งบฯ 300 ล./ปี จ้าง จนท. เก็บขยะ สร้าง กทม. เป็นเมืองคลอง (น้ำ) ใส
เปิดแผนบำบัดน้ำเสีย กทม. หลังผู้ว่าฯ กำชับน้ำต้องใสใน 100 วัน ผอ.สำนักการระบายน้ำ เผยจัดสรรงบฯ เน้นบุคลากรเก็บขยะ-เปิดทางไหลน้ำ 300 ล./ปี ฟื้นฟู ‘คลองแสนแสบ’ สำเร็จยาก เหตุลำน้ำสาขาเยอะ ผ่านแหล่งชุมชน ปล่อยของเสีย
“กทม.มีแผนการบำบัดน้ำเสียอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ยอมรับว่าประสิทธิภาพบำบัดจากแหล่งกำเนิดทำได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น”
คำชี้แจงของนายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. ที่ระบุกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.orgถึงความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูคูคลองใน กทม. ตามนโยบายของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนน้ำจะกลับมาใสสะอาด 100% เป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ ปัจจุบันกทม. มีคูคลองประมาณ 1,600 สาย ความยาว 2,600 กิโลเมตร โดยกทม.แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการเป็น 2 ส่วน คือ สำนักการระบายน้ำ ดูแลในคลองสายหลัก 1,000 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือ 1,600 กิโลเมตร เป็นหน้าที่ของสำนักงานเขต
นายณรงค์ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการคูคลองของ กทม. ส่วนใหญ่จะเน้นการเก็บขยะที่ประชาชนนำมาทิ้งลงในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นใน จะพบปัญหาเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นมาก และเปิดทางไหลของน้ำ จากวัชพืชต่าง ๆ ในพื้นที่ชานเมือง เช่น มีนบุรี หนองจอก คลองสามวา
โดยปัจจุบันเจ้าหน้าที่สามารถเก็บขยะได้เฉลี่ย 5,000 ตัน/เดือน
สำหรับงบประมาณจ้างบุคลากรเก็บขยะที่มีทั้งหมด 1,200 คน ผอ.สำนักการระบายน้ำ ระบุเป็นงบประมาณปีต่อปี เฉลี่ยปีละประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งลูกจ้างที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือตามภาระหน้าที่ปกติเท่านั้น หากมีสถานการณ์อื่นเกิดขึ้น เช่น เกิดปัญหาน้ำท่วม เราจะนำลูกจ้างเข้ามาช่วยงานด้วย
นายณรงค์ ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นคลองสายประวัติศาสตร์ และรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยตั้งใจให้เป็นคลองใสสะอาด โดยยอมรับว่า ทำได้ยาก เพราะคลองแสนแสบมีคลองสาขา 101 สาย ที่จะไหลลงสู่คลองสายนี้ ประกอบกับการพัฒนาของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้การไหลผ่านบางพื้นที่ โดยเฉพาะเขตชุมชนที่มีแหล่งกำเนิดน้ำเสียรุนแรง
ทั้งนี้ คลองแสนแสบที่ไหลผ่านย่านประตูน้ำ ราชเทวี จะมีน้ำเสียรุนแรงเกิดขึ้น แต่ต้นทางบริเวณพื้นที่มีนบุรีและปลายทางบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จะมีน้ำดี เพราะได้รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้ามาเจือจาง
“การแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะจะรักษาคุณภาพน้ำ หน่วยงานรัฐส่วนหนึ่ง แต่ภาคชุมชน สังคม และประชาชน มีส่วนสำคัญมาก ต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้น งบประมาณที่ทุ่มลงไป เครื่องมือที่จัดหา เพื่อแก้ไขปัญหา ไม่มีทางเพียงพอ ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันดูแลและตระหนักสำนึกรับผิดชอบ ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำคูคลอง” ผอ.สำนักการระบายน้ำ กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานการจัดการคูคลองของ กทม. นั้น ปัจจุบันมีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว
โดยแผนระยะสั้น กทม.เปิดประตูน้ำ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองเทเวศน์ รวมถึงคูเมืองเดิม เพื่อใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนเหนือเข้าสู่ระบบไล่น้ำเสียและไหลลงทางด้านใต้ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง
นายณรงค์ กล่าวว่า การดำเนินงานตามแผนดังกล่าวค่อนข้างมีข้อจำกัดในเรื่องสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ราวเดือน ม.ค. -ก.พ. ของทุกปี เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องพร่องน้ำบางส่วนไว้ เพื่อรองรับน้ำฝนจากสภาพอากาศแปรปรวน การพร่องน้ำทำให้น้ำทิ้งจากครัวเรือนที่มีคุณภาพไม่ดีสะสมอยู่ก้นคลองจนสะสมเป็นมลพิษ
ขณะที่แผนระยะยาว มีแผนจะก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม 4 แห่ง ซึ่งศึกษาไว้เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ โรงบำบัดน้ำเสียหนองบอน, ธนบุรี, คลองเตย และมีนบุรี จากเดิมที่มีอยู่เดิม ได้แก่ สี่พะยา รัตนโกสินทร์ ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง จตุจักร บางซื่อ
อย่างไรก็ดี การจะสร้างระบบฯ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่จำเป็นต้องอาศัยงบประมาณหลายพันล้านบาท
สุดท้าย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร กับโครงการจิตอาสาพระราชทาน กทม. และ 50 สำนักงานเขตเพื่อรักษาความสะอาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสวยงามของคลองให้ยั่งยืน
โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการฯ นั้น ผอ.สำนักการระบายน้ำ บอกว่า ผู้ว่าฯ กทม. ได้กำชับให้คูคลองที่เข้าร่วมโครงการฯ และฟื้นฟูให้สะอาดแล้ว จะต้องรักษาให้ดีอย่างต่อนเอง พร้อมรายงานผลทุกเดือน เรียกว่าต้องดูแลกันตลอด ซึ่งถือว่าเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งทำให้คูคลองสะอาด
ท้ายที่สุด คูคลองจะใสสะอาดได้จริงนั้น ประชาชนต้องหยุดทิ้งขยะบ้านและโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีระบบสุขาภิบาลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ หากหยุดพฤติกรรมมักง่ายเหล่านี้ได้ เชื่อว่าในเร็ววันน้ำในคูคลองของกทม. จะกลับมามีคุณภาพดีดังเดิม .
อ่านประกอบ:ผอ.สำนักระบายน้ำ เผยแผนระยะยาว เตรียมสร้างโรงบำบัดเพิ่ม 4 แห่ง แก้น้ำเสีย กทม.
‘อิศรา’ สุ่ม 7 จุด ‘คลองหัวลำโพง’ เน่าเสีย-กลิ่นเหม็น รับแผนพัฒนากรุง 100 วัน น้ำต้องใส
"อัศวิน" โชว์วาระพัฒนา กทม. “Now ทำจริง เห็นผลจริง” ท่ามกลางข่าวสะพัด ปูทางสู่สนามเลือกตั้ง