญของการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย การใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องโดยเสรี หากการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับแล้ว การเลือกตั้งก็ไม่อาจที่จะเป็นการเลือกตั้งโดยเสรีได้ การเลือกตั้งโดยลับให้ความคุ้มครองทั้งผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่ละคนและผลประโยชน์ส่วนรวมด้วย ตามหลักการ การเลือกตั้งโดยลับจะตัองดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ให้ผู้ใดทราบได้เลยว่า ผู้ลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้งแต่ละคนตัดสินใจเลือกใคร..” ดังนั้น บทบัญญัติที่ว่าให้บุคคลอื่นช่วยเหลือผู้ที่ทุพพลภาพ หรือ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในการเลือกตั้ง จึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับได้
สำหรับประเด็นว่าด้วย พ.ร.บ.ฯว่าด้วยที่มาของ ส.ว.นั้น กรธ.ได้มีจุดยืนคัดค้านใน 3 ประเด็นด้วยกัน ประกอบด้วย
1.การแบ่งกลุ่ม ส.ว.จากเดิมที่มี 20 กลุ่ม ให้เหลือเพียง 15 กลุ่ม กรธ.เห็นว่าการกำหนดให้มีวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน แตกต่างจากวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มา โดยมิได้มีเจตนารมณ์ให้เป็นสภาพี่เลี้ยงหรือสภาตรวจสอบที่ต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ หากแต่มีเจตนารมณ์ให้เป็นสภาที่ประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคม (All walks of life) มีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างแท้จริง โดยประชาชนซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด สามารถสมัครเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติได้ “โดยตรงและอย่างกว้างขวาง”
ดังนั้นการที่ สนช.มีมติให้ลดจำนวนกลุ่มลงเหลือเพียง 10 กลุ่ม จึงเป็นการลดทอนหลักประกันว่าวุฒิสภาจะเป็นสภาที่ประกอบด้วยประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างแท้จริง เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะทำให้กลุ่มเดิมที่ถูก
ยุบรวมเข้ากับกลุ่มอื่นจะได้รับเลือกเป็นส.ว.ลดน้อยลงหรือไม่ได้รับเลือกเลย เช่น การยุบกลุ่มสตรี ไปรวมกับกลุ่มผู้สูงอายุ (ซึ่งประกอบด้วยผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน) และกลุ่มประชาสังคม (ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน) จากเดิมที่สามกลุ่มนี้มีหลักประกันชัดเจนว่าจะมีผู้ได้รับเลือกเป็นส.ว.กลุ่มละ 10 คน รวมเป็น 30 คน แต่เมื่อนำมายุบรวมกันเป็นกลุ่มเดียวกัน ตัวแทนจากกลุ่มเหล่านี้จะลดลงเหลือรวมกันเพียง 20 คนเท่านั้น
ทำให้บางกลุ่มที่นำมารวมเข้ากันนั้นอาจไม่มีผู้ได้รับเลือกเป็นส.ว.เลยเพราะมีความหลากหลายมากภายในกลุ่ม กับไม่มีหลักประกันว่าการเลือกกันเองภายในแต่ละกลุ่มนั้น ผู้สมัครจะได้รับเลือกในลักษณะเฉลี่ยกันอย่างทั่วถึง กรณีเช่นนี้จึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้วุฒิสภามีองค์ประกอบจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมอย่างแท้จริง
2.การแบ่งประเภท ส.ว. ออกเป็น 2 ประเภท คือ สมัครโดยอิสระ และผ่านการคัดกรองจากองค์กร กรธ.เห็นว่าในเรื่องนี้ในมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติชัดเจนว่าวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคนซึ่งมาจาก “การเลือกกันเอง” ของบุคคลในแต่ละกลุ่มซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม ดังนั้น การเลือกดังกล่าวจึงมุ่งหมายให้เป็นการเลือกในระหว่างผู้สมัครด้วยกันเองอย่างเท่าเทียมกันโดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างเดียวกัน ซึ่งกรธ.ได้เสนอแนวคิดในการเลือกส.ว.ดังกล่าวให้ประชาชนทราบจนเป็นที่รับรู้ทั่วไปตั้งแต่ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว
