- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิด 4 ปัจจัยกำหนดวันเลือกตั้ง หลัง สนช. มีมติเลื่อนบังคับใช้ กม.ส.ส.90วัน
เปิด 4 ปัจจัยกำหนดวันเลือกตั้ง หลัง สนช. มีมติเลื่อนบังคับใช้ กม.ส.ส.90วัน
เปิด 4 ปัจจัยด้านกฎหมาย กำหนดวันเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ หลัง สนช.มีมติเลื่อนบังคับใช้ กม. ส.ส.ชี้ต้องดู กมธ.พิจารณา กม.ร่วม,ศาลรธน., กกต. และ สนช.เป็นผู้เล่นคนสำคัญกำหนดวันเลือกตั้ง
จากกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีเนื้อหาที่สำคัญก็คือการกำหนดให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้หลังจาก 90 วันที่มีการลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (อ่านประกอบ:สนช.ถกยาว ก่อนเคาะ กม.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ซึ่งถ้าดูในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญมาตราที่ 268 ที่ระบุว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังจากที่ พ.ร.บ.ฯที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ก็หมายความว่าวันเลือกตั้งนั้นน่าจะอยู่ที่ 90 วันในขยักรอบังคับใช้บวก 150 วัน ในขยักเตรียมการจัดการเลือกตั้ง จะเท่ากับว่าประเทศไทยจะมีเลือกตั้งภายในกรอบ 240 วัน ภายหลังจากที่มีการลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาร่าง พ.ร.บ.ฯว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งทางด้านของนายวิษณุ เครืองาม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าเวลานั้นคือเดือน ก.พ. 2562 ไม่มีเลื่อนไปกว่านี้แล้ว
เพื่อให้สาธารณชน ได้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ได้รวบรวมปัจจัยด้านกฎหมาย 4 ปัจจัย ที่จะส่งผลต่อการเลื่อนการเลือกตั้งให้ช้าลงไปอีก หรือขยับให้เร็วขึ้นได้ว่ามีปัจจัยอะไรกันบ้าง รวมถึงความเห็นของ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับปัจจัยด้านกฎหมายอื่นๆ ประกอบด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.การพิจารณากฎหมายของกรรมาธิการร่วม
เนื่องจากรัฐธรรมนูญระบุว่าถ้า สนช.ได้ให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ฯ ประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว สนช.จะต้องส่งเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฯกลับไปให้กับ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ฯหรือศาลรัฐธรรมนูญ ดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งถ้าขัด ก็จะตั้งกรรมาธิการร่วมจำนวน 11 คน ประกอบด้วย กรธ. 5 คน สนช. 5 คน และประธานกรรมการองค์กรอิสระอีก 1 คน ภายใน 15 วัน และจะต้องพิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากการพิจารณากฎหมายของกรรมาธิการร่วมนั้นเร็วกว่า 45 วันไปมาก ก็อาจจะส่งผลทำให้เงี่อนเวลาการเลือกตั้ง ลดลงไปประมาณ 1 เดือน และถ้าหากทางฝ่าย กรธ.หรือฝ่ายองค์กรอิสระ ไม่มีผู้ใดเห็นแย้งกับ ร่าง พ.ร.บ.ฯเลย ก็หมายความว่าเมื่อผ่านพ้นเวลา 10 วันนับตั้งแต่ร่างกฎหมายผ่านวาระ 3 ของที่ประชุม สนช. ร่างกฎหมายนั้นจะสามารถนำส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ
2.การคว่ำร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ที่ผ่านมานั้นนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.ได้เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (อ่านประกอบ:ส่องงบกกต.คลอด5โครงการ ปรับระบบข้อมูล-ทำคู่มือพรรคการเมือง รับเลือกตั้งปี 61)ว่าปัจจัยหนึ่งที่จะเอื้อให้กำหนดเวลาช้าลงไปอีกก็คือมีกรณีที่ กรรมาธิการร่วมไปแก้เนื้อหาของกฎหมายโดยเปลี่ยนแปลงไปเป็นร่างแรกที่ กรธ.ส่งเข้ามา หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของกฎหมายไปจนไม่เหลือเนื้อหาที่ สนช.เคยลงมติโหวตให้ผ่านวาระ 3 สนช.ก็มีสิทธิจะไม่เห็นด้วย โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก สนช. คือ 167 คน คว่ำกฎหมายได้ ซึ่งถ้าหากเกิดกรณีดังกล่าว ก็ยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดทางออกในกรณีนี้ไว้
3.ปัจจัยด้านศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย
สืบเนื่องจากกรณีที่ล่าสุดทางศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติให้รับคำร้องของ 32 สนช.ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.บ.ฯว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ที่ระบุให้ประธานและคณะกรรมการสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญนั้นได้ตัดสินว่า พ.ร.บ.ฯขัดต่อเนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญ ในกรณีแบบนี้ก็ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าจะให้ดำเนินการแก้ไข หรือยกร่างกฎหมายใหม่ต่อไปอย่างไร
นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฎกฎหมายว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายนานเท่าใด ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ก็จะส่งผลต่อระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บฯ ที่เกี่ยวข้องเช่นกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะใช้เวลาพิจารณากฎหมายนานเท่าใดก็ได้
และถ้าหากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตีความว่า พ.ร.บ.ฯมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าหากเป็นกรณีแบบนี้นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ.ได้เคยบอกแค่ว่า ก็คงต้องตัวใครตัวมัน เพราะว่าตามกำหนดการ กรธ.นั้นพ้นจากจะพ้นสภาพไปทันทีหาก พ.ร.บ.ฯ ทั้ง 10 ฉบับนั้นถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่ถ้าหากในเวลานั้น พ.ร.บ.ฯยังถูกประกาศลงในราชชกิจจาไม่หมด และกรธ.ยังอยู่ ก้อาจจะพอแก้ไขอะไรบางอย่างได้
แต่อย่างไรก็ตาม นายนิพิฎฐ์ได้กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าเนื้อหาของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้วนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดขึ้น
4. การกำหนดวันเลือกตั้งของ กกต.
จากรายละเอียดของรัฐธรรมนูญมาตราที่ 268 ที่ระบุว่าให้ กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังจากที่ พ.ร.บ.ฯที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ถ้าหาก กกต.ตัดสินใจดำเนินการจัดการเลือกตั้งเร็วกว่ากรอบเวลา 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ กรณีนี้ก็จะส่งผลทำให้การเลือกตั้งนั้นเร็วกว่าช่วงเดือน ก.พ. 2562 ตามที่ได้มีการคาดการณ์กันเอาไว้เช่นกัน
และทั้งหมดนี้ก็คือ 4 ปัจจัยทางด้านกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งสำนักข่าวอิศราได้รวบรวมมา แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากที่จะส่งผลต่อการกำหนดวันเลือกตั้งที่แท้จริง อาทิปัจจัยด้านความสงบสุขเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ ปัจจัยด้านการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง รวมไปถึงปัจจัยเกี่ยวกับสภาพการณ์ของโลกทั้งทางด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดาได้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงและส่งผลอย่างไร
อ่านประกอบ:
สนช.ถกยาว ก่อนเคาะ กม.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ส่องงบกกต.คลอด5โครงการ ปรับระบบข้อมูล-ทำคู่มือพรรคการเมือง รับเลือกตั้งปี 61