ย้อนบันทึกการประชุมกกอ.ตลอดปี'60 ให้ความสำคัญ หลักสูตร “ไม่ผ่าน” ประเมิน ขนาดไหน
ไล่ดูบันทึกการประชุมกกอ.ตลอดปี 2560 ให้ความสำคัญ หลักสูตรตรวจประเมินระดับ “ไม่ผ่าน” ขนาดไหน ก่อนสกอ. นำรายชื่อหลักสูตรที่จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน 2 ปีติดต่อกัน (ปีการศึกษา 2558 และปีการศึกษา 2559) 182 หลักสูตร ขึ้นเว็บไซต์ เผยแพร่ต่อสาธารณะ
กรณีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นำรายชื่อหลักสูตรที่จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐานสองปีติดต่อกัน (ปีการศึกษา 2558 และปีการศึกษา 2559) อันมาจากผลประเมินการประกันคุณภาพภายในตามองค์ประกอบที่ 1 (เรื่องจำนวนและคุณสมบัติอาจารย์ การบริหารจัดการหลักสูตร ตามเกณฑ์มาตรฐาน) จำนวน 182 หลักสูตร ขึ้นเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ ตามมติคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 นั้น
โดยตัวเลขล่าสุดที่สกอ.เผยแพร่วันที่ 16 มกราคม 2561 พบว่า จากจำนวน 182 หลักสูตร สถาบันอุดมศึกษาหลายๆ แห่งได้ดำเนินการแก้ไขในหลายรูปแบบแล้ว
- ปิดหลักสูตรแล้วอย่างน้อย 59 หลักสูตร
- งดรับนักศึกษาแล้วอย่างน้อย 68 หลักสูตร
และมีการควบรวมอีก 2 หลักสูตร จึงคงเหลือหลักสูตรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงและยังดำเนินการอยู่ไม่เกิน 53 หลักสูตร คิดเป็นร้อยละ 0.29
สำหรับ สกอ. หน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่กำกับมาตรฐานการจัดการศึกษาให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาแต่ละหลักสูตรให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ทุกปีสถาบันอุดมศึกษาจะรายงานผลการประกันคุณภาพการศึกษาภายในผ่านระบบ CHE QA Online เป็นประจำ เพื่อเผยแพร่ผลต่อสาธารณชน แต่ครั้งนี้พิเศษตรงที่สกอ.มีการจัดเรียงหลักสูตรที่จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐานให้สาธารณชนเห็น แยกเป็นมหาวิทยาลัย แยกแต่ละหลักสูตร จัดเรียงเป็นตารางให้เข้าใจง่ายแทนการค้นหาเองทีละหลักสูตรเหมือนแต่ก่อน
ซึ่งระบบการประกันคุณภาพภายในระดับหลักสูตรจะแบ่งเป็น 6 องค์ประกอบหลัก โดยองค์ประกอบที่ 1 นับว่าสำคัญที่สุด เรียกว่า หากไม่ผ่านองค์ 1 นี้ องค์ที่เหลือก็แทบไม่ต้องพูดถึง
อย่างไรก็ตาม การที่ กกอ.มีมติให้เผยแพร่รายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสู่สาธารณะ วันนี้นำมาสู่การตั้งคำถาม สกอ.มีสิทธิ์ประกาศข้อมูลแบบนี้หรือไม่ ทำเกินเลย เป็นการรุกล้ำมหาวิทยาลัย ทำลายชื่อเสียงสถาบันอุดมศึกษาหรือไม่ ?
