มายาคติเรื่องการสืบทอดอำนาจในมธ.
"ในวงการธุรกิจ หรือในวงการบริหารแบบใหม่ ที่พูดกันถึงเรื่อง Succession Plan คือเมื่อผู้บริหารใดจะหมดวาระลง ผู้บริหารท่านนั้นก็ต้อง "มอง" "หา" "พัฒนา" คนจำนวนหนึ่งมาทดแทน เพื่อให้องค์กรได้เดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นในปัจจุบันผมเห็นทำกันในธนาคารกสิกรไทย ในปตท. ในระบบราชการทั้งหลาย ผู้บริหารที่เก่งและดีแต่ไม่สามารถหาคนที่เก่งและดีมาแทนตัวเองได้ ผู้บริหารคนนั้น ผมถือว่า ล้มเหลว ไม่ใช่ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ"
ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ จะครบวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรั้วโดมกำลังมีอธิการบดีคนใหม่ แต่มายาคติในเรื่องการสืบทอดอำนาจในรั้วธรรมศาสตร์ยังคงอยู่ อะไรคือข้อเท็จจริง อธิการบดี 20 ปีที่ผ่านมา (2533-2553) สืบทอดอำนาจกันมาโดยเป็นเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ มีจริงหรือไม่
ในหนังสือเรื่องลึกใต้ตึกโดม ที่เขียนโดยศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เตรียมแจกแฟนคลับช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ได้เผยให้เห็นข้อเท็จจริงมากกว่าความเห็นที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งมีบทหนึ่งได้อรรถาธิบาย มายาคติเรื่องการสืบทอดอำนาจในมธ. เอาไว้ด้วย โดยเฉพาะนิติศาสตร์ ครองอำนาจในมธ.มานานจริงหรือไม่
ศ.ดร.สมคิด ยืนยันหนักแน่นว่า ธรรมศาสตร์มีหลายสาย ไม่ใช่แค่สายชาญวิทย์ หรือสายนรนิติ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำบางช่วงบางตอนในหนังสือเล่มนี้ ที่ศ.ดร.สมคิด ได้ตอบโต้ความเข้าใจผิดๆ มานำเสนอ
....ก่อนอธิบายเรื่องนี้ ผมขอนำเสนอว่า ตั้งแต่ศาสตราจารย์ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นต้นมา มีใครเป็นอธิการบดีบ้าง ศาสตราจารย์ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นอธิการบดี มธ.เมื่อปี 2518-2519 มีรองอธิการบดีหลายคน ซึ่งรวมทั้งศาสตราจารย์คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี และศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งต่อมารับตำแหน่งเป็นอธิการบดี
ศ.คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี รับตำแหน่งเมื่อปี 2525-2531 มีรองอธิการบดีหลายคน และมีรองอธิการบดีของท่านถึง 3 คนที่ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้แก่ ศ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม,ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร และศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ศ.เกริกเกียรติ ได้เป็นอธิการบดีก่อน 1 สมัย ปี 2531-2534 ศ.นรนิติ ได้เป็นอธิการบดีต่อมา 1 สมัย และคนสุดท้าย คือ ศ.ดร.ชาญวิทย์ โดยศ.ดร.ชาญวิทย์ ได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ และศ.นรนิติ กลับมาเป็นอธิการบดีสมัยที่ 2 อีก 1 สมัย
ถ้าเอาระยะ 20 ปีที่ผ่าน (2533) ซึ่งก็คือปลายสมัยของศ.เกริกเกียรติ นั่นเอง
ศ.นรนิติ ขึ้นมาเป็นอธิการบดีมธ.ครั้งแรกปี 2534-2537 โดยได้รับเสียงนิยมจากอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษามาเป็นอันดับหนึ่งเหนือ ศ.เกริกเกียรติ และสภามหาวิทยาลัยก็เลือกอธิการบดีจากคนที่ได้รับเสียงมากที่สุด คือ ศ.นรนิติ เป็นอธิการบดี โดยศ.นรนิติ มีรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีหลายคน ในจำนวนดังกล่าวมีรองอธิการบดีได้ขึ้นเป็นอธิการบดี คือ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ และศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ได้เป็นอธิการบดีในเวลาต่อมา
เมื่อศ.นรนิติ ดำรงตำแหน่งครบสมัยแรก ท่านแสดงเจตนาจะเป็นอธิการบดีต่อ แต่ศ.ดร.ชาญวิทย์ เพื่อนรัฐศาสตร์รุ่นเดียวกับศ.นรนิติ และขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปศาสตร์ไม่เห็นด้วย และแสดงตนลงเข้ารับการสรรหาอธิการบดีเช่นเดียวกัน
ผลการสรรหาปรากฎว่า ศ.ดร.ชาญวิทย์ ได้คะแนนนิยมจากประชาคมมากกว่า ศ.นรนิติ ได้แสดงตนเป็นสุภาพบุรุษ ขอถอนตัวจากการสรรหาในขั้นตอนต่อไป สภามหาวิทยาลัยจึงตั้ง ศ.ดร.ชาญวิทย์ เป็นอธิการบดี แต่ถือว่า เป็นอธิการบดีที่อยู่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของมธ. คือ แค่ 7 เดือนกว่า ๆ เท่านั้น
เมื่ออธิการบดีลาออก มีการสรรหาใหม่ ประชาคมก็เสนอชื่อ ศ.นรนิติ ให้กลับมาเป็นอธิการบดีสมัยที่ 2
และเมื่อครบวาระ มธ.สรรหาได้รองศ.ดร.นริศ ชัยสูตร คณบดีเศรษฐศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดีของศ.นรนิติ เป็นอธิการบดี 2 สมัยติดกัน (2541-2547)
ต่อมา ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ก็ได้รับความเห็นชอบจากประชาคมให้เป็นอธิการบดีอีก 2 สมัย (2547-2553) เช่นเดียวกับ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นอธิการบดีต่อจากศ.ดร.สุรพล อีก 2 สมัย แต่ยาวหน่อยคือ ทั้งหมด 7 ปี (2553-2560)...
