วันหยุด กทม.ปริมาณฝุ่นดีขึ้น กรมควบคุมมลพิษ ชี้เกินแค่ 1 สถานี
วันหยุด กรุงเทพฯ ปริมาณฝุ่นดีขึ้น กรมควบคุมมลพิษ ชี้ฝุ่นละออง PM2.5 เกินแค่ 1 สถานี บริเวณเขตวังทองหลาง พบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เตือนปชช.กลุ่มเสี่ยงใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน ขณะที่คุณภาพอากาศที่ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี กรีนพีช ระบุ สภาพอากาศคงมีผลกระทบสุขภาพ ดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 ยังอยู่ในระดับเตือนภัย (สีแดง)
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ เวลา 12.00 น. กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งตรวจวัดได้ระหว่าง 45-52 มคก./ลบ.ม. พบเกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 1 สถานี บริเวณริมถนนอินทรพิทักษ์ ในภาพรวมปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นบริเวณเขตวังทองหลาง พบปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เวลา 8.00 น. ดังนี้
1. ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 47-55 มคก./ลบ.ม. เกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 1 สถานี ที่บริเวณริมถนนอินทรพิทักษ์ ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่
2. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่ กทม. มีหมอกในตอนเช้า กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้น 91% ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศลดลงได้
3. ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด) ที่อยู่อาศัย หรือต้องเข้าในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หากจำเป็นต้องออกจากอาคาร ควรใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์
ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษยังคงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้ยานพาหนะ การเผา และโดยเฉพาะการก่อสร้าง ให้มีมาตรการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง รวมถึงรถบรรทุกขนส่งวัสดุก่อสร้างขอให้มีการปิดคลุมให้มิดชิด เพื่อที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองลงได้
อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ส่วนใหญ่เกินค่ามาตรฐานมากกว่า 50 มคก.เพิ่งจะมาลดลงในช่วงวันหยุด (อ่านประกอบ:แย่จริงอากาศกรุงเทพฯ แล้วฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 มาจากไหน?)
ด้านนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ประเทศไทย) โพสเฟชบุค ระบุถึงคุณภาพอากาศที่ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี เช้านี้ ยังคงมีผลกระทบสุขภาพ ดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 ยังอยู่ในระดับเตือนภัย (สีแดง) เนื่องจากพื้นที่อุตสาหกรรมในท่าตูม ประกอบด้วยโรงงาน 75 แห่งบนพื้นที่ 12 ตารางกิโลเมตร (7,500 ไร่) ภายใต้ ชื่อสวนอุตสาหกรรม 304 มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 400 เมกะวัตต์ซึ่งใช้ถ่านหินใน กระบวนการผลิต 900,000 ตัน/ปี และโรงผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษ ซึ่งมีกําลังผลิตกระดาษ 500,000 ตัน/ปี โดยโรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินผสมเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น แกลบและเปลือกไม้ ปริมาณการปลดปล่อยสารปรอทจากโรงไฟฟ้าจะขึ้นโดยตรงกับปริมาณสารปรอทในเชื้อเพลิง
"เช่นเดียวกับคุณภาพอากาศที่แม่เมาะ-ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป เป็นอันตรายต่อสุขภาพ คนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษควรงดออกกำลังกายและอยู่ในที่กลางแจ้งเป็นเวลานาน บุคคลทั่วไปควรลดกิจกรรมในที่กลางแจ้ง"