ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ บอกเล่าผ่านหนังสือ ‘เรื่องลึกใต้ตึกโดม’ 7 ปีบนเก้าอี้อธิการบดี มธ.
ถ่ายทอดเกือบจะทุกเรื่องราว จากปลายปากกา ‘สมคิด เลิศไพฑูรย์’ กับประสบการณ์ทำงาน 7 ปี ภายใต้หัวโขนอธิการบดี มธ. คนที่ 23 ผ่านหนังสือ ‘เรื่องเล่าใต้ตึกโดม’ หลายเรื่องใช้โอกาสตอบโต้ผู้กล่าวหา หลายเรื่องลี้ลับจนขนหัวลุก
ผู้เขียนพยายามอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มิใช่ ‘มโน’ จากการรับฟังปากต่อปากหรือจากหน้าข่าวสารสื่อมวลชน หลายเรื่องผู้เขียนใช้โอกาส ‘ตอบโต้’ เรื่องที่มีผู้กล่าวหาผู้เขียนไปด้วย
บางตอนของคำนำ จากหนังสือ ‘เรื่องลึกใต้ตึกโดม’ จำนวน 200 หน้า ซึ่งจะจัดพิมพ์แจกในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2561 เขียนขึ้นโดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ของ มธ. ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดี 2 สมัย ระหว่าง พ.ศ. 2553-2560
ศ.ดร.สมคิด กำลังจะถอดหัวโขน อำลาตำแหน่งอธิการบดี ในวันที่ 23 พ.ย. 2560 หลังจากนั้นเขาบอกว่า จะกลับมาเป็นอาจารย์สอนที่คณะนิติศาสตร์ มธ. เหมือนเดิม ซึ่งตลอด 7 ปีได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ฉะนั้น หลังจากนี้จึงไม่มีอะไรต้อง ‘ห่วง’ เพราะคิดเสมอว่า ธรรมศาสตร์ ไม่เคยสิ้นคนดี
“ภรรยาผมเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า ‘เรื่องลึกใต้ตึกโดม’ เพราะไปเล่าให้เขาฟังว่า อยากจะเขียนเรื่องลึกเกี่ยวกับการเป็นอธิการบดี มธ.” ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เปิดใจเบื้องแรกกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พร้อมกับบอกเล่าเบื้องหลังแนวคิดของการเขียนหนังสือเรื่องนี้ให้เราฟัง
ศ.ดร.สมคิด เป็นคนชอบเขียนหนังสือเป็นทุนเดิม ซึ่งที่ผ่านมามักจะเขียนหนังสือแต่แนววิชาการ...‘เรื่องลึกใต้ตึกโดม’...จึงเป็นเรื่องแรกที่ใช้ลีลาการเขียนแปลกไป ใช้ภาษาเรียบง่าย อ่านสนุก
"หนังสือเล่มนี้ ไม่ถึงขั้นเป็นนวนิยายเสียเลย แต่อยากให้ผู้อ่าน อ่านแล้วรู้สึกสบาย ๆ"
เมื่อถามว่า ยากหรือไม่กับการเขียนหนังสือแนวนี้ เขาคำตอบทันที " ไม่ยาก เพราะเป็นนักเขียนอยู่แล้ว จึงรู้ว่า การเขียนทุกครั้งจะต้องวางโครงเรื่อง เพื่อที่จะกำหนดทิศทางของเรื่อง ใช้เวลาเขียนประมาณ 3-4 เดือน ทั้งสิ้น 17 บท เนื้อหาบรรยายความเป็นมาเป็นไปตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์ การสรรหาอธิการบดี ช่วงระหว่างเป็นอธิการบดี จนกระทั่งถึงวันที่จะพ้นจากตำแหน่ง"
เมื่อถามต่อถึงชื่อเรื่อง อ่านดูชวนลี้ลับ ศ.ดร.สมคิด ยอมรับ เป็นเรื่องลี้ลับจริง ๆ (เสียงสูง) เช่นเขียนเล่าถึงเหตุการณ์วันแรกเข้ามาในตึกโดม ในฐานะอธิการบดี จะต้องไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมศาสตร์ ถึง 11 แห่ง
จริงเหรอ! สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน มธ. มีถึง 11 แห่ง คำตอบ คือ จริง...
เช่น มีการเขียนอธิบายในหนังสือไว้อย่างละเอียด ได้แก่ อนุสาวรีย์ท่านผู้ประศาสน์การ (ปรีดี พนมยงค์), หอพระพุทธธรรมทิฐิศาสดา (ข้างคณะนิติศาสตร์), ศาลพระภูมิใหญ่ด้านทางเข้า มธ. (ประตูฝั่งสนามหลวง), ธรรมจักรข้างกำแพงด้านใน บริเวณรั้ว มธ. (ฝั่งสนามหลวง), ศาลพระภูมิข้างคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาม (วังหน้า), พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภายในโรงละครแห่งชาติ), ศาลเจ้าแม่สิงโต, ศาลพระพรหม, ศาลพระภูมิ (ด้านข้างโรงอาหารกลาง อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี) และศาลพ่อปู่อลังกา
ส่วนวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งนั้น ก้าวเท้าซ้ายหรือขวาออกจากบ้านก่อนกัน ข้อนี้ บรรยายไว้ว่า จำไม่ได้...จำได้แต่เพียงว่า ต้องก้าวย่างใช้เท้าทั้งสองข้างอย่างมั่นคง เพื่อดำรงตนผลักดันธรรมศาสตร์ไปข้างหน้า
นั่นคือคือผู้ชายที่ไม่เคยคิดเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์มาก่อน จนเริ่มช่วยงานธรรมศาสตร์ที่ตึกโดม ยุคอาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เขารับว่า จึงค่อยๆ คิดเป็นอธิการบดี ในวัยขณะนั้น 51 ปี
"ความพร้อมไม่มีใครรู้ นอกจากตัวคุณเอง"
ศ.ดร.สมคิด ยังเล่าอีกหนึ่งเรื่อง ‘ลึก’ (ลับ) ที่เชื่อว่า ผู้อ่านอยากรู้ ไว้ในหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ เขาใช้เหตุผลใดเลือกรองอธิการบดีแต่ละคนอย่างไร ซึ่งจะมาเป็นมือเป็นไม้ช่วยทำงาน
“ผมตั้งรองอธิการบดีด้วยหลายเหตุผล ทั้งจากความสนิทสนม ไว้ใจได้ และจากหลากหลายคณะ เพื่อคนที่เข้ามาอ่านหนังสือและเตรียมตัวเป็นอธิการบดีในอนาคต จะได้รู้ได้เห็นและนำประสบการณ์นี้ไปใช้”
เขาได้อาศัยหลักเกณฑ์หลาย ๆ อย่างผสมกัน เพื่อให้ได้รองอธิการบดีมาช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ทั้งจากคนรู้จักมักคุ้น รู้ฝีมือกันมาก่อน และกระจายไปยังคณะต่าง ๆ ไม่ว่าคณะเล็กคณะใหญ่ แต่เรื่องที่ ‘ลึก’ (ลับ) ยากที่หลายคนจะรู้ หนีไม่พ้น การวางตัวรองอธิการบดีบางท่านเป็น ‘อธิการบดี’ ในอนาคต
ศ.ดร.สมคิด ยกตัวอย่างการตั้ง ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ย้ายจากรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ไปเป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ซึ่งตำแหน่งนี้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของสภามหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อให้มีประสบการณ์และรู้จักผู้คนมากขึ้น
“ผมไม่ได้บอกว่าเลือกมาเฉย ๆ แต่ต้องการวางตัวเพื่อไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในอนาคตด้วย” ศ.ดร.สมคิด ระบุ
ไม่ได้หมายความว่า ‘สายเดียวกันแล้วจะไม่ดี’
แน่นอนว่า การวางตัวบุคคลเพื่อขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น (อธิการบดี) ในอนาคตนั้น ย่อมต้องถูกครหาจากประชาคมในธรรมศาสตร์ และนอกธรรมศาสตร์ ศ.ดร.สมคิด ไม่ปฏิเสธมายาคติที่ว่า ‘สืบทอดอำนาจ’ เพราะที่ผ่านมา เขาถูกตำหนิว่า สืบทอดอำนาจมาจากสาย ‘ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร’ (อ่านประกอบ:มายาคติเรื่องการสืบทอดอำนาจในมธ.)
อีกมุมหนึ่งเขามองว่า ธรรมศาสตร์มีหลายสาย ไม่เพียงแค่สายชาญวิทย์ หรือสายนรนิติเท่านั้น ฉะนั้น การสืบทอดอำนาจก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง...จริงหรือไม่จริง
ศ.ดร.สมคิด ยอมรับว่า เขามาจากสายศ.นรนิติ เศรษฐบุตร จริง เพราะเป็นสายเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า สายเดียวกันแล้วจะไม่ดี ความจริงแล้ว เรื่องการสืบทอดอำนาจอธิการบดี มธ....จากรองอธิการบดี ขึ้นมาเป็นอธิการบดีนั้น...มีหลายสาย และมหาวิทยาลัยทุกแห่งมีเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่กล้าเล่า แต่ยืนยันว่า เราไม่ใช่พรรคการเมือง และสายในมธ.ที่ต่อสู้กันจริง ๆ มีเพียงแค่ 2 สายเท่านั้น คือ สาย ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร และสาย ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แต่สุดท้าย สาย ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร ได้อำนาจมาโดยตลอด
“ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งผมเป็นรองอธิการบดี และเป็นเพื่อนของศ.ดร.สุรพล แม้ ศ.ดร.สุรพลจะบอกได้ว่า ผม มีสิทธิขึ้นสู่ตำแหน่งอธิการบดี แต่สุดท้ายระบบการสรรหาอธิการบดี บอกไม่ได้ว่า จะได้เป็นจริงหรือไม่ เพราะอธิการบดี มธ. มาจากการสรรหา ไม่ใช่ แต่งตั้ง”
และไม่ว่าวงการใด ล้วนมีการวางแผนให้บุคคลขึ้นสู่ตำแหน่งแทนตนเองที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง ที่ไหนก็ทำ ระบบราชการก็ทำ ศ.ดร.สมคิด ยืนยัน พร้อมกับเห็นว่า คำว่า สืบทอดอำนาจ เป็นคำลบ ดังนั้น เขาจึงใช้โอกาสเขียนหนังสือเล่มนี้ตอบโต้เพื่อใ็ห้เห็นข้อเท็จจริง อธิการบดีจากสายนิติศาสตร์ ไม่ได้ครองอำนาจนานใน ธรรมศาสตร์เลย
"นับเฉพาะอธิการบดีที่มาจากการสรรหา จะพบว่า มีอธิการบดีจากสายนิติศาสตร์เพียง 2 คน คือ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ และผม ที่เหลือมาจากสายอื่นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, ศ.เกริกเกียรติ พิพัฒนเสรีธรรม คณะเศรษฐศาสตร์, ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร คณะรัฐศาสตร์, ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คณะศิลปศาสตร์, รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร คณะเศรษฐศาสตร์ และ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ ว่าที่อธิการบดีคนปัจจุบันคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี"
แต่ในความรู้สึกของคนภายนอกส่วนใหญ่กลับเห็นว่า สายนิติศาสตร์ครองอำนาจในธรรมศาสตร์ เขาบอกว่า เป็นมายาคติ โดยไม่อาศัยข้อเท็จจริง แต่อาศัยเพียงความรู้สึก
มาถึงประเด็นนี้ อดที่จะถามไม่ได้เกี่ยวกับทัศนคติที่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ผู้บริหารต้องเป็นคนรุ่นใหม่ (อายุน้อย)
ศ.ดร.สมคิด ให้ความเห็นว่า ผู้บริหารอายุน้อยใช้ได้ในแวดวงธุรกิจ แต่ใช้ไม่ได้ในแวดวงวิชาการ การศึกษา ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อธิการบดี มธ. อายุน้อยทั้งสิ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีอธิการบดีเกือบเกษียณหรือเลยวัยเกษียณ
"ผมขอยืนยัน ระบบมหาวิทยาลัยเป็นแบบสรรหาบุคคลที่เหมาะสม อายุเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดความเหมาะสม"
ขณะที่ยุคของว่าที่อธิการบดี มธ. คนใหม่ ‘รศ.เกศินี วิฑูรชาติ’ ซึ่งจะรับหน้าที่ต่อไปจากนี้นั้น แม้อายุจะเลยวัยเกษียณ แต่ดูเหมือนว่า ศ.ดร.สมคิด จะเชื่อมั่นในความสามารถ
"รศ.เกศินี เป็นคนมีความคิดพัฒนามหาวิทยาลัยที่ดีมาก ลักษณะเป็นคนที่คิดใหม่ตลอดเวลา แม้จะมีจุดอ่อนในเรื่องการเมือง เพราะ รศ.เกศินี มาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ผิดกับเขาที่มาจากคณะนิติศาสตร์ สามารถให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเมืองได้ รศ.ดร.สมคิด ยืนยัน หาใช่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสามารถแต่งตั้งรองอธิการบดีที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองได้"
เมื่ออธิการบดีเป็น สนช.
เนื้อหาเข้มข้นขึ้นไปอีก เมื่อศ.ดร.สมคิด ชวนพูดคุยในประเด็น ‘เมื่ออธิการบดี เป็นสนช.’ หนึ่งในไฮไลท์ของเล่มนี้ที่จะอ่านผ่านไปไม่ได้
เขาเล่าว่า ขณะเป็นอธิการบดีนั้น อยู่ในช่วงรัฐประหาร มีการทาบทามให้รับตำแหน่ง สนช. แน่นอนว่า ย่อมถูกโจมตีจากผู้ไม่เห็นด้วย เพราะมองรับใช้ ‘เผด็จการ’
"ผมไม่ได้รับใช้เผด็จการ ผมเป็น 1 ใน 9 อธิการบดีที่เป็นสนช.และไปดูประวัติศาสตร์ได้ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารก็จะมีการแต่งตั้งอธิการบดีแบบนี้เสมอๆ ส่วนตัวผมเห็นว่า การทำหน้าที่ สนช.มีประโยชน์ต่อประเทศ เพราะ สนช.มีหน้าที่ออกกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่ออกมาเป็นประโยชน์ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ.2560”
ทั้งนี้ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ยังกล่าวถึง "การเมืองเรื่องของธรรมศาสตร์" ไว้ว่า
“คนประท้วงก็กลุ่มเดิม ๆ ถ้าไม่ใช่นักการเมืองที่สูญเสียประโยชน์จากการรัฐประหาร ก็เป็นอาจารย์บางคนที่ไม่ชอบผม เพราะผมมีความเห็นต่างกับเขา ไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของเขา ไม่ก็เป็นกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ประท้วงผมทุกเรื่องตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารด้วยซ้ำไป ประท้วงผมเพราะผมออกมาเตือนกลุ่มนิติราษฎร์...”
ไม่เว้นเเม้เคส อาจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกไล่ออกจากราชการ เพราะขาดราชการติดต่อกันประมาณ 200 กว่าวัน ศ.ดร.สมคิด ตัดพ้อว่า ทำอะไรก็ผิดไปหมด ในสายตาคนกลุ่มนั้น เเต่ยืนยันว่า อาจารย์สมศักดิ์ กับเขาสนิทกัน
"ผมไม่มีทางเลือก อาจารย์สมศักดิ์ ไม่ถึงกับโมโหผม เเต่คล้าย ๆ น้อยใจ ทำไมไม่ปลดออก เเทนไล่ออก เเต่ในฐานะเป็นอธิการบดี ไม่มีทางเลือก ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน เเละไล่ออกสถานเดียว ตามมติครม.ที่กำหนดไว้"
ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า 7 ปีที่ผ่านมา เขาโดนถล่ม แต่ก็ใช้วิธีนิ่ง และไม่เครียด เพราะปกติเป็นคนไม่เครียด เพราะรู้ว่า เป็นสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์อธิการบดีได้ เพราะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่การจะตอบโต้กลับไม่ดี นอกเสียจากต้องเอาความดีชนะความไม่ดี
"การวางตัวเช่นนี้ทำให้มีคนชมผมเยอะ"
อธิการบดีมธ. บอกด้วยว่า ตลอด 7 ปี เขาออกมาเตือนนิติราษฎร์ เพียงครั้งเดียว ที่ออกไปเตือนให้เบา ๆ หน่อย แต่หลังจากนั้นไม่เคยเตือนเลย "ผมไม่เคยห้ามนักศึกษาชุมนุมประท้วง เพียงแต่บอกให้เบา ๆ ซึ่งเป็นอธิการบดีต้องพูดได้”
ไม่คิดเล่นการเมือง แต่สนใจการเมือง
เมื่อถามถึงการเข้าไปทำหน้าที่ สนช. ผลักดันกฎหมายหลายร้อยฉบับ ศ.ดร.สมคิด ระบุว่า คนไทยมักเข้าใจผิดว่า ประเทศไทยมีกฎหมายมาก แต่หากไปศึกษาในต่างประเทศมีมากเช่นกัน เพราะประเทศยิ่งเจริญ ยิ่งมีปัญหา ดังนั้น กฎหมายจึงต้องมีมาก แต่ยอมรับ กฎหมายไทยยังมีปัญหา หลายเรื่องต้องแก้ไข และยังมีอีกหลายฉบับยังไม่ได้แก้ไข
“ที่ผ่านมา ส.ส. และส.ว. เล่นการเมืองมากเกินไป ทำให้กฎหมายที่เป็นของรัฐบาลถูกไม่เห็นด้วยจากฝ่ายค้านเสมอ ทำให้ในรัฐบาลปกติ มีกฎหมายผ่านสภาเพียงปีละ 20-30 ฉบับ ในขณะที่ ยุคสนช.ผ่านกฎหมายได้มากกว่า 300 ฉบับ ในรอบ 3 ปี หลายฉบับได้รับการแก้ไขในสมัยนี้”
อย่างไรก็ดี เขายอมรับเช่นกันว่า กฎหมายหลายฉบับที่บังคับใช้แล้วยังไม่ดี เช่น กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพราะ 3 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ ราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน มีลักษณะการทำงานไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ไม่ควรมีกฎเกณฑ์เข้มงวด เพราะต้องค้าขายหากำไร แต่เมื่อบังคับใช้แล้วก็ต้องแก้ไขต่อไป
ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ศ.ดร.สมคิด มองว่า เพราะสนช.มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการออกกฎหมาย "น้อย" เกินไป อีกส่วนหนึ่ง เพราะ สนช.คิดถึงราชการเป็นหลัก แต่คิดถึงประชาชนน้อย ทำให้กฎหมายเริ่มต้นและเพิ่มอำนาจให้ข้าราชการ ดังนั้น สนช.ต้องรอบคอบในการออกกฎหมายมากกว่านี้
สุดท้าย เมื่อถามคิดจะเล่นการเมืองหลังจากพ้น สนช.หรือไม่ ศ.ดร.สมคิด ยืนยันว่า ไม่คิดจะเป็น ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ถ้ามีคนชักชวนจะปฏิเสธ แต่ถ้าเป็นภรรยาบอกว่า “พี่เป็นเถอะ เราก็ต้องคิดใหม่ เหมือนพ่อแม่มาบอกให้เราช่วยประเทศ เราก็ต้องคิดใหม่” แต่ใจผมไม่เคยคิดจะเป็น เพราะไม่ชอบเล่นการเมือง แต่สนใจการเมือง
ส่งท้ายบทสนทนาด้วยเรื่องเล่าชวนขนหัวลุกใต้ตึกโดม กับห้องรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ที่ทุกครั้งที่เปิดประตูเข้าไปแล้ว ประตูห้องน้ำในห้องจะเปิด ศ.ดร.สมคิด บอกว่า เหตุการณ์นี้อาจเป็นลม เพื่อความสบายใจ ไม่อยากให้งมงาย แต่ตึกโดมมีคนที่กล้านอนค้างเพียงคนเดียว คือ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ส่วนผมบอกเลยไม่กล้า !!!