logo isranews

logo small 2

เวทีฟังความเห็นร่างกม.น้ำ ชี้ชัดใช้เพื่ออุตฯ-ท่องเที่ยว ต้องจ่ายเงิน

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 11 ตุลาคม 2556 เวลา 11:35 น.
เขียนโดย
ณัฏฐพัชร์ ทัศนรุ่งเรือง

ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุชัด การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตร เลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ อุตฯ ท่องเที่ยว ผลิตไฟฟ้า ประปา และการใช้น้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ปริมาณมาก จะต้องจ่ายค่าใช้น้ำ

watelaw

 

วันที่ 11 ตุลาคม คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรน้ำในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. ....”  ณ โรงแรมทีเค พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงบทบาทสำคัญของคปก.คือการให้คำปรึกษาร่างกฎหมายแก่ภาคประชาชน โดยร่างฯฉบับนี้เป็นความริเริ่มขององค์กรภาคประชาชนที่เสนอให้คปก.จัดทำ โดยที่ผ่านมากระบวนการจัดทำกฎหมายของคปก.มีสองแนวทางคือ 1.การศึกษา ค้นคว้าทางวิชาการ 2.การรับฟังความเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยได้จัดรับฟังความคิดเห็นครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศแล้ว

ทั้งนี้พบประเด็นที่สำคัญคือ ทรัพยากรน้ำมีความสำคัญต่อคนทุกคน ไม่ควรถูกผูกขาดจากคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติอาจจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ประกอบกับปัจจุบันพบว่า การจัดการทรัพยากรน้ำยังคงมีปัญหาในหลายด้าน เช่น ปัญหาน้ำอุทกภัย ปัญหาน้ำขาดแคลน มลพิษทางน้ำ ความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ ปัญหาความขัดแย้งจากการแย่งชิงน้ำในฤดูแล้งและการระบายน้ำในช่วงอุทกภัย รวมไปถึงการสูญเสียความสมดุลของน้ำในระบบนิเวศทั้งแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน เป็นต้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

“ มาตรการจัดการน้ำกรณีที่เกิดภาวะวิกฤติจะต้องมีแผนก่อนโดยการจัดทำแผนควรมาจากระดับฐานรากตั้งแต่ระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ระดับลุ่มน้ำสาขา และระดับลุ่มน้ำ โดยมีแนวทางสำคัญคือ มองภาพวิกฤติน้ำท่วม น้ำแล้งต้องมองในระยะยาวโดยเน้นไปที่การป้องกัน การเชื่อมโยง และต้องมีแผนจัดการในระยะยาว อีกทั้งให้อำนาจเจ้าหน้าที่เป็นกรณีพิเศษในระยะชั่วคราวให้สามารถเข้าไปดำเนินการจัดการได้”

นายไพโรจน์ กล่าวว่า การจัดการน้ำที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยรัฐ แต่ในระยะ4 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ชุมชนเข้ามาจัดการเรื่องน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติปัญหาเรื่องน้ำ ดังนั้นการมีกฎหมายต้องตอบโจทย์การมีส่วนร่วม และควรอยู่บนหลักการที่สำคัญคือ 1.การให้สิทธิในการเข้าถึงเรื่องน้ำ 2.จัดระบบมาตรการบริหารต้องจัดการร่วมกัน 3.นำไปสู่การจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาภาพและสร้างความสมดุลกับระบบนิเวศน์ที่ดำรงอยู่ 4.มีมาตรการในการป้องกัน และหลีกหนีภาวะวิกฤติของน้ำ ตนเชื่อว่าหากมีหลักการเหล่านี้จะสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้ ในภาพรวมของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารองค์กร และเพิ่มบทบาทองค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำในประเทศไทย นอกจากการรับมือแล้ว ตนเชื่อว่าจะสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรน้ำมากขึ้น

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า น้ำเป็นของส่วนรวมเพียงแต่การจัดการน้ำควรอยู่ที่ใคร และจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำในรูปแบบใดเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน หลักการจึงควรวางหลักการพื้นฐานให้เป็นหลักประกันว่า น้ำประเภทใดบ้างที่จะต้องได้รับการดูแลก่อนหรือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะน้ำเพื่อการดำรงชีพ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อระบบนิเวศ และน้ำเพื่อจารีตประเพณี ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้ระบุชัดเจนว่ารัฐจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น กรณีมีโครงการทุกระดับรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างทั่วถึงและต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงมีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

“หากพิจารณาองค์กรจัดการน้ำจะมีอยู่ 4 ระดับ เราออกแบบว่าควรมีระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ ระดับลุ่มน้ำสาขา และระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้ง4  ระดับต้องทำงานเชื่อมโยงกัน ซึ่งมีประเด็นตามมาในเรื่องกองทุนน้ำ กฎหมายฉบับนี้ได้ออกแบบให้เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ส่วนแหล่งทุน จะมาจากภาษีเกี่ยวกับน้ำตามที่กำหมายกำหนด และส่วนหนึ่งจะมาจากเงินงบประมาณประจำปีหรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยกองทุนนี้มุ่งหมายให้ส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาและองค์กรผู้ใช้น้ำ  อีกทั้งสนับสนุนชุมชนในการร่วมพัฒนา ฟื้นฟู คุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ”

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดสรรน้ำ ซึ่งในร่างฯดังกล่าวได้กำหนดการแบ่งประเภทการจัดสรรน้ำออกเป็น 5 ประเภท คือ

1. การใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน

2.การใช้น้ำเพื่อการเกษตรรายย่อย การอุตสาหกรรมในครัวเรือน

3.การใช้น้ำเพื่อจารีตประเพณี รักษาระบบนิเวศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

4.การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่นตามที่กนช.กำหนด

5.การใช้น้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ 

ในร่างฯดังกล่าวระบุชัดว่า การใช้น้ำประเภทที่ 4 และ 5 จะต้องจ่ายค่าใช้น้ำ และได้กำหนดให้การออกใบอนุญาตอาจกำหนดเงื่อนไข เช่น เงื่อนไขในการปฏิบัติ ปริมาณน้ำสูงสุดที่อนุญาต ระยะเวลาที่จำเป็นแก่การควบคุมคุณภาพและปริมาณการใช้น้ำด้วย