สร้างนักกฎหมายอย่างไรให้เข้าใจสภาพเศรษฐกิจ สังคม สมัยใหม่ ?
ปรับหลักสูตรนิติศาสตร์ สร้างนักกฎหมายที่เข้าใจสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเข้าใจโลก อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. ชี้ปัญหาระบบการเรียนการสอนต้องเปลี่ยน วัดผลด้วยการจำไปสอบอย่างเดียวไม่พอต้องเน้นการลงมือ สังเกตการใช้งานกฎหมายจริงๆ
ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งถึงระบบการปรับหลักสูตรนิติศาสตร์เพื่อให้ตามทันเทคโนโลยี ในงานสัมมนาวิชาการ“การสรรค์สร้างนักนิติศาสตร์รุ่นใหม่สู่สังคมไทยและสังคมโลก” เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ว่า เรื่องที่จะทำให้กฎหมายเป็นธรรม สอดคล้องกับเศรษฐกิจการเมือง เป็นหน้าที่ของนิติบัญญัติที่จะทำหน้าที่ออกกฎหมาย ทำให้เร็ว อะไรที่ล้าหลัง ต้องไปแก้ แต่บังเอิญว่า ร่างกฎหมายที่เสนอเข้าไปที่ออกมาช่วงปีที่ผ่านมาเป็นร่างเก่าทั้งนั้นเลย เพราะกระบวนการในการออกกฎหมายไปไม่ถึง เราไม่มีการออกกฎหมายในลักษณะที่ว่า มีความจำเป็นปีนี้ ไปออกให้เสร็จภายในปีสองปี ตรงนี้ยังไม่มี เลยทำให้กฎหมายที่ออกมาล้าสมัย
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวถึงบทบาทของสถาบันที่จัดการเรียนการสอนด้านกฎหมาย การเรียนการสอนปัจจุบันในชั้นปริญญาตรีที่สอนกัน 140 หน่วยกิต มองว่า มากเกินไป เรียน 120 หน่วยกิตเพียงพอแล้ว โดยแบ่งวิชาพื้นฐาน 30 หน่วย ส่วนวิชาแกนลดลงเหลือ 84 หน่วยกิต ถ้าเรียนกฎหมายแพ่ง ก็เรียนทฤษฎีภาพรวมไป ถ้าเจาะลึกลงไปแยกสาขา ฝึกภาคปฏิบัติ คุณธรรมจริยธรรม และให้แต่ละคณะ ภาควิชาไปออกแบบเองว่า จะเน้นอะไร
“การจัดการเรียนการหลักสูตรนิติศาสตร์ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันร่างงานวิจัยและข้อเสนอได้อยู่ที่ฝ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว อยู่ในกระบวนการที่คณะกรรมการ สกอ. จะเรียกคณะทำงานไปคุยว่า เป็นอย่างไรบ้าง” ศ.ณรงค์ กล่าว และว่า ตอนทำข้อมูลการเรียนการสอนซึ่งมีทั้งระบบเปิดกับระบบปิด ระบบเปิดมีเป้าหมายผลิตบัญฑิตไม่เหมือนระบบปิด คือมีนโยบายในคนรู้กฎหมายเพื่อให้ไปทำงานในส่วนต่างๆ แต่ถ้าเป็นระบบปิดจะพัฒนาเพื่อให้คนไปเข้าสู่วิชาชีพด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น นิติกร ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา น้อยคนที่จะมานั่งเป็นอาจารย์ในสายวิชาการ
ฉะนั้นในตัวหลักสูตร ถ้าย้อนกลับไป อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. มองว่า กฎหมายที่เกี่ยวเทคโนโลยี ไม่มี เรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มี มีกฎหมายที่เรียนกันแค่ สี่ฉบับ คือ เเพ่ง อาญา วิแพ่ง วิอาญา แน่นอนว่าปัจจุบันเราเรียนแค่แพ่งอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้าเกิดจะให้ ป.ตรีเรียนซึ่งมีเวลาแค่สามปี ในสามปีถ้าจะให้นักศึกษาหรือคนที่เรียนกฎหมายเบื้องต้น ได้รู้หลักในภาพใหญ่ แล้วรู้ลึกในเรื่องนั้นๆ เป็นโจทย์ในการปรับปรุงหลักสูตร ในเมื่อให้เวลาสามปีเพื่อไปต่อยอด 140 หน่วยกิตที่เรียน เราอยากให้เขารู้ภาพใหญ่
“ถ้าเกิดให้นักศึกษาเรียนสามปีแล้วรู้ทุกเรื่อง เวลาไม่พอ หลักสูตรเลยบอกว่าเรียนภาพรวม ถ้าจะลงรายละเอียดก็เลือกเอา นักศึกษานิติศาสตร์จะมีความรู้ในภาพใหญ่ ในขณะเดียวกัน มีเวลาที่ลงลึกไป ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าอาจารย์ที่บริหารสถาบัน ต้องแนะนำนักศึกษาใหม่ด้วย”
ศาสตราจารย์ณรงค์ กล่าวถึงความพยายามในการพัฒนาหลักสูตรในปัจจุบันเราพยายามทำให้รู้ในภาพรวม เจาะลึกในบางเรื่อง เนื่องจากเวลามีเพียงสามปี ปัญหาคือว่า วิธีการสอนของนักกฎหมายบ้านเรา เน้นให้รู้พื้นฐาน วัดผลด้วยการปรับใช้ ดังนั้นคนที่จบนิติศาสตร์ ถ้าไปเรียนต่อที่เนติบัญฑิต หรือทนายต่างๆ ก็จะมีความแม่นจำในหลักกฎหมายการตีความต่างๆ แต่ถ้าเราเอานักกฎหมายที่วิเคราะห์ว่า กฎหมายที่ใช้อยู่ตอนนี้ ถ้านำไปใช้ในทางสังคม ความเป็นจริง จะเกิดปัญหา เกิดความเป็นธรรมหรือไม่ บางมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรให้นักศึกษาใช้เวลานอกห้องเรียนไปศึกษา
“การเรียนไม่จำเป็นต้องฟังบรรยายอย่างเดียว การเรียนแบบตีความคือสิ่งที่เราพยายามชู เพราะว่า การใช้กฎหมายที่เป็นธรรมให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ต้องได้เห็นของจริง เราจึงจะเห็นว่า กฎหมายที่ควรจะปรับแก้เป็นอย่างไรบ้าง แต่ว่าในศักยภาพในฐานะคนที่เพิ่งเรียนกฎหมาย ไม่สามารถแก้กฎหมายได้ แต่จะเป็นตัวสะท้อนว่า กฎหมายที่ใช้อยู่ในตอนนี้ ผู้บังคับใช้กฎหมายอาจมองไม่เห็น แต่เมื่อนักศึกษาทำวิจัยก็จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนได้”
ศ.ณรงค์ กล่าวว่า ในแง่การพัฒนาหลักสูตร เราต้องการสร้างนักกฎหมายมีความรู้เชิงลึกในแต่ละสาขา เป็นตัวพื้นฐานว่า ถ้าจะต่อป.โทหรือป.เอก ก็จะลงลึกไปอีก ซึ่งอาจเป็นข้อเสนอในการวิเคราะห์ แก้กฎหมาย นอกจากนี้จะทำอย่างไรให้สร้างจริยธรรม คุณธรรม มาใช้กับนักกฎหมาย เพราะพวกเขาสามารถนำช่องว่างบางอย่างในใช้กับลูกความของตัวเองได้ ดังนั้นการสร้างความตระหนักส่วนนี้จึงจำเป็น
ในส่วนเวลาเราวัดผลนักศึกษา อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เราวัดผลโดยในคนคนนี้เขียนตอบว่า จำหรือปรับใช้ได้ แต่ไม่มีกลไกให้ทำงานร่วมกัน หรือสร้างผลงานร่วมกัน กระบวนการเรียนการสอนต้องปรับ ไม่ใช่ฟังแลคเชอร์ อ่านหนังสือ แล้วมาตอบ แต่ต้องมีกระบวนการทำงานแบบกลุ่ม เพราะนักกฎหมายเมื่อออกไป มีปัญหามากในการทำงานร่วมกัน
"ส่วนปัญหานักกฎหมายไม่คุ้นกับเทคโนโลยีไม่คุ้น เพราะกฎหมายไม่ตอบโจทย์ในเรื่องเทคโนโลยี ยังมีกฎหมายหลายอันไม่สามารถรองรับได้ ประเด็นที่สองเรื่องภาษา ถ้าให้วัดเรื่องภาษาอังกฎษ นักกฎหมายที่เก่งอังกฤษมีจำนวนน้อย เพราะเราไม่สอนไม่ได้เน้น"
สำหรับความท้าทายอีกอย่างที่ ศ.ณรงค์ กล่าวถึงคือ ถ้าเราผลิตบัณฑิตป.ตรีไปแล้ว ถ้าเราดีไซน์ให้เรียนลึกมากขึ้น อาจารย์ของเราจะสอนกฎหมายแบบเดิมไม่ได้ เรามีคนที่จบต่างประเทศเยอะมาก สิ่งที่ต้องขยับกันไปต้องมีเครือข่ายนักวิชาการนิติศาสตร์สร้างตำราวิเคราะห์กฎหมาย ข้อท้ายที่สอง วิธีการวัดผลอาจไม่ใช่แค่การสอบอย่างเดียว ส่วนสุดท้ายที่ทางมหาวิทยาลัยยังตอบไม่ได้ คือการทำวิจัยเพื่อการชี้ให้เห็นปัญหาใช้กฎหมาย ผลงานวิจัยต้องขอผู้บริหารบ้านเมืองเอาไปปรับจริงๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของประเทศไทย
อ่านประกอบ: ยกระดับระบบยุติธรรม 'ชัชชาติ' ชี้ไทยยังขาดนักกฎหมายที่ทันโลก เข้าใจเทคโนโลยี