'ที่อยู่-ทะเบียนรถ-ของมีค่า' ไม่ควรถูกปกปิด-ต้องเปิดเผยบัญชีฯนักการเมืองท้องถิ่น
"...นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ คดีการยื่นบัญชีทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วส่งเรื่องศาลฎีกาฯมีคำพิพากษากว่า 400 คดี ประมาณ 95% เป็นนักการเมืองท้องถิ่น จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน (กว่า 95%) อีกเล็กน้อย ผิดจงใจยื่นเท็จ ไม่ปรากฎว่ามีการชี้มูลนักการเมืองท้องถิ่นในระดับ นายก อบต. นายกเทศมนตรี นายก อบจ.ร่ำรวยผิดปกติเลยสักคดีเดียว..."
ประเด็นบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกกล่าวถึงกันมากโดยเฉพาะภายหลัง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. …หรือกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ มาตรา 104 ที่ให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูล ‘โดยสรุป’ เกี่ยวกับจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินและที่ตั้งของทรัพย์สินของ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็ว ข้อมูลโดยสรุปดังกล่าวต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็น หรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ปรากฎว่าถูกท้วงติงจากหลายฝ่ายทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง กฎหมายฉบับนี้ ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขใหม่ให้มีการเปิดเผยโดยละเอียดเหมือนเหมือน กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับปัจจุบัน (ปี 2542)
ความจริงบัญชีทรัพย์สินเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อนเข้าสู่อำนาจรัฐ ขณะใช้อำนาจ และหลังจากพ้นตำแหน่งในการใช้อำนาจรัฐ
เห็นได้จากคดีสำคัญๆในช่วงที่ผ่านมาเกิดมาจากการจุดประเด็นหรือสืบค้นข้อมูลของภาคประชาชนและสื่อทั้งสิ้น
อาทิ คดีซุกหุ้นของทักษิณ ชินวัตร คดีเงินกู้ 45 ล้านบาท คดีปกปิดทรัพย์สินของนายพูนผล อัศวเหม อดีต ส.ส.สมุทรปราการ คดีการไม่แจ้งเงินลงทุนของนายยุรนันท์ ภมรมนตรี (ศาลฎีกาฯยกคำร้อง) และนายพงษ์เวช เวชชาชีวะ อดีต ส.ส. เพื่อไทย และ ประชาธิปัตย์ คดีการถือครองหุ้น 5% ของรัฐมนตรี 8 คนในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คดีถือครองหุ้น 5% ของนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ผู้เขียนได้สะท้อนมุมมองผ่านเวทีเสวนาเรื่อง‘การเปิดเผยทรัพย์สิน และบทบาทหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.ใหม่’ โดยองค์การต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2560
ล่าสุดทราบว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธ.ค.60 เพื่อบรรจุเข้าวาระ 2-3 ของสนช.ให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องน่าพิจารณาเพิ่มเติม 2 ประการคือ
ประการแรก แม้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ มาตรา 104 ยอมให้มีการเปิดเผยบัญชีฯโดยละเอียดก็ตาม แต่ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฉบับลงวันที่ 9 พ.ค. 2560 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ปิดข้อมูล 14 รายการ (ในกรณีได้รับการร้องขอ) ได้แก่ (1) เลขประจําตัวประชาชน (2) วัน เดือน ปีเกิด (3) ที่อยู่ (4) หมายเลขโทรศัพท์ที่บ้าน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ (5) อีเมล์ (6) เลขที่บัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงิน (7) เลขที่บัญชีหุ้น (8) เงินให้กู้ยืม เฉพาะที่อยู่/อาชีพ ผู้กู้ยืม (9) โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะเลขที่บ้าน สถานที่ตั้ง (10) ยานพาหนะ เฉพาะหมายเลขทะเบียน (11) ภาพถ่ายทรัพย์สินอื่น (12) เลขที่บัตรเครดิต (13) หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เฉพาะที่อยู่ผู้ให้กู้ (14) หนี้สินอื่น เฉพาะที่อยู่ผู้ให้กู้
เห็นว่า เลขที่บ้าน หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ (รถยนต์ เรือยอร์ช มอเตอร์ไซค์ราคาแพง) และภาพถ่ายทรัพย์สินอื่นที่มีราคาแพง ไม่ใช่ ‘ข้อมูลลับ’จะต้องปกปิดด้วยเหตุผลอย่างน้อย 4 ประการ
1. กรณีของเลขที่บ้าน ชาวบ้านที่เลือกนักการเมืองเข้ามาเป็นผู้แทน มีความจำเป็นต้องรู้ว่า ส.ส. ส.ว. หรือ รัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของประชาชนมีบ้านอยู่ที่ไหน กี่หลัง
2. ข้อมูลเลขที่บ้าน รถยนต์ เป็นเบาะแสหรือร่องรอยสำคัญในการตรวจสอบจากภาคประชาชนว่านักการเมืองมีฐานะร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ และอาจเชื่อมโยงไปสู่การใช้นอมินีในการถือครองทรัพย์สินแทนนักการเมืองได้ด้วย เคยมีกรณีตัวอย่าง นักการเมืองใหญ่คนหนึ่งเคยใช้คนใกล้ชิดถือครองบ้านและที่ดินที่เขาใหญ่ รถเมอร์ซิเดสเบนซ์ คอนโดมีเนียม มูลค่านับสิบล้านบาท ต่อมาแม้ ป.ป.ช.ไม่สามารถเอาผิดได้เนื่องจากไม่มีหลักฐานการทำธุรกรรมเชื่อมโยงกับนักการเมืองคนดังกล่าว แม้ว่าบ้านหลังนั้นมีชื่อนักการเมืองติดอยู่หน้าบ้าน และ อยู่อาศัย ขณะที่ใช้รถยนต์คันนั้นทุกวัน แต่อย่างน้อยก็เห็นร่องรอยความมั่งคั่งแบบไม่มีที่มาที่ไปได้
3.ถ้าจะอ้างในเรื่องความปลอดภัยในการปกปิดข้อมูลดังกล่าว เห็นว่า เดี๋ยวนี้บุคคลที่มีวัตถุประสงค์อื่น สามารถสืบค้นได้หมดจากหน่วยงานของรัฐเอง
4.กรณีภาพถ่ายทรัพย์สินอื่นที่มีราคาแพงควรต้องเปิดเผย อาทิ นาฬิกาหรูเรือนละหลายล้าน ภาพถ่ายที่มีราคาแพง พระเครื่อง เนื่องเพราะก่อนหน้านี้มีนักการเมืองคนหนึ่ง คู่สมรสทำธุรกิจโรงแรมในสามเหลี่ยมทองคำ แจ้งว่ามีพระเครื่องรุ่นดัง ราคาองค์ ละ 24 ล้านบาท แต่ไม่ได้แนบภาพถ่ายพระเครื่องแสดงต่อ ป.ป.ช. เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ว่ามีจริงหรือไม่ และเกี่ยวข้องกับธุรกรรมอื่นนอกจากธุรกิจหรือไม่ เพราะเคยมีกรณีพระเครื่องเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน
ประการที่สอง ร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ กำหนดให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เห็นว่า ถ้ายึดหลักบุคคลสาธารณะที่มาจากประชาชนต้องถูกตรวจสอบ ไม่ควรมีข้อยกเว้นในการเปิดเผยบัญชีฯของนักการเมืองท้องถิ่น ในทางปฏิบัติอาจกำหนดบางตำแหน่งนำร่อง อาทิ เฉพาะผู้บริหาร องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขนาดใหญ่ เทศบาลเมืองขึ้นไป องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทางเว็บไซต์หรือติดไว้ที่ทำการ สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัด จะเป็นช่องทางในการตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้เพราะ นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ คดีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วส่งเรื่องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่ามีความผิดกว่า 400 คดี ประมาณ 95% เป็นนักการเมืองท้องถิ่น จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน (กว่า 95%) ส่วนอีกเล็กน้อย ผิดจงใจยื่นเท็จ ไม่ปรากฎว่ามีการชี้มูลนักการเมืองท้องถิ่นในระดับ นายก อบต. นายกเทศมนตรี นายก อบจ.ร่ำรวยผิดปกติเลยสักคดีเดียว (กรณีนายเกษม นิมมลรัตน์ ร่ำรวยผิดปกติ 2 คดีประมาณ 200 ล้านบาท แม้เป็นนักการเมืองท้องถิ่น อดีตที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่ แต่เป็น ส.ส.เชียงใหม่ด้วย)
ดังนั้น ถ้ามีการเปิดเผยบัญชีฯของนักการเมืองท้องถิ่น จะเป็นช่องทางในการตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง จะรู้ว่านักการเมืองท้องถิ่นคนไหน ซุกทรัพย์สินบ้าง แต่ถ้าเครื่องมือ หรือ ช่องทางตรงนี้ถูกปิด เท่ากับโยนภาระการตรวจสอบไปให้ ป.ป.ช. หรือให้ ป.ป.ช.เป็นคนผูกขาด ซึ่งมีงานล้นมืออยู่แล้ว ทำให้การตรวจสอบในเชิงคุณภาพมีมากขึ้น มิฉะนั้นจะได้แต่คดีไม่ยื่นบัญชีฯ
เห็นว่า ทั้งกรณีการเปิดเผย ที่อยู่ ทะเบียนรถยนต์ ภาพถ่ายทรัพย์สินของมีค่า และการกำหนดให้นักการเมืองท้องถิ่นต้องเปิดเผยบัญชีฯ ไม่ควรยึดหลักคุ้มครองเจ้าของทรัพย์สินซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ รับอาสามาทำงานการเมือง (ไม่มีใครบังคับให้เข้ามาเล่นการเมือง) กุมอำนาจรัฐ มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐ มากกว่าคุ้มครองหลักการตรวจสอบของผลประโยชน์สาธารณจากภาคประชาชน ยิ่งเปิดเผยมากเท่าไหร่จะเป็นผลดีต่อสาธารณะมากเท่านั้น จะมีผลสัมฤทธิ์ต่อนโยบายการปราบคอร์รัปชัน มากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อ
จะได้ไม่ต้องมานั่งหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นว่า การปราบคอร์รัปชั่นดีขึ้นแล้ว จะหมดสิ้นแล้วครับ
อ่านประกอบ:
ปกป้องสิทธิส่วนตัวvsผลปย.ชาติ! เจาะเวทีเสวนาชำแหละกม.ป.ป.ช.เปิดเผยทรัพย์สินนักการเมือง
เวทีเสวนา กม. ป.ป.ช.ห่วง กม.ใหม่ มีช่องปิดบังข้อมูลบัญชีทรัพย์สิน