ดังนั้นการที่ สนช.มีมติให้กำหนดให้มีการแบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็นสองประเภท คือ ประเภทที่สมัครโดยอิสระ กับประเภทที่สมัครโดยต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรตามที่กำหนด และให้ผู้สมัครในแต่ละประเภทเลือกกันเองเท่านั้น เลือกข้ามประเภทมิได้แม้จะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของการเลือกกันเองตามมาตรา 107 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นผลให้เกิดการแบ่งส.ว.ออกเป็นสองประเภทอีกด้วย ทั้งที่มาตรา 107 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญมิได้มุ่งหมายเช่นนั้น เพราะหากรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายดังกล่าว ก็คงบัญญัติเกี่ยวกับการแบ่งประเภทของส.ว.และการได้มาซึ่งส.ว.แต่ละประเภท ไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรกในทำนองเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา
อีกทั้งมาตรา 107 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่าประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถสมัครรับเลือกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อย่างเสรี จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการเสนอชื่อหรือรับรองหรือผ่านการคัดกรองจากองค์กรใด ๆ ก่อน
3.การยกเลิกวิธีเลือก ส.ว.แบบไขว้กลุ่ม โดยไม่มีมาตรการป้องกันการสมยอมระหว่างผู้สมัคร เรื่องนี้ กรธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักการอันเป็นสาระสำคัญในการได้มาซึ่งส.ว.คือการกำหนดมาตรการเพื่อให้การเลือกกันเอง “เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” ดังนั้นการกำหนดมาตรการเลือกไขว้ จะทำให้ความเป็นไปได้ในการสมยอมกันในการเลือกทำได้ยากขึ้น อันจะทำให้การเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมสมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
กรธ.เห็นว่าการที่ สนช.ไปตัดมาตรการเลือกไขว้ออกโดยไม่มีมาตรการที่เท่าเทียมหรือเข้มข้นกว่าในการลดความเป็นไปได้ในการสมยอมกันในการเลือกมาแทน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการสมยอมกันโดยไม่สุจริตในการเลือกส.ว.ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้การเลือกส.ว.เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
และทั้งหมดนี้ก็คือประเด็นที่ทาง กรธ.ได้เห็นแย้งต่อมติของ สนช.ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ 2 ฉบับสุดท้าย ซึ่งสำนักข่าวอิศราได้นำมาเสนอโดยสรุปรายละเอียดที่สำคัญเอาไว้
สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้ก็คือภายหลังจากที่มีการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย อันประกอบด้วย กรธ. สนช.และ กกต.แล้ว ทั้งหมดจะมีเวลาพิจารณาแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ฯ ทั้ง 2 ฉบับ ให้เสร็จภายใน 15 วัน โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกในวันนี้ และจะต้องแก้ไขให้เสร็จภายในวันที่ 2 มี.ค. ก่อนจะส่งให้ สนช.พิจารณาอีกครั้งหนึ่งในเดือน มี.ค.
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การแก้ไขกฎหมายของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายนั้น จะส่งผลทำให้การพิจารณากฎหมายของ สนช.ในเดือน มี.ค. เกิดการคว่ำกฎหมายเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ก็ไม่อาจจะคาดเดาได้เลยว่าวันเลือกตั้งครั้งถัดไปนั้นจะเป็นเมื่อไรกันแน่
อ่านประกอบ:
เปิด 4 ปัจจัยกำหนดวันเลือกตั้ง หลัง สนช. มีมติเลื่อนบังคับใช้ กม.ส.ส.90วัน
สนช.ถกยาว ก่อนเคาะ กม.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ส่องงบกกต.คลอด5โครงการ ปรับระบบข้อมูล-ทำคู่มือพรรคการเมือง รับเลือกตั้งปี 61