อยากรู้ทุจริตดูตรงไหน? เคล็ดลับตรวจทรัพย์สิน-นาฬิกาหรูนักการเมืองฉบับ'ชาญชัย'
"...ส่วนกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร นั้น อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ รายนี้ ระบุว่า ถ้าหากว่าลืมแจ้งจริงๆ เขาก็สามารถไปแจ้งกับ ป.ป.ช.ได้ แต่ต้องแจ้งความเป็นมาของทรัพย์สินและนาฬิกาด้วยว่ามาจากอะไร ซึ่งมองว่าอาจจะลำบาก เพราะว่าทรัพย์สิน พล.อ.ประวิตรนั้นมีเยอะ และมูลค่าก็เยอะตามไปด้วย หรือถ้า พล.อ.ประวิตรมีรายได้ปีละ 10 ล้าน ก็อาจจะชี้แจงได้สะดวกขึ้นมาบ้าง..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอข้อมูลการเสียภาษีใน ภงด.91 และ ภงด. 90 ของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเปรียบเทียบรายได้ที่ พล.อ.ประวิตรได้ยื่นกับกรมสรรพากรและรายได้ที่ พล.อ.ประวิตรได้แจ้งให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังเกิดกรณีป.ป.ช.เรียกให้พล.อ.ประวิตร ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มานาฬิกาหรูและแหวนเพชร ที่สวมใส่ระหว่างการถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ ครม.ประยุทธ์ 5 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ยันมีบุคคลที่3เกี่ยวข้อง! เลขาฯป.ป.ช.ปัดตอบ'บิ๊กป้อม'แจงที่มานาฬิกาหรูของเพื่อนหรือไม่)
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ถึงวิธีการดูบัญชีทรัพย์สินกับการตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินของนักการเมืองที่แจ้งไว้กับป.ป.ช.
โดย นายชาญชัย ระบุว่า สิ่งสำคัญคือการตรวจสอบงบดุลทั้ง 3 ปีหรือในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งย้อนหลังของนักการเมือง ว่ามีความสัมพันธ์กันกับตัวเลขทรัพย์สินในบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ นอกจากนี้จะมีเรื่องของตัวเลขที่โผล่ขึ้นมาทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่าย ถ้าหากเปิดรายละเอียดแล้วเห็นว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมา ต้องตั้งโจทย์เลยว่าเอารายได้จากไหนไปซื้อทรัพย์สินนั้น สรุป ก็คือต้องมีรายได้เพียงพอ จึงจะมาซื้อสิ่งนั้นได้
"ยกตัวอย่างเช่นผมมีรถยนต์คันละ 5 ล้านบาท ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมาแล้วผมเอาเงินมาจากไหน มีรายได้จากไหน ถ้าผมมีรายได้แค่ปีละ 2 ล้านบาท แต่ผมซื้อรถเงินสด 5 ล้านบาท ตรงนี้ก็เป็นข้อสังเกตหนึ่งแล้วว่ารายได้นั้นเกิดจากตรงไหน ทำไมถึงซื้อได้’
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า เรื่องการดูทรัพย์สินนั้นถ้าหากว่าระบุราคาว่าเป็นของใหม่ก็จะดูง่าย แต่ถ้าหากทรัพย์สินนั้นเป็นของเก่า อาทิ โฉนดที่ดิน กรณีนี้ต้องดูว่าที่ดินมีแค่แปลงเดียวนั้นมีการแบ่งขายหรือว่ามีจำนวนเท่าเดิม ซึ่งการตีราคาของทรัพย์สินประเภทที่ดินก็จะไม่เหมือนกัน เพราะบางคนนั้นตีราคาจากตลาด บางคนก็ตีราคาจากการประเมินที่ดิน
ส่วนกรณีอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ต้องดูที่ตีราคาและตีว่าตารางเมตรละเท่าไร ผู้ยื่นก็จะส่งข้อมูลไปให้กับ ป.ป.ช.
