ภาคประชาสังคมขอของขวัญปีใหม่หวังรัฐบาลดัน ศก.พอเพียงเป็นระบบเศรษฐกิจหลักชาติ
ปี 2561 ภาคประชาสังคมหวังรัฐบาลนำพาชาติเป็นประเทศปลอดคอร์รัปชัน เดินหน้าเศรษฐกิจพอเพียงจริงจัง ทบทวนยุทธศาสตร์จัดการแร่ 20 ปี กระจายถือครองที่ดินเป็นธรรม แก้ปัญหาคนอาศัยในป่าในรูปแบบรับรองสิทธิชุมชน
วันที่ 22 ธ.ค. 2560 โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ร่วมกับเครือข่ายประชาชน จัดสัมมนา เวทีประชาชน “สวัสดีปีใหม่ 2561 กับสังคมใหม่ที่ประชาชนไทยต้องการ” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว ประธานโครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของโครงการฯ พบว่า 10 เรื่องที่ประชาชนอยากให้สังคมไทยเป็นในปี 2561 คือ 1.ปีที่มีการปฏิรูปประเทศตามลำดับความสำคัญของสังคม 2.ปีที่มีการทำมาหากินยั่งยืนอย่างพอเพียง 3. ปีที่มีการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด 4.ปีที่มีการปรองดอง 5.ปีที่ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน และไร้ยาเสพติด 6.ปีที่มีการปฏิรูประบบการศึกษา 7. ปีที่มีการพัฒนาด้านเกษตรกรรม สาธารณสุข และระบบราชการ 8.ปีที่มีการเชิดชูคนดี 9.ปีที่มีการยิ้มให้กัน และ 10.ปีที่มีการแบ่งปัน
“ข้อเรียกร้องต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้บริหารประเทศสามารถนำมาสร้างเป็นนโยบายหลักของชาติได้ โดยการคัดเลือกคนดี ที่มีความสามารถมองการณ์ไกลมาเป็นตัวแทนของไทย ทำหน้าที่บริหารประเทศ ช่วยกันยึดมั่นในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเผื่อหากแน่นแฟ้น จะยึดจิตใจของพวกเราทุกคนเดินทางไปในทิศทางเดียวกันภายใต้สังคม ‘ธรรมาธิปไตย’ ที่จะเป็นสิ่งใหม่ และเราต้องการให้เกิดขึ้นในปี 2561” ประธานโครงการสร้างคนดีฯ กล่าว
ด้านน.ส.สมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครเพื่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ของขวัญที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐบาลในปี 2561 เรียกร้องไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.)นายลักษณ์ วจนานวัช และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.กษ. เร่งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง โดยสถาปนาระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ
“อีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน ฉะนั้นประเทศใดที่ผลิตอาหารได้ ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันพบว่า พื้นที่เพาะปลูกลดลง ฉะนั้นไทยควรส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง และกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งที่ขาด คือ อำนาจของตนเองในการพัฒนา” อาสาสมัครเพื่อมนุษยธรรมฯ กล่าว และว่า พื้นที่เหมืองแร่ นิคมอุตสาหกรรม ไม่ควรขยายอีกแล้ว แต่ควรรักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่เหลืออยู่ไว้ และส่งเสริมในการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งนี้ เชื่อว่า หากนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.กษ. ดำเนินนโยบายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเรื่องเดียวจนประสบความสำเร็จ เชื่อว่า สังคมไทยจะได้รับประโยชน์ไปอีกนาน
น.ส.สมลักษณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลควรทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-64 ยกเลิกคำสั่งให้ประชาชนที่ยากจนถอดรองเท้าและเมื่อเข้าสู่ห้องพิจารณาคดีเนื่องจากขัดหลักรัฐธรรมนูญ รวมถึงยกเลิกการเพิ่มภาระค่าถ่ายเอกสารเกินราคาตลาดในพื้นที่ศาลยุติธรรม และให้แยกศาลคดีสาธารณะหรือคดีฟ้องเพื่อหน่วงเหนี่ยวการตรวจสอบออกจากศาลทั่วไป พร้อมให้ศาลเดินเผชิญสืบ
“ศาลต้องแยกคดีสาธารณะหรือคดีฟ้องเพื่อหน่วงเหนี่ยวออกจากศาลทั่วไป เพราะคดีเหล่านี้ค่อนข้างซับซ้อน และต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีความรอบรู้เฉพาะทางในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ที่สำคัญ ต้องใช้วิธีเผชิญสืบ จะพิจารณาจากเอกสารอย่างเดียวไม่ได้ เช่น กลิ่น จำเป็นต้องลงพื้นที่ไปพิสูจน์ด้วยตนเอง และต้องใช้ระบบไต่สวนแทนกล่าวหา เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายสาธารณะ” อาสาสมัครเพื่อมนุษยธรรมฯ กล่าวในที่สุด
ขณะที่นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ กล่าวเรียกร้องในปีใหม่ที่จะถึงนี้ รัฐบาลต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม พร้อมแก้ปัญหาคนอาศัยอยู่ในป่า ในรูปแบบการรับรองสิทธิชุมชนบริหารจัดการที่ดินร่วม เพื่อให้เกษตรกรร่วมกันอนุรักษ์ โดยมีข้อตกลงปริมาณป่าจะไม่ลดลงแม้แต่ตารางนิ้วเดียว และอนุญาตให้สร้างสวนป่าได้ เชื่อว่า นโยบายคืนผืนป่า 26 ล้านไร่ จะเป็นรูปธรรมขึ้นทันที .
อ่านประกอบ:ของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐบาล