- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ปกป้องสิทธิส่วนตัวvsผลปย.ชาติ! เจาะเวทีเสวนาชำแหละกม.ป.ป.ช.เปิดเผยทรัพย์สินนักการเมือง
ปกป้องสิทธิส่วนตัวvsผลปย.ชาติ! เจาะเวทีเสวนาชำแหละกม.ป.ป.ช.เปิดเผยทรัพย์สินนักการเมือง
"...ที่ผ่านมาบัญชีทรัพย์สินเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบร่องรอยที่มา ความร่ำรวยของนักการเมือง อย่างเช่น คดีซุกหุ้นนายทักษิณ ชินวัตร คดีเงินกู้ 45 ล้านบาท ของพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินของอดีตส.ส.ก็มาจากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีรัฐมนตรี 7-8 คน ถือครองหุ้นเกิน 5เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรี ก็มาจากการทำหน้าที่ของสื่อและภาคประชาชน เข้าไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน การสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรี ... ดังนั้นการปกปิดที่อยู่อาศัยของบุคคลสาธารณกลุ่มนี้ อาจจะกลายเป็นว่ากฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญและให้น้ำหนักบุคคลสาธารณเหล่านี้มากกว่าการให้น้ำหนักการทำหน้าที่ตรวจสอบของภาคประชาชน..."
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ต้องจับตามองเมื่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดเวทีเสวนาหัวข้อ ‘การเปิดเผยทรัพย์สินและบทบาทหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.ใหม่’ เพื่อถกเถียงถึงข้อสงสัยใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะในมาตรา 104 ที่ระบุว่าให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองต่อสาธารณชนได้โดยสรุปเท่านั้น ห้ามเปิดเผยในรายละเอียด อันนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ว่า จะส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและสื่อมวลชน ในการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดของบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้
บรรยากาศภาพรวมในการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการป.ป.ช. รักษาการเลขาธิการ ป.ป.ช., นายภัทระ คำพิทักษ์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.),รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.),พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ, นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และนายเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org
เนื้อหาการเสวนา เริ่มด้วยการเกริ่นนำของ 'นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการป.ป.ช.' ที่พูดถึงความเป็นมาเป็นไปของกฎหมายที่ให้มีการเปิดบัญชีทรัพย์สินได้ในประเทศไทย โดยเท้าความย้อยหลังกันไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2517 ที่กำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นครั้งแรก ก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 2518 ได้มีการปฏิรูปให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงรายการทรัพย์สินและการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าในช่วงที่ดำรงตำแหน่งมีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่ ซึ่งกำหนดให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรี จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เพิ่มตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องเปิดเผนรายการทรัพย์อีก 2 ตำแหน่ง คือ ส.ส.และ ส.ว. จวบจนมาถึงร่างกฎหมายว่าด้วย ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันในมาตรา 104 ที่เป็นประเด็นอยู่นั้น
นายวรวิทย์ ระบุว่าเชื่อว่าคงจะมีผลกระทบ เพราะจะทำให้รายการบัญชีทรัพย์สินที่จะไม่เปิดเผยเพิ่มขึ้นเป็น 14 รายการ จากกฎหมายเดิมมีเพียง 4 รายการเท่านั้น โดย 14 รายการที่ถูกปกปิดได้แก่รายการที่มีรายละเอียดที่อาจจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต หรืออาจจะถูกคุกคาม เช่น ข้อมูลหมายเลขบัตรประชาชน อีเมลล์ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจจะมีผลต่อความปลอดภัยจากการบริการดิจิทัลที่มีการใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน หรือ เลขที่บัญชีธนาคารสถาบันการเงิน เลขที่โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง เลขที่บ้าน เป็นต้น ซึ่งเชื่อกันว่าจะไม่ส่งผลกระทบอะไรเพราะที่ผ่านมาจากการสำรวจพบว่า ประชาชนไม่ต้องการข้อมูลเชิงลึก
ทางด้าน ‘นายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ.' กล่าวแสดงความเห็นต่อข้อกฎหมายว่า กรธ.ได้ร่างกฎหมายโดยไม่มีเจตนาปกปิด แค่คิดว่าไม่ควรเปิด ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็น หรือข้อมูลที่อาจจะมีอันตรายของบุคคลได้ เพราะปัจจุบันระบบเทคโนโลยี่ดิจิทัลแบงกิ้งเติบโตมากขึ้น การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบางรายการอาจจะมีการนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ‘นายภัทระ’ ย้ำว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งการปราบปรามคอร์รัปชันมีความก้าวหน้าไปมาก เพราะครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่เริ่มรับราชการ มีหน้าที่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และต้องยื่นทุก 3 ปี ระหว่างการดำรงตำแหน่งซึ่งข้อมูลนี้จัดเก็บ 2 ที่คือหน่วยงานต้นสังกัดกับหน่วยงานกลาง
ส่วน ‘เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต สปช.' ได้แสดงความเป็นห่วง เพราะการเปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินแม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่มั่นใจว่าในการปฏิบัติงานคณะกรรมการป.ป.ช. สามารถตรวจสอบได้ถี่ถ้วนหรือไม่ รวมทั้งมีการตีความการเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายอย่างไร และจะมีการอ้างความเป็นส่วนตัวมากขึ้นหรือไม่ เพราะเมื่ออาสาเข้ามาทำงานเพื่อสาธารณะแล้ว ความเป็นส่วนตัวย่อมลดลง สิทธิส่วนบุคคลควรจะน้อยลง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไว้คลุมเครือทำให้เกิดความกังวลในประเด็นเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินโดยสรุป ซึ่งไม่มั่นใจว่า ป.ป.ช.จะสรุปมากน้อยแค่ไหนเพราะตีความได้
ทางด้านของ 'พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ' ได้เปรียบเทียบความแตกต่างของการแสดงบัญชีทรัพย์สินระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดเป็นหมวดหนึ่งเฉพาะ ส่วนปี 2550 มีรายละเอียดเฉพาะวิธีการปฏิบัติ แต่ปี 2560 ไม่ได้เขียนไว้ กลับเขียนไว้ในอำนาจของป.ป.ช.ในมาตรา 234 อนุ 3 ที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่ และใครควรจะยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้เพิ่มคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนด้วย แต่ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่นัยยะของกฎหมายเจาะจงให้เกิดผลมากกว่า เพราะระบุว่า ตัวเองคือเจ้าหน้าที่รัฐ คู่สมรสและบุคคลในอุปการะ แต่กฎหมายไทยเขียนว่าคู่สมรส บุตรบุญธรรม ข้อเท็จจริงบุตรที่โตแล้วก็อาจจะอุปการะด้วย
จุดอ่อนในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 1.การยกเลิกยื่นบัญชี 1 ปีหลังพ้นตำแหน่ง ที่ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นได้เมื่อพ้นตำแหน่ง ขณะที่กฎหมายป.ป.ช. มาตรา 103 ห้ามรับของขวัญอันสืบเนื่องจากหน้าที่ที่ทำงาน 2 ปี หลังเกษียณ 2.ขยายกลุ่มผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน คือเพิ่มข้าราชการระดับสูงทั้งหมด และผู้บริหารท้องถิ่น และ3.การให้ความสำคัญข้อมูลความลับ ข้อมูลส่วนตัวและอาจจะเกิดอันตราย
"ส่วนเรื่องข้อมูลลับส่วนตัวนั้น ต้องกำหนดให้ชัดว่าคืออะไร เพราะ ข้อมูลที่ห้ามในหลักการเดิมคือ เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต แต่บางอย่างที่ห้ามในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ในนามบัตรมีไว้อยู่แล้วทั้งบ้านเลขที่ อีเมล์ หมายเลขโทรศัพท์ จึงไม่ควรห้าม"พล.อ.อ.วีรวิท ระบุ
ขณะที่ 'นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าตรวจเงินแผ่นดิน สตง.' แสดงความเห็นว่า ขั้นตอนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินควรมีผลตรวจสอบที่ให้หน่วยงานอื่นสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบฐานะว่า รวยเป็นปกติหรือผิดปกติ โดยควรสรุปการแสดงบัญชีทรัพย์สินมีคุณค่ามีประโยชน์ไปถึงการตรวจสอบภาษีว่าถูกต้องครบถ้วนเป็นธรรมด้วย
ทั้งนี้ในแง่ของกฎหมายมีข้อกังวลเพราะว่าบทบัญญัติมีการเพิ่มขั้นตอนขึ้นมามาก รวมทั้งร่างกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้เลขาธิการป.ป.ช.ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าหากเกิดกรณีข้อมูลรั่วไหลและสงสัยว่ามาจากการทำงานของป.ป.ช. แบบนี้ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะปัจจุบันนี้การสืบหาข้อมูลเลขที่บ้าน ทางสื่อมวลชนก็สามารถหาได้ไม่ยาก รวมไปถึงขั้นตอนการไต่สวนที่เลขาธิการต้องเสนอคณะกรรมการป.ป.ช.ทุกเรื่องก็กระทบต่อการทำงาน เนื่องจากธุรการของป.ป.ช.ควรจะมีอิสระในการตัดสินใจได้ลงมือปฏิบัติงาน แสวงหาข้อเท็จจริงได้
ขณะที่ ‘นายเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวอิศรา’ แสดงความเป็นห่วงว่าร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะในมาตราที่ 104 ที่ปกปิดข้อมูลทั้งหมด 14 รายการ เสมือนเป็นการตัดทางการทำงานขององค์กรภาคประชาชน
นายเสนาะ ระบุว่า "ที่ผ่านมาบัญชีทรัพย์สินเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบร่องรอยที่มา ความร่ำรวยของนักการเมือง อย่างเช่น คดีซุกหุ้นนายทักษิณ ชินวัตร คดีเงินกู้ 45 ล้านบาท ของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินของอดีต ส.ส.ก็มาจากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีรัฐมนตรี 7-8 คน ถือครองหุ้นเกิน 5เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรี ก็มาจากการทำหน้าที่ของสื่อและภาคประชาชน เข้าไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน การสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรี กรณีนายไชยา สะสมทรัพย์,นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เป็นต้น
"ดังนั้นการปกปิดที่อยู่อาศัยของบุคคลสาธารณกลุ่มนี้ อาจจะกลายเป็นว่ากฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญและให้น้ำหนักบุคคลสาธารณเหล่านี้มากกว่าการให้น้ำหนักการทำหน้าที่ตรวจสอบของภาคประชาชน"
ทั้งหมดนี่ คือ เนื้อหารายละเอียดที่เกิดขึ้นจากการจัดเวทีเสวนาหัวข้อสำคัญครั้งนี้ ส่วนจะมีผลต่อการตัดสินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปหรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป