- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ปีการศึกษา 58-59 จาก 182 หลักสูตรตกมาตรฐาน มหาวิทยาลัยไหน "ปิด- งดรับ.- รอปรับปรุง"
ปีการศึกษา 58-59 จาก 182 หลักสูตรตกมาตรฐาน มหาวิทยาลัยไหน "ปิด- งดรับ.- รอปรับปรุง"
การที่ กกอ.มีมติให้เผยแพร่รายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสู่สาธารณะ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ และพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 การเผยแพร่รายชื่อหลักสูตรไม่ได้รุกล้ำ หรือบีบมหาวิทยาลัย เพราะทำตามมติ กกอ.เพื่อปกป้องนักศึกษาให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
หลังจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าว และรายงานข่าว เรื่อง สกอ.เปิดชื่อหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน ม.รามฯ -ราชภัฏเชียงรายนำโด่ง และ ครั้งแรก! สกอ.ประกาศ 182 หลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน ทั้งตรี โท เอก ไป เมื่อช่วงเวลา 13:03 น.เที่ยงของวันที่ 16 มกราคม 2561 ก่อนหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะเปิดเผยมติคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรจากผลการประเมินการประกันคุณภาพภายใน (IQA) เฉพาะในองค์ประกอบที่ 1 เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน (ปีการศึกษา 2558 และ 2559) ในเว็บไซด์ http://www.mua.go.th/ ในเวลาช่วงค่ำของวันเดียวกันนั้น
สำนักข่าวอิศราขอชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการเปิดเผยรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางเว็บไซต์ ในวันที่ 15 มกราคม ซึ่งเมื่อถึงวันดังกล่าวมีรายงานว่า ได้มีการประกาศหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว แต่ปรากฎว่า ยังไม่มีการเผยแพร่บนเว็บไชต์สกอ.แต่อย่างใด โดยมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อตรวจทานเรื่องนี้อีกครั้ง
ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2561 สำนักข่าวอิศรา ได้รับมติคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรจากผลการประเมินการประกันคุณภาพภายใน (IQA) เฉพาะในองค์ประกอบที่ 1 ดังกล่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ โดยมีทั้งรายละเอียดมติคณะกรรมการฯ ชื่อสถาบันอุดมศึกษา ชื่อหลักสูตร/สาขาวิชา รวม 182 หลักสูตร สำนักข่าวอิศราจึงนำขึ้นเผยแพร่ปรากฎเป็นข่าว พร้อมจัดเรียงลำดับมหาวิทยาลัยใดมีชื่อหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน หรือตกมาตรฐานสกอ.มากสุด รวมถึงทำภาพอินโฟกราฟฟิกเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายในเวลาต่อมา
ขณะเดียวกัน ช่วงค่ำวันที่ 16 มกราคม 2561 สกอ.ได้นำรายชื่อหลักสูตรที่จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐานสองปีติดต่อกัน (ปีการศึกษา 2558 และปีการศึกษา 2559) ขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งมีการระบุสถานะปัจจุบัน 182 หลักสูตรของ 40 มหาวิทยาลัย ทั้งการปิดหลักสูตร รอปรับปรุง และงดรับนักศึกษา แตกต่างจากฉบับที่สำนักข่าวอิศราได้มาเล็กน้อย
ซึ่งล่าสุด สกอ.ตรวจสอบรายหลักสูตร/สาขาวิชาแล้ว พบว่า จากจำนวน 182 หลักสูตรนั้น บัดนี้สถาบันอุดมศึกษาหลายๆ แห่งได้ดำเนินการแก้ไขในหลายรูปแบบ ได้แก่ ปิดหลักสูตรแล้วอย่างน้อย 59 หลักสูตร มีการงดรับนักศึกษาแล้วอย่างน้อย 68 หลักสูตร และมีการควบรวมอีก 2 หลักสูตร จึงคงเหลือหลักสูตรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงและยังดำเนินการอยู่ไม่เกิน 53 หลักสูตร คิดเป็นร้อยละ 0.29 (ดังตารางข้างล่าง)
ขณะที่งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยชินวัตร ระบุว่า ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวได้ทำหนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศราต่อกรณีดังกล่าวว่า ม.ชินวัตร อยู่ในลำดับที่ 161 "หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์และบริหารธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ)" ได้งดรับนักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 และได้แจ้งปิดดำเนินการหลักสูตรไปยัง สกอ.แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ดังนั้น ในปัจจุบันจึงไม่ได้มีการดำเนินการในหลักสูตรดังกล่าวนี้แล้ว
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดแถลงข่าวมองว่า การเผยแพร่รายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย และเห็นว่า สกอ.มีการมาขอสถานะปัจจุบันหลักสูตร หลังมีการเผยแพร่ออกไปแล้วครั้งแรก ซึ่งควรมีการทำก่อนหน้านี้ พร้อมยืนยันว่า รามคำแหงเป็นตลาดวิชา ดังนั้นการเรียนการสอนจะไม่เหมือนที่อื่นๆ
ซึ่งเรื่องดังกล่าว นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นว่า การประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ไม่ได้โทษว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่ทำเพื่อปกป้องเด็ก ส่วนมหาวิทยาลัยที่มีรายชื่อตามที่ประกาศแห่งใดจะออกมาชี้แจงก็เป็นสิทธิ์ ในอดีตเวลามีนักศึกษามาเดินขบวน เรียกร้องหลักสูตรไม่ผ่าน ก็ถูกต่อว่าทำไมไม่ประกาศให้เขารู้ล่วงหน้า แต่พอครั้งนี้ประกาศก็มีเสียงสะท้อนมากมาย กลายเป็นประเด็นทั้งที่ไม่ใช่ประกาศทันที แต่ให้รู้ล่วงหน้าเป็นปีๆ ให้แก้ไข เช่น ถ้าเหตุเกิดจากอาจารย์ไม่พอก็ต้องไปแก้ไขให้อาจารย์พอ ดังนั้น นโยบายของนายกฯ ของศธ.คือ ต้องให้เด็ก คนมาเรียนรู้ว่าหลักสูตรเป็นอย่างไร แล้วใครจะเป็นคนบอกถ้า กกอ.ไม่ทำหน้าที่นี้ จึงเป็นหน้าที่มหาวิทยาลัยต้องไปแก้ไข
สอดคล้องกัน ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ มองการทำหน้าที่ของ กกอ ไม่ได้มีอำนาจสั่งให้มหาวิทยาลัยเปิดหรือปิดหลักสูตรได้ แต่มหาวิทยาลัยจะต้องมีการประกันคุณภาพการศึกษา และรายงานให้แก่ กกอ.ทราบทุกปี การที่ กกอ.มีมติให้เผยแพร่รายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสู่สาธารณะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 การเผยแพร่รายชื่อหลักสูตรไม่ได้รุกล้ำ หรือบีบมหาวิทยาลัย เพราะทำตามมติ กกอ.เพื่อปกป้องนักศึกษาให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
ทบทวนกันอีกครั้ง สำนักข่าวอิศรา ขอนำรายชื่อหลักสูตรที่จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน ฉบับอัพเดทมานำเสนอ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ...