ประสาร ไตรรัตน์วรกุล:หัวใจปฏิรูป ผู้นำต้องเข้าใจปัญหา กล้าตัดสินใจเรื่องที่ยาก
หากมองย้อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญการปฏิรูปมักเกิดในช่วงประเทศมีวิกฤติ หรืออยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือแรงกดดันทางสังคม หมายความว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปอาจมาเป็นช่วงๆ และขึ้นอยู่กับจังหวะที่เหมาะสมด้วย จนบางครั้งผู้รู้กล่าวไว้ว่า "การปฏิรูปสำเร็จอาจต้องการส่วนผสมของโชคชะตาด้วยเช่นกัน"
วันที่ 14 ธันวาคม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจ สู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยระบุถึง การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจได้กำหนดเป้าหมายหลักของการปฏิรูปไว้ คือการมองไปข้างหน้าเราอยากเห็นประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง ผลลัพธ์ไม่ใช่การเติบโตทางตัวเลขอย่างเดียวหรือการพัฒนาแบบหยาบๆ แต่ต้องเพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจให้มีพลังภายใน ไม่ใช่พัฒนาเศรษฐกิจแล้วหมดแรง เน้นการกระจายผลประโยชน์สู่ประชาชน ที่สำคัญการพัฒนาประเทศต้องก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
“ไม่ใช่ทำฟูๆ ซักพักแล้วแฟบๆ ลงมาในไม่กี่ปี”
ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ต้องเน้นศักยภาพ กระจายให้ดี และยั่งยืน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เศรษฐกิจไทยต้องแข่งขันได้ กระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชน เติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ แบ่งการปฏิรูปออกเป็น 3 ด้าน
1.เพิ่มศักยภาพทางด้านการแข่งขันให้กับทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ สำคัญมากทั้งวันนี้ และวันหน้า หลายประเทศที่เคยตามหลังเรา ทุกวันนี้กลับไล่ตามเรามาติดๆ ขณะที่เราเดินหน้าไปได้อย่างช้าๆ หากไม่ทำอะไรเลย เราจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ ที่สำคัญอนาคตยิ่งลำบากเพราะเข้าสู่สังคมสูงวัย มีผลให้คนไทยวัยทำงาน 1 คนเลี้ยงดูผู้สูงอายุหลายคน ทางออกเดียวคือคนไทย ภาคธุรกิจไทย และภาครัฐไทย ในอนาคตต้องเก่งขึ้น
“คนไทย ธุรกิจไทย ภาครัฐไทย ต้องเก่งขึ้น”
2. ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายประโยชน์สู่ประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น มีการจัดสรรประโยชน์ใหม่ เพื่อช่วยสังคมให้มีความสมดุลมากขึ้น ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น การพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาค เพื่อไม่ให้มีการกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ในระดับชุมชน ก็ต้องเพิ่มความเข้มแข็งในมิติต่างๆ ระดับบุคคลก็ต้องเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แรงงานยากจน คนระดับฐานรากเพื่อให้เขาสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้
“ข้อเสนอของการปฏิรูป คือเราอยากเห็นการจัดให้มีหน่วยงานกลางขึ้นมารับผิดชอบโจทย์นี้โดยตรง และไม่ใช่หน่วยงานคอยแต่เก็บข้อมูล แต่มีภารกิจในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
3.การปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับกลไก ปรับบทบาทภาครัฐ เนื่องจากอนาคตมีความไม่แน่นอนเยอะ ให้เข้มแข็ง เป็นสถาบันที่มีชีวิต มีการปรับตัว
“ระบบสถาบันด้านเศรษฐกิจหลายส่วน ที่เคยออกแบบไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน อาจไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศภายใต้บริบทใหม่ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปหน่วยงานทางเศรษฐกิจทั้งระดับวางยุทธศาสตร์ ปฏิบัติ และติดตามผล ให้ทันสมัย สอดคล้องกับจังหวะการเดินหน้าประเทศ ภาครัฐต้องปรับบทบาทการดูแล เป็นผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และปล่อยให้มีการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีให้มากขึ้น”
สำหรับสิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความยั่งยืนมากขึ้นนั้น
มิติแรก เรื่องสำคัญคือการปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่เป็นอุปสรรคกับการทำธุรกิจ ปรับกติกาให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างคล่องตัว ธุรกิจที่ล้มต้องลุกได้เร็ว
การบริหารสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์สำคัญๆ ของประเทศ เช่น คลื่นความถี่ รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ ทางพิเศษต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของรัฐวิสาหกิจ การบริหารจัดการยังขาดประสิทธิภาพ จนประเทศเสียโอกาสด้านการพัฒนาและเป็นต้นทุนที่แพงขึ้นของประชาชนทุกคน
มิติที่สองต้องโปร่งใส ภาคประชาชนตรวสอบได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่นที่เป็นต้นทุนแฝงของภาคเอกชนและประชาชนได้ด้วย
มิติที่สาม การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีส่วนตัดสินใจมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเสนอแนะสิ่งที่ต้องการช่วยให้การแก้ไขปัญหามี "เจ้าภาพ" ที่ชัดเจน เรียกคำสวยๆว่า "accountability" ปัญหาหลายอย่างในประเทศไทยขาด accountability หาเจ้าภาพที่ชัดเจนไม่ได้ และยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาที่กระจุกตัวที่ส่วนกลาง
มิติที่สี่ ประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะในโลกที่ซับซ้อนโจทย์ของประเทศหลายเรื่องยากขึ้น รัฐต้องปรับบทบาทในทุกมิติ โดยเฉพาะระหว่างส่วนราชการที่การทำงานยังมีลักษณะแยกส่วน ขาดการบูรณาการ จนทำให้เรามักได้ยินว่า ต้องใช้มาตรา 44 เพื่อผ่าทางตันอยู่บ่อยๆ
"นี่เป็นตัวชี้ เกิดอะไรขึ้นทำไมทุุกคนเรียกร้องมาตรา 44 เพื่อผ่าทางตัน มันคือทางตันอะไร"
หรือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากเอกชนด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และระบบงานที่มีประสิทธิภาพคล่องตัว เปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
หากมองย้อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญการปฏิรูปมักเกิดในช่วงประเทศมีวิกฤติ หรืออยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือแรงกดดันทางสังคม หมายความว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปอาจมาเป็นช่วงๆ และขึ้นอยู่กับจังหวะที่เหมาะสมด้วย จนบางครั้งผู้รู้กล่าวไว้ว่า "การปฏิรูปสำเร็จอาจต้องการส่วนผสมของโชคชะตาด้วยเช่นกัน"
อย่างไรก็ดี นายประสาร กล่าวตอนท้ายโดยเชื่อมั่นว่า สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันน่ามีส่วนเอื้อให้การปฏิรูปต่างๆ เกิดขึ้นได้
"ผมหวังว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องจะไม่ทิ้งโอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น การบริหารการเปลี่ยนการแปลงต้องคำนึงถึงการบริหารที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ประเทศมีปัญหาต้องแก้ไขหลายสิบหลายร้อยเรื่อง แต่ธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงมักจะหนักแน่นในช่วงแรก จากนั้นแผ่วลง โอกาสการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีไม่มากนัก ทำทุกเรื่องไม่ได้ ต้องเลือกเรื่องสำคัญ ที่ไม่สามารถทำได้ในภาวะปกติ กรรมการปฏิรูปจึงเลือกโฟกัส 3 เรื่องข้างต้นที่คิดว่าสำคัญปฏิรูปทางเศรษฐกิจ"
นายประสาร กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้นำประเทศต้องเข้าใจ กล้าตัดสินใจ ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญอีกประการของการปฏิรูป กล่าวคือ ผู้นำต้องเข้าใจปัญหา กล้าตัดสินใจเรื่องที่ยาก มีศิลปะชักจูงผู้มีส่วนได้เสีย หรือเมื่อมีความเห็นต่างก็สามารถโน้นน้าวให้เกิดการยอมรับการปฏิรูปร่วมกันได้
สุดท้าย การปฏิรูปสำเร็จต้องได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งและก้าวไปด้วยกัน โดยมีประโยชน์ประเทศชาติเป็นเป้าหมาย ประเทศได้ หมายถึงภาคเอกชนได้ ประชาชนได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไม่ใช่ฟูๆ แฟบๆ "ประสาร" ยันปฏิรูปประเทศ ด้านศก.ต้องเน้นศักยภาพ กระจายให้ดี และยั่งยืน