ของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐบาล
สมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครเพื่อมนุษยธรรมเเละสิทธิมนุษยชน นำเสนอบทความ ในหัวข้อ ของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐบาล ในเวทีเสวนา เรื่อง "เวทีประชาชน สวัสดีปีใหม่ 2561 กับสังคมใหม่ที่ประชาชนไทยต้องการ" ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย
1.รัฐบาลควรสถาปนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงให้มีกฎหมายคุ้มครอง
เป้าหมาย
1.เพื่อทำให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นจริงและเป็นพื้นที่ที่ปลอดพ้นจากการรุกรานโดยนโยบายพัฒนาอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
2.เพื่อให้ประชาชนที่ศรัทธาและรักวิถีพอเพียงและอยากอยู่อย่างสงบสุข มีความมั่นคงในวิถีที่ตนเลือก และสามารถใช้ชีวิตอยู่เช่นนั้นได้อย่างยั่งยืนตลอดถึงลูกหลาน
3.เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดความรุนแรง ลดความอึดอัดคับข้องใจจากการรุนรานคนชนบทโดยนโยบายของรัฐหรือกลุ่มทุน
ทั้งหมดนี้คือการแสดงความเคารพรักอย่างจริงใจที่เป็นรูปธรรมต่อพ่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางที่ในหลวงของไทยทรงมอบให้
สิ่งที่รัฐบาลควรปฏิบัติ
1.ขอให้นายกรัฐมนตรีสถาปนาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นระบบเศรษฐกิจกระแสหลักของชาติ โดยจำกัดเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิตที่เสี่ยงต่อการก่อมลพิษไว้เท่าที่มี และพัฒนาเศรษฐกิจการผลิตผลการเกา๖ร การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีการส่วนร่วมของชุมชน
2.ประชาชนในพื้นที่ทุกแห่งที่มีที่ดินติดกันตั้งแต่ 5 ครอบครัวขึ้นไป สามารถร่วมกันเสนอให้รัฐจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น
3.ออกกฎหมายในชั้นพระราชบัญญัติเพื่อคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพอเพียง โดยต้องปราศจากโรงงานอุตสาหกรรมทุกชนิด เว้นแต่อุตสาหกรรมย่อยที่สนองเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งห้ามการทำกิจกรรมเหมืองแร่ในระยะ 50 กม. เพื่อเป็นเขตปลอดภัย โดยวัดอาณาเขตจากขอบสุดของเขตเศรษฐกิจพอเพียงที่กำหนดขึ้น รวมถึงห้ามเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว เพื่อให้เป็นเขตปลอดภัยจากการสร้างมลภาวะอย่างยั่งยืนด้วย
4.ออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติห้ามทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 ทั้งประเภทเอและบี รวมทั้งเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ
2.รัฐบาลควรทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-64
ขอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนหรือชะลอมิให้นำร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาจนกว่าจะได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีข้อห่วงกังวล 4 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 ในการจัดทำร่างแผนขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นที่ 2 ในการจัดทำร่างแผนขาดความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ
-ไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลก่อนการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ เนื่องจากไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการจัดทำและใช้ฐานข้อมูลที่ได้จากการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 มาตรา 16 วรรสอง ที่กำหนดให้ต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลก่อนการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ซึ่งต้องจัดทำโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
-ไม่มีการสำรวจและจำแนกเขตแร่โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากร่างแผนตั้งแต่ส่วนที่ 4 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นส่วนของแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ เขียนขึ้นโดยมิได้ดำเนินการตามมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ที่ต้องทำการสำรวจและจำแนกเขตแร่อย่างมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อใช้ประกอบการจัดทำแผนแม่บท จึงเป็นการทำงานข้ามขั้นตอนกฎหมาย
-มีการใส่ข้อมูลที่มีอยู่เติมเข้าไปในร่างแผน ดังนั้นนอกจากจะไม่ทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการลักลอบนำเอาข้อมูลเดิมมาใส่เข้าไปจึงทำให้ข้อมูลเดิมทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
-มีการเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการเหมืองแร่และเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากมีการกำหนดให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีศักยภาพแร่ โดยให้ถือว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นเขตแหล่งแร่ที่ได้มาก่อนร่างแผน ซึ่งไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 188 และ 189 ของพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ที่กำหนดข้อยกเว้นสำคัญไว้ เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถเปิดเหมืองทองคำและเหมืองแร่อื่น ๆ ได้ทั่วประเทศโดยไม่ต้องจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 อันเสมือนจงใจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ
นอกจากนั้นยังสร้างความกำกวม ซึ่งอาจเกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติจนนำไปสู่ความสับสนแตกแยกในสังคมเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่ 3 สร้างความเสื่อมเสียให้แก่รัฐบาลและสถานะของประเทศไทย เนื่องจากรายละเอียดที่ระบุไว้ในร่างแผนขัดแย้งกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามไว้แล้ว
ประเด็นที่ 4 ขาดความชอบธรรมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ เนื่องจากเมื่อ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564 นำไปใช้ร่วมกับ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่) พ.ศ. ... ช่วยทำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่สามารถลดขั้นตอนการขออนุญาต ขาดการตรวจสอบ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่อว่าเป็นการกำหนดนโยบายและแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนหรือพวกพ้อง โดยเฉพาะเหมืองทองคำจากประเทศออสเตรเลียที่สามารถทำเหมืองแร่ทองคำต่อไปได้โดยง่าย และเหมืองแร่อื่น ๆ อีกมากมาย บริษัทที่อาจจะได้รับประโยชน์ในการเปิดหรือขยายเหมืองโดยไม่ต้องทำรายงานอีไอเอเป็นการเอื้อประโยชนือำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนเหมืองแร่
ดังนั้น แผนแม่บทต้องจัดทำขึ้นตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และจะมีผลผูกพันการกระทำทางปกครองในการอนุญาตทำเหมืองตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และ 18 จึงขอให้คณะรัฐมนตรีโปรดทบทวนหรือชะลอการพิจารณา เมื่อ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564 เอาไว้ก่อน จนกว่าจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ พวกข้าพเจ้ามิได้ประสงค์จะขัดขวางการพัฒนาประเทศแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกำลังพยายามที่จะช่วยกันหาแนวทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลมอบความสุขสงบใจในห้วงปีใหม่ที่จะถึงนี้ให้แก่ประชาชน และช่วยรักษาเสถียรภาพรัฐบาลให้เป็นที่รักของประชาชนต่อไป
3.กระบวนการยุติธรรมควรได้รับการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการและกระบวนการพิจารณาคดี ดังนี้
1.ยกเลิกคำสั่งให้ประชาชนที่ยากจนถอดรองเท้าและเมื่อเข้าสู่ห้องพิจารณาคดีเนื่องจากขัดหลักรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรสร้างบรรยากาศที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่ศาล
เนื่องจากหน้าห้องพิจารณาคดีในศาลจังหวัดพิจิตร และศาลอื่น ๆ มีป้ายให้ประชาชนถอดรองเท้าแตะและเข้าไปในห้องพิจารณาคดี เป็นการทำให้คนมีเงินสามารถใส่รองเท้าหุ้มส้นเข้าไปในห้องพิจารณาคดีของศาลได้ แต่ชาวบ้านคนจนคนทำนา ถูกสั่งให้ถอดรองเท้าแตะและก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีเดียวกัน เป็นการออกกฎที่ทำให้ชาวบ้านผู้ยากจนตกเป็นผู้ต่ำต้อยในโครงสร้างการบริหารจัดการของกระบวนการยุติธรรม
2.ยกเลิกการเพิ่มภาระค่าถ่ายเอกสารเกินราคาตลาดในพื้นที่ศาลยุติธรรม และจัดบริการถ่ายเอกสารด้วยบริการที่ดีมีราคาที่เป็นธรรมแก่ประชาชน
-เนื่องจากค่าถ่ายเอกสารในที่ทำการศาลยุตธรรมที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ คิดค่าบริการหน้าละ 3 บาท ส่วนที่ศาลจังหวัดพิจิตร คิดราคาหน้าละ 2 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน และขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 เพราะผู้ให้บริการภายนอกทั่วไป ซึ่งต้องแบกรับค่าสาธารณูปโภคด้วยตนเองยังสามารถคิดบริการหน้าละ 35-50 สตางค์ และยังมีกำไรจากการให้บริการ ดังนั้น การถ่ายเอกสารในอาคารของศาลยุติธรรมทุกแห่ง ซึ่งใช้สาธารณูปโภคของรัฐ จึงไม่ควรมีราคาสูงกว่าเอกชน อนึ่ง ทราบว่าที่ทำการศาลปกครองคิดอัตราค่าถ่ายเอกสารหน้าละ 50 สตางค์
-ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมคดีเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ โดยให้แยกศาลคดีสาธารณะหรือคดีฟ้องเพื่อหน่วงเหนี่ยวการตรวจสอบออกจากศาลทั่วไป และช่วยให้ผู้ตรวจสอบสามารถทำหน้าที่จนถึงที่สุดก่อนดำเนินคดี เพื่อประโยชน์ให้แก่ความเป็นธรรมในสังคม
เนื่องจากคดีเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะส่วนมากเป็นคดีที่ซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับความรู้เฉพาะทางหลายแขนง ผู้พิพากาที่ขาดความสามารถและถูกกดดันด้วยการทำสถิติปิดคดี จึงต้องเร่งรัดทำให้ขาดความละเอียดอ่อนในการพิจารณาคดีที่อาจจะมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจจะทำใหผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม
ขณะที่ผู้ฟ้องคดีต้องการชะลอหรือหน่วงเหนี่ยวการตรวจสอบ ทำให้ทั้งนักวิชาการและข้าราชการไม่กล้าที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ด้วยต้องระวังความยุ่งยากจากการถูกฟ้องหน่วงเหนี่ยว
นอกจากนี้ ศาลต้องเดินเผชิญสืบ โดยให้มีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญทำงานในทำนองเดียวกับคณะลูกขุน ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยปราศจากผู้มีประวัติที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคู่กรณี เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้จริง
ประการสำคัญ คือ กระบวนการยุติธรรมต้องสร้างหลักประกันหรือเอื้อเฟื้อหรือให้โอกาสพลเมืองที่มีความรู้ความสามารถและมีใจเป็นธรรมเกิดความกล้าหาญที่จะนำความรู้ความสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนของสังคม เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งนิติธรรม .
ภาพประกอบ:https://www.gooza.com/38265/