"ธรรมเนียมของธรรมศาสตร์ ตั้งแต่คุณหญิงนงเยาว์ เราไม่เคยมีอธิการอายุเกิน 60 ปีเลย เป็นครั้งแรกที่ศ.เกศินี อายุเกิน 60 ปี (69 ปี)ในรอบ 20-30 ปี ผมจำอายุคุณหญิงนงเยาว์ ตอนขึ้นตำแหน่งไม่ได้ ศ.นรนิติ ขึ้นตำแหน่งอธิการบดี ตอนอายุประมาณ 50 ปี อาจารย์นริศ 43 ปี หนุ่มที่สุด อาจารย์สุรพล 44 ปี ผม 51 ปี" ศ.ดร.สมคิด ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าวอิศรา พร้อมเปรียบเทียบกับสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่ง ทุกวันนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในประเทศไทย เกือบเกษียณทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ในหนังสือเรื่องลึกใต้ตึกโดม ที่เขียนในโอกาสลงจากเก้าอี้อธิการบดีมธ. ที่ชื่อศ.ดร.สมคิด เขายังยืนยันด้วยว่า การสนับสนุนให้คนเก่งเป็นอธิการบดีต่อ ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ และไม่ใช่การสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด พร้อมกับยกตัวอย่างเปรียบเทียบ
"ในวงการธุรกิจ หรือในวงการบริหารแบบใหม่ ที่พูดกันถึงเรื่อง Succession Plan คือเมื่อผู้บริหารใดจะหมดวาระลง ผู้บริหารท่านนั้นก็ต้อง "มอง" "หา" "พัฒนา" คนจำนวนหนึ่งมาทดแทน เพื่อให้องค์กรได้เดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นในปัจจุบันผมเห็นทำกันในธนาคารกสิกรไทย ในปตท. ในระบบราชการทั้งหลาย ผู้บริหารที่เก่งและดีแต่ไม่สามารถหาคนที่เก่งและดีมาแทนตัวเองได้ ผู้บริหารคนนั้น ผมถือว่า ล้มเหลว ไม่ใช่ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ
ที่ต้องกล่าว เพิ่มอีกให้ชัดเจนในระบบมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในธรรมศาสตร์ ก็คือ แม้จะ "มอง" "หา" "พัฒนา" คนไว้แล้วก็ตาม คนคนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าได้เป็นอธิการบดี เพราะระบบมหาวิทยาลัยไม่ใช่บริษัทเอกชนที่ชอบใครก็ตั้งคนนั้นได้ มหาวิทยาลัยไม่ใช่กระทรวง ทบวง กรม ที่ผู้บังคับบัญชาจะชี้นิ้วสั่งให้ใครมาดำรงตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้
ผู้ที่ถูก "มอง" หรือถูก "หา" ไว้จะต้องมีความรู้ความสามารถและต้องผ่านการสรรหาด้วยตัวเอง"
ศ.นรนิติ ศ.ดร.นริศ ศ.ดร.สุรพล และศ.ดร.สมคิด ล้วนแล้วแต่ผ่านการสรรหาของประชาคมและได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาคมทั้งสิ้น ไม่มีใครเลยที่ไม่ผ่านการหยั่งเสียงของประชาคม ไม่มีใครเลยที่ได้เสียงข้างน้อยแล้วขึ้นมาเป็นอธิการบดี
นอกจากนี้ เรื่องลึกใต้ดึกโดม ยังให้ข้อคิดถึงความพร้อมอของคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นอธิการบดีไว้อย่างน่าสนใจ ในปฐมบท
"ความจริง คุณจะดำรงตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ คุณต้องมีความพร้อม ความพร้อมแรก คือความพร้อมของตัวคุณ ถ้าคุณยังแวบๆ ในสมองว่า เราจะตื่นเช้าไปประชุมไปตรวจงานทำไม แสดงว่า คุณยังไม่พร้อม ถ้าคุณยังไม่พร้อม 24 ช.ม.ใน 7 วัน คุณยังไม่พร้อมเป็นอธิการบดีมธ.หรอก ถ้าคุณไม่พร้อมออกงานตอนกลางคืน ไม่พร้อมไปต่างจังหวัด เพื่อดูศูนย์ลำปาง พัทยา หรือเยี่ยมศิษย์เก่ง ซึ่งมีอยู่บ่อยๆ คุณไม่ควรเสนอตัวเป็นอธิการบดี ถ้าคุณไม่พร้อมจะพูดคุยกับนักข่าว เอกอัครราชทูต ทหาร อธิการบดีจากต่างประเทศที่แวะเวียนมาเยี่ยมประจำ คุณคงเป็นอธิการบดีมธ.ไม่ได้"
ความพร้อมนี้ ไม่มีใครรู้ได้ นอกจากตัวคุณเอง
ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ 'ศ.ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์' กับแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ "เรื่องลึกใต้ตึกโดม" ประสบการณ์ตลอด 7 ปี อยากรู้ใครเป็นคนตั้งชื่อหนังสือให้ วันแรกที่ตึกโดมกับการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึง 10 แห่ง การตั้งรองอธิการ และเรื่องราวสนุกๆ ทำไมอธิการบดีต้องมีวาระ 3 ปี เนื้อหาแน่นๆ ที่เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา เร็วๆนี้