ราคาขึ้นกับความขาดแคลน นักวิชาการ มธ.แนะจัดเก็บค่าน้ำ รัฐต้องไม่ทำเหมือนกันทุกพื้นที่
นักวิชาการ มธ. แนะนโยบายเก็บค่าน้ำตามร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ รัฐต้องไม่ทำเหมือนกันทุกพื้นที่ ราคาค่าต้องต่าง ขึ้นกับระดับความขาดแคลนของลุ่มน้ำ ปล่อยให้ท้องถิ่นจัดการ ตัดสินใจใช้เงินพัฒนา
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 61 นายชล บุนนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงงานวิจัยเรื่อง “การเก็บค่าน้ำในร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ:มุมมองและข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ ในงานสัมมนา “Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทบเติบโตอย่างยั่งยืน” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
อาจารย์ชล กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า การวิเคราะห์และเปรียบเทียบมุมมองที่แฝงอยู่ในข้อเสนอเรื่องการเก็บค่าน้ำใน ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... กับมุมมองด้านทฤษฎีทั้งจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและ เศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ โดยเฉพาะแนวคิดการจัดการทรัพยากรร่วมของ Elinor Ostrom เพื่อให้เห็นว่า มุมมองของรัฐและมุมมองทางเศรษฐศาสตร์แต่ละสํานักแตกต่างกันอย่างไร
ภายหลังจากการศึกษาครั้งนี้ อาจารย์ชล ได้กล่าวถึงข้อเสนอเกี่ยวกับการเก็บค่าน้ำใน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวรวมถึงนัยยะเชิงนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไว้ดังนี้
ประการที่หนึ่ง มาตรการการเก็บค่าน้ำควรนําถูกนํามาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทย โดยเฉพาะกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาคเกษตรกรรม ซึ่งใช้น้ำเป็นสัดส่วนสูงที่สุด
ประการที่สอง การเก็บค่าน้ำไม่ควรดําเนินการในทุกพื้นที่ แต่ควรจะดําเนินการในพื้นที่หรือในช่วงเวลามีความขาดแคลนน้ำเท่านั้น
ประการที่สาม ราคาค่าน้ำควรมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นกับระดับความขาดแคลนน้ำของลุ่มน้ำหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เพื่อให้กลไกการเก็บค่าน้ำทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาจารย์ชล กล่าวอีกว่า การที่จะดําเนินการเชิงนโยบายประการที่หนึ่งและสองได้มีประสิทธิภาพนั้น ควรจะดําเนินการตาม ข้อเสนอเชิงนโยบายประการที่สี่ คือ กระจายอํานาจการตัดสินใจกับคณะกรรมการลุ่มน้ำในการเลือกใช้ มาตรการการเก็บค่าน้ำหรือไม่ก็ได้ และตั้งอัตราค่าน้ำตามความเหมาะสมของพื้นที่ ภายใต้การให้คําปรึกษาของนักวิชาการและคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ซึ่งข้อเสนอนี้สอดคล้องกับ มาตราที่ 47 วรรค 2 ที่กําหนดให้ การกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องนั้นสามารถดําเนินการให้แตกต่างโดยคํานึงถึงกิจกรรม ลักษณะ หรือปริมาณน้ำในการใช้น้ำแต่ละประเภทและในแต่ละลุ่มน้ำก็ได้
ในส่วนประการสุดท้าย อาจารย์ชล กล่าวถึงเงินที่ได้จากการเก็บค่าน้ำนั้นก็ควรจะใช้ในการแก้ปัญหาสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน หรือชดเชยค่าเสียหากเกิดปัญหาน้ำแล้งในลุ่มน้ำนั้น โดยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำดําเนินการจัดสรร และตัดสินใจเองว่าควรใช้เงินที่ได้จากค่าน้ำในการดําเนินการอย่างไร หรือหากมีข้อจํากัดเรื่องงบประมาณและ ต้องนําเงินส่งเข้าส่วนกลางก่อน ก็ควรจะกําหนดให้มีกองทุนจากการเก็บค่าน้ำขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาลุ่มน้ำต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อาจารย์ชล กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่นอกเหนือจากนโยบายการเก็บค่าน้ำในร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแต่จะเป็นในเชิงนโยบายการจัดการทรัพยากรร่วมอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย
ประการแรก ต้องลด ละ เลิก Blueprint Thinking เชิงนโยบาย ซึ่ง Blueprint Thinking เชิงนโยบายคือ การดําเนินนโยบายแบบเดียวในทุกพื้นที่ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก พบว่า วิธีการดังกล่าวไม่ทําให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด แต่การออกแบบนโยบายสําหรับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติควรออกแบบและดําเนินการให้เหมาะสมกับบริบท ทางสังคมและนิเวศของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้นโยบายมีความสอดคล้องกับบริบท นําไปสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพ
ประการที่สองคือ สร้างสมดุลเชิงธรรมาภิบาล อาจารย์ชล กล่าวอีกว่า จากข้อเสนอข้างต้นอาจดูเหมือนว่าสนับสนุนแนวทางการกระจายอํานาจ (decentralization) ในการจัดการทรัพยากร แต่ในความเป็นจริงแล้วกําลังเสนอว่านโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติควรจะเคลื่อนข้อถกเถียงระหว่างการตัดสินใจรวมศูนย์ที่ส่วนกลางกับการกระจายอํานาจ (Centralization vs Decentralization) ไปสู่การให้อํานาจการตัดสินใจใน ประเด็นต่าง ๆ ไปยังระดับการตัดสินใจที่เหมาะสม นําไปสู่ระบบการบริหารจัดการแบบหลายศูนย์การตัดสินใจ (Polycentric Governanc
" เรื่องใดที่เป็นประเด็นระดับชุมชนก็ควรตัดสินใจควรให้ชุมชน ตัดสินใจเรื่องใดที่เป็นประเด็นระดับลุ่มน้ำก็ควรจะให้คณะกรรมการลุ่มน้ำตัดสินใจเรื่องใดที่เป็นประเด็นข้ามลุ่มน้ำระดับประเทศหรือระหว่างประเทศก็ควรให้คณะกรรมการระดับชาติและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจ"
ประการที่สาม การสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมาย อาจารย์ชล กล่าวว่า การเก็บค่าน้ำนั้นเป็นมาตรการทางเศรษฐศาสตรที่มุ่งบรรลุเป้าหมายเชิงประสิทธิภาพ แต่ในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาตินั้นยังมีเป้าหมายอื่น ๆ เช่น เป้าหมาย ด้านความเป็นธรรม เป้าหมายด้านความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบภายนอก และเป้าหมายอื่น ๆ อีก ฉะนั้นในการดําเนินนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรควรพิจารณาเป้าหมายต่าง ๆ ให้รอบด้านแม้ว่าจะมีเป้าหมายหลักที่ให้ความสําคัญก็ตาม และควรเลือกใช้มาตรการที่หลากหลายอย่างสอดคล้องเพื่อบรรลุ เป้าหมายที่ต้องการและไม่ขัดกับเป้าหมายอื่นที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักมากเกินไปนัก
ในส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายประการสุดท คือ การบูรณาการมิติเชิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในนโยบายเศรษฐกิจ และสังคม โดยอาจารย์ชล กล่าวว่า สภาวะความขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นและความกดดันด้านทรัพยากรน้ำที่จะเกิดขึ้นต่อไป ในอนาคตนั้นเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งในอดีตนั้นบูรณาการ มิติเชิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าไปไม่มากนัก ในสภาวะที่ทรัพยากธรรมชาติเริ่มขาดแคลนเช่นนี้ การบรูณาการมิติเชิงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในนโยบายเศรษฐกิจจึงมีความสําคัญมากกว่าช่วงเวลาในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำใหม่ฉบับนี้มีทั้งหมด 100 มาตรา ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบในหลักการเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 และแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายไปได้ 95 มาตราแล้ว ซึ่งภายหลังจากการทักท้วงในช่วงปลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้การสรุปผลการพิจารณาล่าช้า โดยคาดว่าจะทราบข้อสรุปได้ในปลายเดือนมกราคม 2561 นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำไมต้องมี "พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ" เป็นกฎหมายกลางของประเทศ
เวทีฟังความเห็นร่างกม.น้ำ ชี้ชัดใช้เพื่ออุตฯ-ท่องเที่ยว ต้องจ่ายเงิน
ปราโมทย์ ไม้กลัด’ หนุนร่าง กม.น้ำ ทั้งระบบ-ไม่เห็นด้วยรัฐฉายเดี่ยวบริหารจัดการ