เครือข่ายอันดามันเล็งสมทบหน้าทำเนียบร่วมเทพา ยันรัฐยกเลิกรฟฟ.ถ่านหินภาคใต้
เครือข่ายอันดามัน ยื่นหนังสือ วอน ก.ท่องเที่ยวฯ ปกป้องพื้นที่ท่องเที่ยวจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ชี้รัฐกำลังทำลายเม็ดเงิน 5 แสนล้าน แลกมลพิษไม่คุ้ม เตรียมปักหลักหน้าทำเนียบร่วมชาวบ้านเทพา จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเวลา10.00 วันที่ 8 ก.พ.61 เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จัดกิจกรรมนิทรรศการภาพความสวยงามอันดามันบริเวณหน้ากระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมทั้งแถลงการณ์เรียกร้องให้กระทรวงท่องเที่ยวออกมาปกป้องแหล่งท่องเที่ยวอันดามันที่มีมูลค่าปีละ 5 แสนล้านบาทต่อปี โดยในแถลงการณ์ระบุว่า
ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีแผนในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติและพื้นที่การท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ โดยการขนส่งถ่านหินมาจากประเทศอินโดนีเซียผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งในจังหวัดตรังและกระบี่ จะก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อระบบนิเวศที่เป็นทั้งแหล่งอาหารและการท่องเที่ยวของประเทศ
การที่กฟผ.มีแผนงานในการสร้างโรงไฟฟ้าที่ถ่านหินในพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติและพื้นที่ท่องเที่ยวของโลกเป็นการพัฒนาที่ผิดทิศทาง ไม่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ และหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นจริงจะก่อให้เกิดมลพิษทั่วทั้งอันดามัน ด้วยกระแสน้ำและกระแสลมที่เชื่อมโยงต่อเนื่อง มูลค่าที่เกิดจากการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันจะเสียหายร่วมกันทั้งหมด
ทั้งนี้เครือข่ายฯ ระบุว่าจากการทำสำรวจนักท่องเที่ยวกว่า 10 ประเทศทั่วโลกจำนวนกว่า 1,000 คน พบว่า นักท่องเที่ยวร้อยละ 90 จะไม่กลับมาที่กระบี่อีกหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระทรวงการท่องเที่ยวฯในฐานะหน่วยงานที่จะต้องปกป้องแหล่งท่องเที่ยวของประเทศจึงต้องแสดงบทบาทในการปกป้องแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันจากภัยคุกคามดังกล่าวก่อนที่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์จะถูกทำลายลงจากโครงการพัฒนาที่ผิดทาง
ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ได้ระบุในเวทีเสวนา “หยุดถ่านหินภาคใต้ เราจะช่วยกันอย่างไร?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ว่า การท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันสร้างเม็ดเงินให้ประเทศปีละ 5แสนล้านบาท หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว หากธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินให้ประเทศมหาศาลนี้ล่มสลายไป ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องมูลค่า แต่ยังรวมถึงจะมีผลกระทบต่อธุรกิจในพื้นที่และจะส่งผลต่ออัตราว่างงานหลายแสนคนด้วย นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อการบริโภคอาหารทะเลของคนในประเทศด้วย เมื่อแหล่งอาหารทะเลถูกทำลาย แม้แต่คนในกรุงเทพฯก็ย่อมได้รับผลกระทบนี้
ทางเครือข่าย ยังระบุด้วยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกาศเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไป 3 ปี แต่ยังให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเดินหน้าจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ถือเป็นคำประกาศที่สร้างความไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ต่อพ่อค้าถ่านหิน ทางเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินไม่อาจยอมรับต่อคำประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ จึงเดินทางมายังกรุงเทพเพื่อขอให้รัฐบาลยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน รักษากระบี่ไว้เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวของโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ทางเครือข่ายจะเดินทางยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้มีการยกเลิกแผนการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมทั้งจะร่วมปักหลักกับชาวบ้านเทพา จ.สงขลาบริเวณหน้าทำเนียบจนกว่าจะมีคำตอบที่ชัดเจน พร้อมกันได้มีการขีดเส้นตาย 13 ก.พ.นี้ รัฐบาลต้องมีคำตอบ อ่านประกอบ ปชช.ภาคใต้ ขีดเส้นตาย13 ก.พ. รัฐต้องยกเลิกสร้างโรงไฟฟ้านถ่านหินกระบี่-เทพา