นายชาญชัย ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นเรื่องทรัพย์สินขนาดเล็ก เช่น นาฬิกามีกี่เรื่อน พระมีกี่เรือน ผู้ที่ดูทรัพย์สินควรจะเทียบเคียงว่าทรัพย์เหล่านี้นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปเท่าไรบ้าง ตามช่วงเวลาที่เข้าและออกจากตำแหน่งทางการเมือง และต้องเทียบกับช่วงเวลาที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วหนึ่งปีด้วย
"อยากให้ดูที่ข้อมูลของหนี้สินประกอบกับทรัพย์สินควบคู่กันไปในแต่ละระยะเวลา สมมติว่าหนี้สินลดลง แต่ทรัพย์สินไม่ลด ตรงนี้ก็เป็นอีกข้อสังเกตหนึ่งว่าเอาเงินที่ไหนมาจ่ายชำระหนี้ ถ้าหากพบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินถึงลดลงไป ก็ต้องไปตามอีกว่าการเสียภาษีนั้น มีเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ และถ้าหากว่ามีหนี้เพิ่มขึ้นมา พร้อมกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องไปดูหนังสือกู้ยืมเงินธนาคารมาเป็นส่วนประกอบว่ามีหรือไม่ ถ้ามีก็จะเป็นรายได้ที่มาจากเงินกู้ยืมธนาคารหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เพิ่มขึ้น"
นายชาญชัย ยังระบุว่า ผู้ที่ไปตรวจข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ควรจะยึดเอาตัวรายได้ที่มีการแจ้งในเอกสาร ภงด.90 และใน ภงด.91 เป็นหลัก เพราะจะมีความยึดโยงกับสิ่งที่แจ้งต่อสรรพากร และน่าเชื่อถือมากกว่ารายได้ที่ถูกกรอกลงไปในเอกสารของ ป.ป.ช. ส่วนมรดกนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่น่าจะมีเอกสารยืนยันการได้รับมรดกนั้นอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงกรณีการมีพอร์ตหุ้นลงทุน นายชาญชัย ระบุว่า "ถ้าหากมีพอร์ตหุ้นแสดงในการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ผู้ที่แจ้งจะต้องแจ้งด้วยว่ามีเงินปันผลจากพอร์ตหุ้นนั้นเท่าไร มิฉะนั้น ป.ป.ช.ก็ควรจะเข้าไปดำเนินการสอบสวน เพราะน่าจะเข้าข่ายการแจ้งทรัพย์สินเท็จ และผู้ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินก็จะต้องนำใบปันผลหุ้นมาแสดงด้วยพร้อมกับเอกสารการเสียภาษีรายได้ที่มาจากเงินปันผลนั้น ถ้าหากไม่มีก็อาจจะเข้าข่ายหลบเลี่ยง ต้องไปเสียภาษีให้ถูกต้อง"
ส่วนทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์นั้น นายชาญชัย เห็นว่า อสังหาริมทรัพย์ใดที่มีมูลค่าเกิน 2 แสนบาทนั้น ผู้ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินก็ต้องแจ้งให้กับ ป.ป.ช.ทราบว่ามีอะไรบ้าง ตั้งแต่นาฬิกา พระ แหวน ทองคำ ไปจนถึงเครื่องประดับ เพราะมิฉะนั้นหากเกิดกรณีมีทองเพิ่มขึ้นมา สังคมก็จะไม่รู้เลยว่ามีการเอาเงินไปฟอกเป็นทอง เป็นพระหรือไม่ และในทางกลับกันถ้าไม่แจ้งสังหาริมทรัพย์ให้ชัดเจน แล้วมีการไปขายแหวนเพชรไป ขายทองไป ขายพระไป แบบนี้ถือเป็นวิธีหนึ่งของการฟอกเงินที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำ และในเรื่องการขายอสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ให้ใครนั้น ก็จะต้องแสดงใบเสร็จด้วยว่าขายให้ใคร เป็นเงินจำนวนเท่าไร
เมื่อถามถึงกรณีที่นักการเมืองจะมีการพลาดในเรื่องของการแสดงบัญชีทรัพย์สินแบบไม่ได้ตั้งใจบ้างหรือไม่ นายชาญชัยกล่าวว่า "ก็มี แต่การพลาดของนักการเมืองถ้าสุจริตนั้นส่วนมากจะพลาดในเรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินแค่ครั้งสองครั้งโดยอาจจะลืม แต่ไม่ใช่ว่าลืมแจ้งทุกครั้ง"
"อย่างกรณีผมก็เคยทำโฉนดแปลงหนึ่งหายไป แล้วไม่รู้ และก็มีการทักท้วงเกิดขึ้น ผมก็ไปตามดู พบว่าโฉนดแปลงนั้น นำไปค้ำประกันกับทางธนาคาร ก็ต้องรีบไปแจ้งบัญชีทรัพย์สินกับทาง ป.ป.ช. แล้วครั้งต่อไป ก็ต้องรีบไปแจ้งทันที เพื่อแสดงเจตนาว่าไม่ได้หลบเลี่ยง"
ส่วนกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร นั้น อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ รายนี้ ระบุว่า "ถ้าหากว่าลืมแจ้งจริงๆ เขาก็สามารถไปแจ้งกับ ป.ป.ช.ได้ แต่ต้องแจ้งความเป็นมาของทรัพย์สินและนาฬิกาด้วยว่ามาจากอะไร ซึ่งมองว่าอาจจะลำบาก เพราะว่าทรัพย์สิน พล.อ.ประวิตรนั้นมีเยอะ และมูลค่าก็เยอะตามไปด้วย หรือถ้า พล.อ.ประวิตรมีรายได้ปีละ 10 ล้าน ก็อาจจะชี้แจงได้สะดวกขึ้นมาบ้าง"
เมื่อถามว่ากรณีที่เจ้าของบัญชีทรัพย์สินมีเงินให้ผู้อื่นไปกู้ยืมนั้น จะต้องแสดงหลักฐานอะไรบ้าง นายชาญชัยกล่าวว่า "ก็ต้องแสดง และต้องแสดงด้วยว่าเอาเงินจากบัญชีไหนไปให้เขากู้ ที่มาของเงินให้กู้นั้นมาจากไหน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถ้าหากกระทำในช่วงดำรงตำแหน่ง ตอนออกจากตำแหน่งก็จะต้องชี้แจงให้ชัดเจน ถ้าหากทำไม่ได้ ป.ป.ช.ก็ควรจะเข้าไปตรวจสอบอีกเช่นกัน"
อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ รายนี้ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า สรุปแล้วเรื่องการดูบัญชีทรัพย์สินนั้นหัวใจสำคัญก็จะอยู่ที่การมาคำนวณโดยยึดโยงจากรายได้เป็นสำคัญ โดยดูความสัมพันธ์กับทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นหรือทรัพย์สินที่หายไป เพราะว่าขายทรัพย์สินนั้นได้เงิน ก็ถือว่าเป็นรายได้ ทั้งนี้รายได้ที่แจ้งไว้กับทาง ป.ป.ช. กับ รายได้ใน ภงด. 91 นั้น ถ้าหากมีความแตกต่างกัน อยู่ในระดับหลักหมื่นหรือหลักแสนบาท เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ทาง ป.ป.ช.จะเข้ามาสนใจตรวจสอบ
แต่ถ้าหาก รายได้ที่แจ้งไว้กับทาง ป.ป.ช. มีความแตกต่างจาก รายได้ใน ภ.ง.ด.91 อยู่ในระดับถึงล้านบาทขึ้นไป กรณีดังกล่าวนี้ เห็นว่า ป.ป.ช.น่าจะเข้ามาตรวจสอบได้แล้ว
อ่านประกอบ:
ผ่าบัญชีทรัพย์สิน พล.อ.ประวิตร รวยขึ้น 30.5 ล.- เงินลงทุนพุ่ง ก่อนปมนาฬิกาหรู