ไม่ใช่ฟูๆ แฟบๆ "ประสาร" ยันปฏิรูปประเทศ ด้านศก.ต้องเน้นศักยภาพ กระจายให้ดี และยั่งยืน
ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ยันการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจอนาคต ลั่นอยากเห็นประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง ผลลัพธ์ไม่ใช่การเติบโตทางตัวเลขอย่างเดียวหรือการพัฒนาแบบหยาบๆ แต่ต้องเพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจให้มีพลังภายใน ไม่ใช่พัฒนาเศรษฐกิจแล้วหมดแรง ฟูๆ แฟบๆ
วันที่ 14 ธันวาคม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจ สู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยระบุถึงการพัฒนาเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายฉบับ โดยรวมเศรษฐกิจไทยโตขึ้น 10 เท่าตัว ขณะที่เศรษฐกิจการเงินก็มีเสถียรภาพ ยืดหยุ่น ทนทานต่อแรงเสียดทานได้ระดับหนึ่ง ภาคเอกชนไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นจนสามารถขยายไปต่างประเทศได้
ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ช่วง 60 ปี ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยโดยรวมก็ดีขึ้น คนส่วนใหญ่พ้นจากความยากจน มาตรฐานการดำรงชีวิตดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ อยู่ในระดับน่าพอใจ ช่วยยกระดับประเทศจากประเทศยากจน สู่ประเทศรายได้ปานกลาง
"การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นปริมาณ มากกว่าคุณภาพ ส่งผลให้ประเทศไทยเจอปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ก่อนปี 2540 เคยเติบโต 9% ช่วงปี 2543-2556 เหลือ 4% รวมทั้งเจอปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ติดในกลุ่มประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำต้นๆ ของโลก" นายประสาร กล่าว และว่า นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงที่ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจ มีต้นทุนการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น ดัชนีชี้วัดก็พบว่า คอร์รัปชั่นของไทยไม่ได้เบาบางลงเลย ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ และอาเจนติน่า ซึ่งปัญหาคอร์รัปชั่นหากไม่ได้รับการแก้ไขจะเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศในที่สุด
นายประสาร กล่าวว่า ศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคอร์รัปชั่น คือของจริงทิ้งไว้มีแต่เหนี่ยวรั้งการก้าวต่อไปของการพัฒนาประเทศ นอกจากนั้น หากมองไปข้างหน้าบริบทสังคม เศรษฐกิจจะไม่เหมือนเดิม มีความท้าทายใหม่ๆ รอให้เราฝ่าฟัน ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเข้ามากระทบ วิธีทำธุรกิจ งานหลายอย่างจะหายไป อย่างภาคการเงิน ที่แข่งขันกันเปิดสาขา วันนี้คนทำธุรกรรมผ่านมือถือ จนกระทั่งมีการปิดสาขาของธนาคาร หรือแม้แต่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ ได้รับผลกระทบจากสื่อออนไลน์อย่างหนัก ทำให้นิตยสารจำนวนทยอยปิดตัวไปช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงงบโฆษณาที่หล่อเลี้ยงธุรกิจเหล่านี้หายไป 14%
“ล่าสุด นิตยสารที่เคยเป็นตำนานของหลายคน ขวัญเรือน ดิฉัน ก็ประกาศปิดตัวลง อนาคตงานหลายอย่างแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ การเปลี่ยนแปลงระยะต่อไปจะเกิดขึ้นใน 10 ปี เร็วขึ้นกว่าเดิม”
บริบทการเมืองโลก ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า จะมีความซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะตะวันออกกลาง มีความตึงเครียดในหลากรูปแบบ อีกด้านที่ละเลยไม่ได้ คือมาตรฐานสากล เมื่อโลกเชื่อมกันมากขึ้นทั้งการค้า การลงทุน ดังนั้นมาตรฐานสากลจะมีความเข้มงวดมากขึ้น
“ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้แรงงานหายาก ค่าแรงแพงขึ้น เมื่อปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศฝังอยู่ เจอกับบริบทโลกที่ซับซ้อน หนีไม่พ้นเราต้องมาคิดอ่านนอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วเราต้องทำอะไรเพิ่มอีกหรือไม่”
นายประสาร กล่าวถึงการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจได้กำหนดเป้าหมายหลักของการปฏิรูปไว้ว่า มองไปข้างหน้าเราอยากเห็นประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง ผลลัพธ์ไม่ใช่การเติบโตทางตัวเลขอย่างเดียวหรือการพัฒนาแบบหยาบๆ แต่ต้องเพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจให้มีพลังภายใน ไม่ใช่พัฒนาเศรษฐกิจแล้วหมดแรง เน้นการกระจายผลประโยชน์สู่ประชาชนแต่ละคน ที่สำคัญการพัฒนาประเทศต้องก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
“ไม่ใช่ทำฟูๆ ซักพักแล้วแฟบๆ ลงมาในไม่กี่ปี” ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ กล่าว และว่า การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ต้องเน้นศักยภาพ กระจายให้ดี และยั่งยืน หรืออีกด้านหนึ่งคือเศรษฐกิจไทยต้องแข่งขันได้ กระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชน เติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ แบ่งการปฏิรูปออกเป็น 3 ด้าน
1.เพิ่มศักยภาพทางด้านการแข่งขันให้กับทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ สำคัญมากทั้งวันนี้ และวันหน้า หลายประเทศที่เคยตามหลังเรา ทุกวันนี้กลับไล่ตามเรามาติดๆ ขณะที่เราเดินหน้าไปได้อย่างช้าๆ
“หากไม่ทำอะไรเลย เราจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ ที่สำคัญอนาคตยิ่งลำบากเพราะเข้าสู่สังคมสูงวัย มีผลให้คนไทยวัยทำงาน 1 คน ต่อไปเลี้ยงดูผู้สูงอายุหลายคน ทางออกเดียวคือ คนไทย ภาคธุรกิจไทย และภาครัฐไทย ฉะนั้นในอนาคตต้องเก่งขึ้น คนไทย ธุรกิจไทย ภาครัฐไทย ต้องเก่งขึ้น”
2.ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายประโยชน์สู่ประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น มีการจัดสรรประโยชน์ใหม่เพื่อช่วยสังคมให้มีความสมดุลมากขึ้น และ 3.ปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