มีข้อมูลน่าสนใจที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบ ซึ่งอาจเป็นคำตอบให้กับคำถามเหล่านั้นได้ไม่มากก็น้อย
วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39 /2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ในข้อ 4 (1) ระบุ ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษารายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปรากฏว่า สภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งใด จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือมาตรฐานหลักสูตร จนอาจก่อให้เกิด ความเสียหายแก่นิสิตนักศึกษา ระบบการศึกษา สังคม หรือประเทศชาติ
จากนั้น ช่วงเดือนธันวาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำเนินการรับทราบหลักสูตรที่ผ่านความเห็นชอบ หรืออนุมัติจากสภาสถาบันอุดมศึกษา โดยช่วงท้ายของความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ระบุเอาไว้ว่า
"หากคณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาแล้วเห็นว่า หลักสูตรนั้นเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ก็สามารถแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษาที่เสนอหลักสูตรทราบว่า หลักสูตรนั้นเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาแทนการใช้คำว่า "รับทราบ" เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ
หรือหากคณะกรรมการการอุดมศึกษาเห็นว่า หลักสูตรใดที่ผ่านความเห็นชอบหรืออนุมัติจากสภาสถาบันอุดมศึกษาใดไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา คณะกรรมการการอุดมศึกษาก็อาจมีมติให้แจ้งให้สภาสถาบันอุดมศึกษานั้นดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา หรือหากสภาสถาบันอุดมศึกษาไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข คณะกรรมการการอุดมศึกษาอาจประกาศต่อสาธารณะว่า หลักสูตรดังกล่าวไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาก็ได้" (อ่านประกอบ:กฤษฎีกาชี้ชัดสภาสถาบันอุดมศึกษาต้องส่งหลักสูตรให้ กกอ.ตรวจสอบ )
แน่นอนว่า ก่อน กกอ.จะมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ให้เปิดข้อมูลนี้ต่อสาธารณะนั้น
หากย้อนกลับไปไล่ดูการประชุม กกอ.ก็จะพบว่า เคยมีการพูดถึงประเด็นหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานมาแล้วถึง 3 ครั้ง ดังนี้
- ในการประชุม กกอ. ครั้งที่ 2/2560 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 กกอ.มีมติในการพิจารณาเรื่อง แนวทางการรับทราบหลักสูตรและพิจารณาวางระบบการกำกับมาตรฐานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา โดยที่ประชุมเห็นชอบแนวทางในการดำเนินการรับทราบหลักสูตรที่ผ่านความเห็นชอบหรืออนุมัติจากสภาสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเป็นการกำกับติดตามสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ให้จัดการศึกษาเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานการอุดมศึกษา ดังนี้
1. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานการอุดมศึกษาพิจารณาหลักสูตรที่ผ่านความเห็นชอบหรืออนุมัติจากสภาสถาบันอุดมศึกษาว่าสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา และเกณฑ์มาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ โดยอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการย่อยตามความจำเป็น เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองหลักสูตรก่อนนำ เสนอคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานการอุดมศึกษาพิจารณา หากมีประเด็นที่คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานการอุดมศึกษาไม่สามารถพิจารณาได้ ให้เสนอคณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาวินิจฉัย โดยให้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบทุกเดือน
2. การพิจารณาว่าหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร หากสอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ให้แจ้งต่อสภาสถาบันอุดมศึกษาและสาธารณชนว่าสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร หากหลักสูตรใดไม่สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ให้แจ้งสถาบันอุดมศึกษาปรับปรุง หากสถาบันอุดมศึกษาไม่ปรับปรุง ให้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนว่าหลักสูตรดังกล่าวไม่ สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
3. ให้มีการติดตามตรวจสอบหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาเป็นประจำ โดยสุ่มตรวจกับสถาบันอุดมศึกษาที่พบว่า มีปัญหา/ข้อร้องเรียน และให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งตรวจสอบสถานภาพหลักสูตรทุกหลักสูตรด้วยตนเองเป็นประจำทุกปี และมีข้อเสนอแนะให้สร้าง template เพื่อใช้ในการตรวจสอบ
- การประชุม กกอ. ครั้งที่ 6/2560 วันที่ 14 มิถุนายน 2560 มีมติพิจารณา ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำกับติดตามการดำเนินการของหลักสูตรกรณีที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบการกำกับติดตามการดำเนินการของหลักสูตรกรณีที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ดังนี้
1. แจ้งสภาสถาบันอุดมศึกษาให้รับทราบผลการตรวจสอบหลักสูตรและการรับนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในปีการศึกษา 2557 ที่ดำเนินการโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และให้สถาบันอุดมศึกษา ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานในหลักสูตรนั้น โดยต้องปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรทุกปี จนกว่าจะมีผลการประกันคุณภาพการศึกษาภายในครั้งต่อไปเสนอมายังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และหากผู้รับผิดชอบหลักสูตรไม่ดำเนินการ ให้กำหนดมาตรการลงโทษด้วย
2. หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อ 1 แม้แจ้งเตือนแล้ว ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาโทษแก่สภาสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา กรณีที่การอนุมัติหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานและการรับนักศึกษาเกินกว่าแผนที่ขออนุมัติไว้ ทั้งนี้ โดยอาศัยพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559
3. เผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงานจากระบบประกันคุณภาพภายในของสถาบันอุดมศึกษาต่อสาธารณชน
4. ในการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก ขอเสนอให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาให้ความสำคัญกับการตรวจประเมินหลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา เป็นพิเศษ
ทั้งนี้ มอบฝ่ายเลขานุการจัดทำร่างแนวทางการกำกับติดตามการดำเนินการของหลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ตามความเห็นของที่ประชุมข้างต้น เสนอที่ประชุมพิจารณาต่อไป และให้แจ้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบมติที่ประชุม
และ การประชุม กกอ.ครั้งที่ 8/2560 วันที่ 9 สิงหาคม 2560 มีการพิจารณา เรื่อง ผลการตรวจประเมินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน : ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบผลการตรวจประเมินนำร่องการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จำนวน 5 ศูนย์ โดยมีผลการตรวจประเมินในระดับ “ผ่าน” จำนวน 1 หลักสูตร และ “ไม่ผ่าน” จำนวน 7 หลักสูตร ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านการติดตามและประเมินผล
2. รับทราบหลักสูตรที่มีผลการตรวจประเมินในระดับ “ผ่าน” จำนวน 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตั้งแต่ภาคการศึกษา 1/2559 เป็นต้นไป
3. ให้แจ้งสถาบันยุติการรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษาถัดไป ในหลักสูตรที่มีผลการตรวจประเมินในระดับ “ไม่ผ่าน” จำนวน 7 หลักสูตร
4. ให้มีการทบทวนความเป็นมา การจัดตั้ง และการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาตามปรัชญาการจัดการศึกษาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของตนเอง และความต้องการในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนการเทียบเคียงผลการเรียนรู้ ว่าจะเป็นรูปแบบอุดมศึกษาอย่างไร โดยมอบฝ่ายเลขานุการด าเนินการอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ หากมีกรณีที่ กกอ.ให้แจ้งยุติการรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษาถัดไป ในหลักสูตรที่มีผลการตรวจประเมินในระดับ “ไม่ผ่าน” แต่สถาบันอุดมศึกษานั้นๆ ไม่ปฏิบัติตาม ควรมีแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมต่อไป ดังนี้
1. ให้มีหนังสือแจ้งสภาสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นๆ เพื่อให้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของสถาบัน โดยกำชับให้สถาบันดำเนินการปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอุดมศึกษา อย่างเคร่งครัดและเร่งด่วนทันที
2. ให้มีการติดตามตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอุดมศึกษาเป็นระยะ เป็นรายหลักสูตร
3. ให้เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ
ทั้งหมดคือหน้าที่การกำกับมาตรฐานการจัดการศึกษา สิ่งที่ผู้ใหญ่ของประเทศนี้ต้องการให้เด็กและผู้เรียนมีข้อมูล และรับรู้ว่า หลักสูตรใดเป็นอย่างไร รวมถึงมีข้อมูลมากเพียงพอเพื่อได้ตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาวิชาหรือมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง
ดังคำ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า " หาก กกอ.ไม่ทำหน้าที่นี้ แล้วใครจะเป็นคนบอกเด็ก"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ครั้งแรก! สกอ.ประกาศ 182 หลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน ทั้งตรี โท เอก
ปีการศึกษา 58-59 จาก 182 หลักสูตรตกมาตรฐาน มหาวิทยาลัยไหน "ปิด- งดรับ.- รอปรับปรุง"
รองอธิการบดี มข. ชี้หลักสูตรไม่ผ่าน QA ถ้าทุกคนเข้าใจระบบก็ไม่ได้น่ากลัวหรือใหญ่โตอะไร
ม.ขอนแก่น ชี้แจง 4 หลักสูตร ไม่ผ่านเฉพาะตัวชี้วัด ไม่เกี่ยวกับคุณภาพจัดการเรียนการสอน
ปีการศึกษา 58-59 จาก 182 หลักสูตรตกมาตรฐาน มหาวิทยาลัยไหน "ปิด- งดรับ.- รอปรับปรุง"
สกอ.เปิดชื่อหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน ม.รามฯ -ราชภัฏเชียงรายนำโด่ง
ครั้งแรก! สกอ.ประกาศ 182 หลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน ทั้งตรี โท เอก
ดาวโหลด มติกกอ.หลักสูตรตกองค์ประกอบที่ 1
ขอบคุณภาพจากเฟชบุค สกอ.