- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ส่องงบกกต.คลอด5โครงการ ปรับระบบข้อมูล-ทำคู่มือพรรคการเมือง รับเลือกตั้งปี 61
ส่องงบกกต.คลอด5โครงการ ปรับระบบข้อมูล-ทำคู่มือพรรคการเมือง รับเลือกตั้งปี 61
"..เมื่อหันกลับมาดูข้อมูลในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดการเลือกตั้งพบว่ามีการเตรียม ความพร้อมในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจพบข้อมูลว่า ได้มีการประกาศแผนจัดซื้อจัดจ้างประจำปี 2561 เพื่อทำโครงการรองรับการดำเนินการของพรรคการเมือง ภายใต้งบประมาณ 38,279,600 บาท โดยแยกเป็นการดำเนินการใน 5 โครงการ..."
ช่วงตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามโรดแม็พเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2561 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นับตั้งแต่การประกาศใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ตามมาด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็น 2 ใน 4 กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ขณะที่กฎหมายอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ…. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. … ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติรับหลักการในวาระแรกไปแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็ออกมายืนยันว่าประทศไทยยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการตามโรดแม็พในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย และคาดว่าน่าจะจัดการเลือกตั้งได้ในปี 2561 ภายหลังจากการจัดทำกฎหมายลูกสำหรับการเลือกตั้งเสร็จสิ้น
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรคแสดงความจำนงอย่างเป็นทางการในการประสงค์จะเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเดิม ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย.2561 ก็ส่งผลให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองได้
จึงทำให้สัญญาณการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
และเมื่อหันกลับมาดูข้อมูลในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดการเลือกตั้งพบว่ามีการเตรียม ความพร้อมในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจพบข้อมูลว่า ได้มีการประกาศแผนจัดซื้อจัดจ้างประจำปี 2561 เพื่อทำโครงการรองรับการดำเนินการของพรรคการเมือง ภายใต้งบประมาณ 38,279,600 บาท โดยแยกเป็นการดำเนินการใน 5 โครงการประกอบด้วย
-โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลพรรคการเมือง ภายใต้งบประมาณ 22,000,000 บาท ที่จะมีการดำเนินการในช่วงเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้
-โครงการจัดพิมพ์หนังสือรวมกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง 3,600,000 บาท มีกำหนดที่จะดำเนินการในช่วงเดือน ม.ค.นี้
-โครงการสัมมนาจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานพรรคการเมือง กิจกรรมที่ 2 จัดพิมพ์คู่มือการปฏิบัติงานพรรคการเมือง ภายใต้งบประมาณ 1,179,600 บาท โดยมีกำหนดดำเนินการในช่วงเดือน ม.ค.นี้
-โครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ฉบับที่ … ระยะ 4 ปี (พ.ศ.) ภายใต้งบประมาณ 1,500,000 บาท มีกำหนดดำเนินการในช่วงเดือน พ.ค.
-โครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกกิจกรรมของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ภายใต้งบประมาณ 10,000,000 บาท มีกำหนดดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ.
ซึ่งก็ต้องรอดูว่าการดำเนินการตาม 5 โครงการข้างต้น ภายใต้งบประมาณ 38,279,600 บาท จะมีส่วนช่วยให้ความชัดเจนในการจัดเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด และจะมีการจัดทำโครงการเกี่ยวข้องเพิ่มเติมมากขึ้นอีกหรือไม่
ส่วนความพร้อมด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดและกำหนดเวลาในเรื่องการพิจารณากฎหมายที่ยังเหลือ
ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ตามกำหนดการแล้วการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอีก 3 ฉบับนั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบที่ประชุมใหญ่ สนช.ในวาระ 2 และวาระ 3 ไปไม่เกินเดือน ม.ค. นี้ อย่างไรก็ตามการพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาหลังจากส่งไปให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว มักจะมีข้อโต้แย้งจนต้องนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมอยู่เสมอ ดังนั้นในกรณีการพิจารณากฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่เหลือนั้นอาจจะมีหรือไม่มีข้อโต้แย้งออกมาก็ได้
นายสมชาย ยังกล่าวต่อไปว่า ถ้าหากเผื่อช่วงเวลาที่ กรธ.หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อโต้แย้งออกมาด้วย ก็จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วมภายในระยะเวลา 10-15 วัน จากนั้นก็ต้องพิจารณากฎหมายให้เสร็จสิ้น ซึ่งเมื่อรวมระยะเวลาทั้งขั้นตอนเอกสารต่างๆ ขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการร่วมและขั้นตอนการพิจารณากฎหมายของกรรมาธิการ ก็คาดว่าทั้งหมดน่าจะใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของ สนช.ให้พิจารณาผ่านร่างกฎหมายได้
" การผ่านร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับในที่ประชุม สนช.ภายหลังจากที่ คณะกรรมการร่วมได้นำกลับพิจารณาใหม่ให้เหมาะสมก็น่าจะอยู่ในช่วงไม่เกินเดือน เม.ย. จากนั้นก็ให้ประธาน สนช. มาตรวจสอบร่างกฎหมายว่าสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงส่งให้นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะรอไว้ 5 วันก่อนเพื่อดูว่ามีใครยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าหากไม่มีใครยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเลย นายกรัฐมนตรีก็จะมีเวลาอีก 20 วันในการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป ถ้าหากเป็นไปตามนี้ ก็คาดกันว่าน่าจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าได้ในช่วงเดือน พ.ค." นายสมชายระบุ
นายสมชาย ยังกล่าวต่อไปว่า หากจะมีกรณีที่ส่งผลทำให้ร่างกฎหมายนั้นผ่านช้าลงไปอีกคือ 1. ถ้าหากกรรมาธิการร่วมไปแก้เนื้อหาของกฎหมายโดยเปลี่ยนแปลงไปเป็นร่างแรกที่ กรธ.ส่งเข้ามา หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของกฎหมายไปจนไม่เหลือเนื้อหาที่ สนช.เคยลงมติโหวต สนช.ก็มีสิทธิจะไม่เห็นด้วย โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก สนช. คือ 167 คน คว่ำกฎหมายได้ แต่กรณีนี้นั้นเกิดยากขึ้นยากมาก และ 2.มีคณะรัฐมนตรี(ครม.)หรือ สนช.ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าหากเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นก็ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้นพิจารณาให้เสร็จเสียก่อน
เมื่อถามถึงเรื่องกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น นายสมชายกล่าวว่าตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่าร่างกฎหมายจะเข้ามาสู่ สนช.เมื่อไร ในตอนนี้ก็การพูดกันว่าจะต้องปรับแก้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นจำนวน 6 ฉบับ โดยเฉพาะในแนวคิดที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้นำเสนอในเรื่องการควบรวม อบต.เป็นเทศบาล การจัดสรรการกระจายอำนาจ เรื่องเหล่านี้ยังไม่แก้ไขเลย
" ดังนั้นสมมติว่าทาง ครม.ส่งเรื่องมาให้ สนช.ในช่วงเดือน ก.พ.ก็ต้องใช้เวลาราวๆ 3 เดือน เพื่อแก้ไขร่างกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามการพิจารณากฎหมายว่าด้วยท้องถิ่นนั้นไม่ได้มีขั้นตอนเหมือนกับการพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมาให้ กรรมาธิการร่วมมาพิจารณาอีกรอบหนึ่ง ดังนั้นผมก็คาดว่าในช่วงเดือน ก.ค. ก็น่าจะสามารถนำกฎหมายไปขึ้นทูลเกล้าฯได้ ส่วนในตอนนี้ก่อนที่กฎหมายว่าด้วยท้องถิ่นจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ทาง สนช.ก็ได้ให้กรรมาธิการ สนช.ทั้ง ด้านการเมือง การปกครองส่วนท้องถิ่นไปศึกษาในข้อปัญหาต่างๆ และศึกษาข้อเสนอของ สปช.และ สปท.ไปพลางก่อน ซึ่งนี่จะทำให้ง่ายในการพิจารณาเมื่อร่างกฎหมายมาถึง สนช.แล้ว"
ทั้งหมดนี่ คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งตามโรดแม็พของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่กำหนดไว้ ส่วนรายละเอียดการดำเนินงานแต่ละส่วน สำนักข่าวอิศราจะทยอยนำข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป