กฎหมายไทยยังไม่ทันโลก ผอ.TIJ แนะเปิดทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพัฒนา
ผอ. สถาบันยุติธรรมไทย ยอมรับกฎหมายไทยยังไม่ทันสมัย แต่ไม่ใช่แค่บ้านเราที่เผชิญปัญหานี้ ย้ำกฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม เป็นเพียงเครืองมือ ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วม ลบความคิดเก่าแบบตั้งอนุกรรมการ เชื่อแก้ปัญหาไม่ได้
เมื่อวันที่ 11 ม.ค.61 ที่โรงแรมดุสิตธานี สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ สถาบัน IGLP แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) เปิดสัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในโอกาสจัด Workshops “หลักนิติธรรม” เพื่อนำไปสู่การต่อยอดแก้ไขปัญหาและผลักดันให้เกิดความยั่งยืนในทุกภาคส่วน
ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กล่าวว่า ในทุกสังคมเรื่องปัญหาของการมีกฎหมายที่ดีที่จัดสรรประโยน์ และการบังคับใช้ให้เกิดความยุติธรรมเป็นความท้าทาย ไทยมีประเด็นเรื่องนี้ที่วันนี้เราต้องการปฏิรูปตำรวจ และองค์กรต่างๆ ให้ดีขึ้น ในส่วนประเด็นกฎหมายไม่ทันเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เผชิญกับการเข้ามาของเทคโนโลยี (distruptive technology) กรณีอย่าง อูเบอร์ (Uber) ซึ่งระบบวิธีคิดเดิมที่แท็กซี่ต้องมาจดทะเบียนกับรัฐ แต่แนวคิดโลกใหม่ที่จะมีการเข้าถึงผู้ใช้บริการได้โดยตรง ดังนั้นถ้ากฎหมายตามไม่ทัน และรัฐจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร แท็กซี่เก่าก็มีปัญหา แต่ถ้ารัฐปกป้องมากไปนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ย่อมไม่เกิด ถ้าส่งเสริมนวัตกรรมมากไป ก็อาจไม่เป็นธรรมกับคนเดิมที่ประกอบวิชาชีพ นี่คือตัวอย่างเดียว ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว กระบวนการในการพัฒนากฎหมายทุกประเทศต้องพัฒนาตามไปด้วย
“ปีที่เเล้วเรามีอบรมหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้นการเอาคนในแต่ละวงการมาร่วมกัน รู้จักกัน ไม่ใช่แค่ตั้งอนุกรรมการมาแก้ปัญหาแบบที่ประเทศไทยชอบทำ ซึ่งไม่มีทางแก้ไขได้ ยกตัวอย่าง เราทำการอบรมแล้วเชิญผู้พิพากษา อัยการ และเชิญผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีมาคุยกันว่า เราจะรับมือเทคโนโลยีอย่างไร สร้างพื้นที่พูดคุย เปลี่ยนวิธีคิดวิธีดำเนินการ เพราะการควบคุมแบบเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ในที่สุดนำไปสู่การแก้ปัญหาจากนักกฎหมายมากกว่าแค่เอานโยบายมาแล้วตั้งอนุกรรมการมาแก้ปัญหา” ผอ. TIJ กล่าว
ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กล่าวถึงหลักนิติธรรม ปัญหาบ้านเราคืออะไร เราต้องตีความระหว่าง Rule of Law กับ Rule by Law ซึ่งอันแรกคือ หลักนิติธรรม ขณะที่อันที่สองคือกฎแห่งอำนาจ หมายถึงว่าออกกฎหมายมาทุกคนต้องทำตาม ซึ่งอันนั้นไม่ใช่ความหมายของหลักนิติธรรม ดังนั้นเมื่อพูดเรื่องหลักนิติธรรมต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แล้วทุกคนต้องทำตาม เพราะกฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรมในตัวของมันเอง กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการนำสังคมไปสู่ความยุติธรรม การที่สังคมจะเกิดความเป็นธรรม การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ กฎหมายต้องมีคุณค่าของมัน ดังนั้นกระบวนการออกกฎหมายที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ก็เป็นเรื่องที่เราต้องคิดว่า สังคมกระบวนการออกกฎหมายที่ดีทำได้อย่างไร ทำโดยหน่วยงานราชการอย่างเดียวไหม หรือต้องมีระบบอย่างไร
ผอ. TIJ กล่าวต่อว่า เรื่องการนำกฎหมายไปปฏิบัติ การใช้กฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน่วยงานตำรวจ อัยการ ศาล เกี่ยวข้องวันนี้เราพอใจแล้วหรือไม่ คนเหล่านี้ต้องมีจิตใจ "นักยุติธรรม" ไม่ใช่ "นักกฎหมาย" เพราะกฎหมายมีเรื่องคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องการคุ้มครองสิทธิ
"ในสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมายใช้กับทุกคนไม่ใช่เลือกบุคคลตัวเล็กๆ จะนำไปสู่วัฒนธรรมการเคารพกติกา ทุกคนในประเทศจะจับตาการออกกฎหมาย เพราะรู้ว่าเมื่อออกมาแล้วทุกคนจะต้องปฏิบัติ แต่ว่าหากสังคมใดที่กฎหมายเลือกปฏิบัติ คนบางกลุ่มก็จะรู้สึกว่าสบาย ไม่โดนแน่นอน ไม่ต้องทำตาม ดังนั้นความสนใจในการเคารพกติกาก็ไม่เกิด ในบริบทของไทยต้องการความเข้าใจหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างการเคารพ"
ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ( SDGs) ปี 2030 ระบุว่าต้องไม่มีใครถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง โดยเฉพาะในข้อที่ 16 ที่ให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม ให้ความสำคัญว่าเป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาของเป้าหมายอื่นๆ ทุกเป้าหมาย หลักนิติธรรมต้องดีก่อน หมายความว่าสังคมที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องให้ทุกฝ่ายพัฒนาไปด้วยกัน ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ ชี้ว่า ความหมายของความยุติธรรมตามแนวคิดนามธรรมย่อมไม่เท่ากับเราวัดความยุติธรรมในสังคม เช่น จากความเหลื่อมล้ำ จากโอกาสของคนที่ไม่เท่ากันที่ไม่ว่าจะขยันอย่างไรก็ไม่มีโอกาสทำให้ตัวเองดีขึ้นได้ นั่นคือความไม่ยุติธรรม ดังนั้นกฎหมายต้องเปิดโอกาสให้คนได้พัฒนาตัวเอง ทั้งโอกาสในการศึกษา และโอกาสในการรับการพัฒนาด้านอื่นๆ จากสังคมที่ตัวเองอยู่ ถ้าปัญหาพวกนี้ไม่ได้รับการแก้ไข ความยุติธรรมจริงๆ ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้
อ่านประกอบ
ยกระดับระบบยุติธรรม 'ชัชชาติ' ชี้ไทยยังขาดนักกฎหมายที่ทันโลก เข้าใจเทคโนโลยี
สร้างนักกฎหมายอย่างไรให้เข้าใจสภาพเศรษฐกิจ สังคม สมัยใหม่ ?