กลุ่ม FOR ชี้สุ่มเสี่ยงทุจริต 8 พันล.ทางเลียบเจ้าพระยา หลังผู้ว่าฯกทม.เตรียมประกวดราคา
สุ่มเสี่ยงทุจริต 8 พันล้าน โครงการทางเลียบเจ้าพระยา "ยศพล" ตั้งข้อสังเกต หลังผู้ว่าฯ อัศวินประกาศเดินหน้าประกวดราคา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีมติครม.อนุมัติสร้าง
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 60 ในเวทีเสวนาเรื่อง “แม่น้ำเจ้าพระยาของเรา จะเอายังไงกันดี?” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย Friends Of The River และสมัชชาแม่น้ำ
นายยศพล บุญสม สปานิกและผู้ก่อตั้งกลุ่ม Friends of the River (FOR) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาว่า กรณีล่าสุดที่มีข่าวออกมาว่า ทางพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยความคืบหน้าของโครงการว่าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคาแล้วนั้น เป็นที่น่าสนใจว่าทำไมกรุงเทพฯมีอำนาจในการจัดทำขั้นตอนนี้แล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีมติจากคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติก่อสร้างเลย การเร่งดำเนินการในส่วนนี้ไปก่อนนั้นส่อในทางทุจริต อันหมายถึงเงิน 8,000 ล้านบาทของโครงการฯ
"ประเด็นคือว่าถ้าเกิดการประมูล แบบงานวิจัยผลการศึกษายังไม่มีข้อยุติในเชิงข้อมูลทางวิชาการและกระบวนการรับฟังความเห็นยังไม่เรียบร้อย รวมถึงข้อกฎหมายหลายตัวที่ยังไม่อนุญาตให้กทม.สร้างโครงการนี้ลงในแม่น้ำได้นั้น ค่อนข้างชี้ชัดว่าโครงการฯนี้จะเป็นไปเพื่ออะไร” นายยศพล กล่าว และว่า ตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมาทางภาคประสังคมมีความพยายามที่จะเสนอทางเลือกมากมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและตรงโจทย์มากขึ้น แต่รัฐกลับยืนยันที่เดินหน้าตามโครงสร้างเดิมที่วาดไว้ เพราะเรื่องนี้ไปผูกพันกับงบรับเหมา ก็น่าสงสัยว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเป็นไปเพื่อการใดกันแน่ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าทั้ง 4 ช่วงของโครงการฯใครจะได้งานไป
“ไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะต้องเอาเงิน8 พันล้านเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในแม่น้ำ แต่สมมติว่าเอาเงินนี้มาพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อมเมืองแบบนี้น่าจะตรงโจทย์การพัฒนามากกว่า แต่กลับไม่ทำ”
นายยศพล เผยถึงกรณีเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองว่า ตอนนี้คำร้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ทางทนายให้ความเห็นว่า ตอนนี้รัฐยังไม่มีคำสั่งในเชิงปกครองดังนั้นการยื่นฟ้องในตอนนี้ยังไม่สามารถทำได้ จะทำได้แค่เพียงข้อผลการศึกษาที่ยังไม่นับไปสู่ความเสียหาย แต่หากข่าวที่ออกมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม เป็นจริงว่าผู้ว่าฯเดินหน้าประมูลประกวดราคา อันนี้ก็ชัดว่ามีคำสั่งเชิงปกครอง แต่ก็ยังสงสัยว่าจะประมูลได้อย่างไรในเมื่อ ครม.ยังไม่อนุมัติ แต่อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะใช้ช่องคำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 ให้ใช้มาตรา 44 เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยที่ไม่ต้องรอผลรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ให้แล้วเสร็จซึ่งเขาอาจใช้ตรงนี้ก็ได้
นายยศพล กล่าวถึงหน่วยงานที่กำกับดูเเลไม่ว่าจะเป็นกรมเจ้าท่า คณะกรรมการกรุงฯ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังไม่ให้โครงการนี้ผ่านเนื่องจากมีข้อท้วงติงเยอะ ซึ่งก็คิดว่าถ้ารัฐมีกลไกที่ดี รับฟังข้อมูล โครงการนี้ไม่น่าจะเดินได้ แต่อย่าลืมว่า มีอำนาจพิเศษอย่างม.44 และคำสั่งต่างๆ ที่อาจช่วยให้โครงการเดินหน้าโดยไม่ต้องฟังข้อท้วงติงเลย ขณะเดียวกันกทม.ก็ยืนยันว่าคนสว่นใหญ่เห็นด้วย ซึ่งถ้าออกมาสุดท้ายมีการก่อสร้างจริง ก็จะกลายเป็นใบเสร็จให้สังคมว่ากลไกบกพร่อง มีเรื่องความสุ่มเสี่ยงเรื่องทุจริตที่นำมาสู่การก่อสร้างโครงการนี้
ด้านผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า องค์กร World Monuments Watch ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ทรงคุณค่าที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษได้เรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่แสดงความเห็นของทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียและต้องไม่มีการก่อสร้างใดๆลงในแม่น้ำก่อนที่จะมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนก่อนหรือการออกแบบดีไซน์พื้นที่ให้เหมาะสมกับบริบทเช่นการอาจปรับเป็นสวนลอยน้ำทางเดินลอยน้ำพร้อมทั้งพัฒนาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเปิดโอกาสให้ชุมชนที่ก่อตั้งมานานแล้วสามารถใช้โอกาสตรงนี้เพื่อจัดตั้งความเป็นชุมชนอย่างถูกกฎหมายก่อนที่จะเปลี่ยนราชาแห่งแม่น้ำแห่งนี้โปรเจ็คนี้จำเป็นต้องหยุดและกลับมาคิดใหม่
อ่านประกอบ
แม่น้ำเจ้าพระยาถูกขึ้นทะเบียน1ใน28 โลก พื้นที่เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ห่วงทางเลียบทำลาย
พื้นที่ริมเจ้าพระยาพัฒนาได้ 'ไกรศักดิ์' แนะต้องดูบริบทให้เข้ากับชุมชน
นับถอยหลัง ก่อนเสาต้นแรกปักลงแม่น้ำเจ้าพระยา
จากทางเลียบเจ้าพระยา ถึง 3 ปีคสช. รัฐเข้าใจการมีส่วนร่วม = “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม”