เบื้องหลังข่าวเชิงสืบสวน'ผ่าสินบนโรลส์รอยซ์-ทุจริตซื้อสารเคมี' อิศราคว้าช่อสะอาดปี 60
".. สำนักข่าวอิศรา เป็นสื่อแห่งแรก ที่ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก พบว่า บุคคลระดับสูงในบอร์ดการบินไทย และในรัฐบาล เป็นคนเห็นชอบ และอนุมัติในการจัดซื้อเครื่องบิน และเครื่องยนต์ T800 กระทั่งมีการนำไปสู่การจ่ายเงินสินบนทั้ง 3 ก้อนดังกล่าว วงเงิน 1.3 พันล้านบาท โดยปรากฏชื่อตามเอกสารลับ และมติคณะรัฐมนตรี..." & "...สำนักข่าวอิศราเผยแพร่ข่าวกรณีการอายัดทรัพย์สินกลุ่มนายสุรพล สายพันธ์ นางนฤมล มะลิวัลย์ และนายเกรียงไกร วรรณเสริมสกุล เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 25560 ได้สืบค้นข้อมูลย้อนหลัง ตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำเสนออย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1 เดือน ถูกนำไปใช้เป็นฐานข้อมูล ในทำงานขององค์กรตรวจสอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนของ สำนักงาน ปปง. และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นการทำหน้าที่ในเชิงป้องกันการทุจริต เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้อย่างเท่าทัน หาทางป้องกันมิให้เกิดขึ้นซ้ำรอย โดยยึดหลักสุจริตเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ.."
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดงานเนื่องในโอกาสวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 18 ปี พร้อมจัดพิธีมอบรางวัล NACC Awards 2017 แก่บุคคล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประกอบด้วย 1. รางวัลโครงการรักชาติถูกทางสร้างเสริมความซื่อสัตย์สุจริต 2.รางวัลโครงการยกย่องผู้ประพฤติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต 3.รางวัลตอบเเทนหรือประโยชน์อื่นใดในการส่งเสริมการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริต 4.รางวัลองค์กรโปร่งใส 5.โครงการประกวดสื่อป้องกันการทุจริต เเละ 6.รางวัลช่อสะอาด ณ สำนักงาน ป.ป.ช. จ.นนทบุรี
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการพิจารณาให้รับรางวัลช่อสะอาด สาขาข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประจำปี 2560 'รางวัลโล่เกียรติยศ' ผู้เผยเเพร่ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว จากผลงาน ผ่าขบวนการงาบสินบนข้ามชาติ โรลส์-รอยซ์ สายการบินไทย 1.3 พันล้าน และแกะรอยเครือข่ายเอกชนคดีทุจริตจัดซื้อสารเคมีช่วยเกษตรกร 1.8 พันล้าน (อ่านประกอบ : ‘อิศรา’คว้าโล่เกียรติยศ‘ช่อสะอาด’ ปี 60 ตีข่าวผ่าสินบนโรลส์รอยซ์-ทุจริตซื้อสารเคมี)
เพื่อให้สาธารณชน ได้รับทราบที่มาและเบื้องหลังการทำข่าวทั้ง 2 ชิ้น สำนักข่าวอิศรา ขอนำเนื้อความในใบสรุปปะหน้าข่าวที่นำส่งให้ สำนักงาน ป.ป.ช.พิจารณา มาเผยแพร่เป็นทางการอีกครั้ง ณ ที่นี้
ผ่าขบวนการงาบสินบนข้ามชาติ โรลส์ –รอยส์ การบินไทย 1.3 พันล้าน
ที่มาและความสำคัญของข่าว
กรณีสื่อต่างประเทศหลายสำนักเผยแพร่ข่าวว่า ศาลสหราชอาณาจักรสั่งปรับบริษัท โรลส์-รอยซ์ (Rolls Royce) บริษัทเครื่องยนต์สัญชาติอังกฤษ 671 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) หลังถูกสำนักงานต่อต้านการทุจริตแห่งสหราชอาณาจักร (SFO) ตรวจสอบพบว่า สมรู้ร่วมคิดในการติดสินบนในไทย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไนจีเรีย โดยคำวินิจฉัย SFO ระบุว่า โรลส์-รอยซ์ ยอมจ่ายเงินประมาณ 1.3 พันล้านบาทให้นายหน้าในภูมิภาคโดยบางส่วนจ่ายแก่ผู้แทนประเทศไทย และพนักงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริษัท การบินไทยฯ จัดซื้อเครื่องยนต์ T800 ระหว่างปี 2534-2548 เพื่อให้บริษัท การบินไทยฯ จัดซื้อเครื่องยนต์ T800 จำนวน 3 ลอตจากโรลส์-รอยซ์
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นมติคณะรัฐมนตรี จากเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และข้อมูลจากแหล่งข่าว รวมถึงตามสำนวนของ SFO พบว่า บริษัท การบินไทยฯ จัดซื้อเครื่องยนต์ T800 เป็น 3 ช่วง แบ่งเป็น 3 รัฐบาล ได้แก่ ก้อนแรกปี 2534-2535 วงเงิน 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.) ก้อนที่สองปี 2535-2540 วงเงิน 10.38 ล้านเหรีญสหรัฐ (รอยต่อระหว่างรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) และก้อนที่สามปี 2547-2548 วงเงิน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร 1) ซึ่งข้อมูลที่สำนักข่าวอิศราสืบค้นจากมติคณะรัฐมนตรี และข้อมูลจากแหล่งข่าว รวมถึงเอกสารจากบอร์ดการบินไทยช่วงปี 2534-2548 พบว่า เป็นข้อมูลที่ตรงกัน โดยมีสาระสำคัญคือการจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติม รวมถึงจัดซื้ออะไหล่เครื่องยนต์ T800 มาติดตั้งบนเครื่องบินดังกล่าว
เมื่อสำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวออกไป ส่งผลให้รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะทำงานขึ้นมาแสวงหาข้อเท็จจริง กระทั่งบูรณาการกับหน่วยงานอื่นในการตรวจสอบคดีสินบนข้ามชาติ จนล่าสุดมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนี้แล้ว โดยกล่าวหาอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ว่าเข้าไปพัวพันเรื่องนี้ด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวน และสืบเรื่องเส้นทางการเงิน
กระบวนการทำข่าว
สำนักข่าวอิศรานำกระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวนมาใช้ในการทำข่าวดังกล่าว โดยร่วมมือกับแหล่งข่าวจากรัฐบาลประสานข้อมูลมติคณะรัฐมนตรีที่บางครั้งเป็นเอกสารลับ หรือไม่สามารถเผยแพร่ได้ รวมถึงการสืบค้นข้อมูลการประชุมคณะรัฐมนตรีจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และข้อมูลการประชุมบอร์ดการบินไทยในช่วงที่เกิดเหตุดังกล่าว รวมถึงการสืบค้นข้อมูลจากคำพิพากษา และสำนวนการไต่สวนของ SFO จากต่างประเทศ พร้อมกับเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ
สำหรับขั้นตอนการทำข่าวของสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลสำคัญ ได้แก่
- สำนักข่าวอิศราเป็นสื่อแรกที่แกะรอยคำพิพากษา และสำนวนการไต่สวนกรณีนี้จากศาลสหราชอาณาจักร และ SFO มาเผยแพร่ข่าว และรายงาน โดยใช้ข้อมูลมติคณะรัฐมนตรีขณะนั้น รวมถึงมติบอร์ดการบินไทยขณะนั้น มารายงานให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริง
- สำนักข่าวอิศราเป็นสื่อแรกที่เสนอข่าวจากเอกสารลับในการอนุมัติจัดซื้อเครื่องบิน เครื่องยนต์ T800 รวมถึงเครื่องยนต์อะไหล่ โดยเป็นการอนุมัติอย่างเป็นลำดับชั้นตั้งแต่บอร์ดการบินไทยที่ต้องการพัฒนาแผนวิสาหกิจ นำเสนอเรื่องสู่ รมว.คมนาคม ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กระทั่งอนุมัติงบประมาณจัดซื้อดังกล่าว
- สำนักข่าวอิศรา ยังเป็นสื่อแห่งแรก ที่ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก พบว่า บุคคลระดับสูงในบอร์ดการบินไทย และในรัฐบาล เป็นคนเห็นชอบ และอนุมัติในการจัดซื้อเครื่องบิน และเครื่องยนต์ T800 กระทั่งมีการนำไปสู่การจ่ายเงินสินบนทั้ง 3 ก้อนดังกล่าว วงเงิน 1.3 พันล้านบาท โดยปรากฏชื่อตามเอกสารลับ และมติคณะรัฐมนตรี
ผลจากการนำเสนอข่าว
ข้อมูลข่าว-รายงานของสำนักข่าวอิศรา ภายหลังเผยแพร่ออกไปส่งผลให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่ระดับใดมีส่วนร่วมในการกระทำผิดที่ผ่านมาบ้าง รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อเท็จจริง นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังตั้งคณะทำงานขึ้นมาแสวงหาข้อเท็จจริง กระทั่งนำไปสู่การร่วมกับอัยการสูงสุด (อสส.) และหน่วยงานตรวจสอบของรัฐอื่น ๆ เพื่อบูรณาการข้อมูลทำคดีสินบนข้ามชาติ กระทั่งมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ กล่าวหาอดีตนักการเมืองชื่อดัง และบอร์ดการบินไทยในช่วงปี 2547-2548 เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าอาจมีส่วนร่วมในการรับเงินสินบนดังกล่าวด้วย ซึ่งรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรามีส่วนช่วยให้รัฐบาล บริษัท การบินไทยฯ และหน่วยงานตรวจสอบอื่น ๆ ทราบข้อเท็จจริงว่า ขั้นตอนการจ่ายสินบนอยู่ที่กระบวนการใด วิธีการได้มาซึ่งเครื่องยนต์ T800 ได้มาอย่างไร และบุคคลระดับใดเป็นผู้เสนอ และอนุมัติการจัดซื้อดังกล่าว (อ่านประกอบ : โชว์ชัดๆ 'INFO' ไทม์ไลน์คดีสินบน 'โรลส์รอยซ์-การบินไทย' 3 ยุค 1.2 พันล.,ขมวดเงื่อนงำคดีสินบน‘โรลส์รอยซ์-บินไทย’ 3 ยุค ฉบับ‘อิศรา’เทียบ SFO)
แกะรอยเครือข่ายเอกชนคดีทุจริตจัดซื้อสารเคมีช่วยเกษตรกร 1.8 พันล.
คดีทุจริตจัดซื้อสารเคมีช่วยเหลือเกษตรกรในการกำจัดศัตรูพืชที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (การเกิดโรคหรือการระบาดของแมลงศัตรูพืช) ปีงบประมาณ 2554-2555 ในจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม มุกดาหาร และบึงกาฬ นับตั้งแต่เบิกจ่าย ถูกร้องเรียนในปี 2556 มีเรื่องอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) 2 คดี คือ คดีนายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ จังหวัดบึงกาฬ กับพวก 41 ราย และคดีนายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กับพวก 22 ราย เป็นผู้ถูกกล่าวหา กรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดโปงข้อเท็จจริงว่าแท้จริงแล้วเอกชนที่เกี่ยวข้องทำแป็นขบวนการเชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกันในการเข้าเป็นคู่สัญญาจัดซื้อสารเคมีในหลายจังหวัด
ความเป็นมา และการสืบค้นของสำนักข่าวอิศรา
ภายหลังจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้เผยแพร่คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2560 อายัดทรัพย์ นายสุรพล สายพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัจังหวัดดอุบลราชธานี นางนฤมล มะลิวัลย์ และนายเกรียงไกร วรรณเสริมสกุล กับพวก รวม 2 ครั้ง 16 ราย รวมทรัพย์สิน 320 รายการ (มูลค่าทรัพย์สินเฉพาะ 234 รายการ 452 ล้านบาท)
สำนักข่าวได้ตรวจสอบรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลที่ถูกอายัดอย่างละเอียดเพื่อสืบค้นว่าบุคคลและนิติบุคคลดังกล่าวเป็นใคร เชื่อมโยง เกี่ยวพันกับการจัดซื้อจัดจ้างสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างไร? โดยใช้กระบวนการสืบค้นข้อมูลที่เป็นเอกสารจากหน่วยงานราชการจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องและจากการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์บุคคล กระทั่งได้ข้อเท็จจริงโดยสรุปว่า
1.นายเกรียงไกร วรรณเสริมสกุล ตัวการสำคัญไม่ปรากฎชื่อเป็น 1 ใน 16 รายที่ถูก ปปง.อายัดทรัพย์ นามสกุลเดิม ‘ปุยะติ’ มีภูมิลำเนาในจังหวัดสระบุรี ต่อมาย้ายไปอยู่ขอนแก่น และปทุมธานี เป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมา 3 แห่ง คือ หจก.สยามไทยโยธาการ หจก. สินวิชัย และ บริษัท เสริมสินการช่าง จำกัด มีประวัติถูกศาลแพ่งและศาลปกครองสั่งอายัดทรัพย์ 4 คดีรวมวงเงินกว่า 24.4 ล้านบาท ให้แก่กรมทางหลวงชนบท ในช่วงปี 2552 ก่อนเป็นคู่สัญญาจัดซื้อสารเคมีในช่วงปี 2554-2555 และเป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษา ศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2559 และพบว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงและโดยอ้อมกับบุคคลและนิติบุคคลที่เป็นค่สัญญาและเกี่ยวข้องกับถูกอายัดทรัพย์หลายคน
2.นิติบุคคล 3 รายที่ถูกอายัดทรัพย์ ได้แก่ บริษัท ธนาเอกอนันต์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 10 ม.ค. 2555 ทุน 1 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 60 ล้านบาท บริษัท นิลธาร จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2555 ทุน 100 ล้านบาท และ บริษัท ทรัพย์การัณย์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 6 ก.พ. 2558 ทุน 10 ล้านบาท ทั้ง 3 บริษัทมีผู้ถือหุ้นต่างกัน แต่ใช้ ‘ผู้รับมอบอำนาจ’ จดทะเบียนคนเดียวกัน และ ‘พยาน’ ผู้ลงชื่อในเอกสารคนเดียวกัน ทำให้เชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกันและถูกจัดตั้งภายหลังการเป็นคู่สัญญาจัดซื้อสารเคมีซึ่งเกิดขึ้นในปี 2554-2555
3.น.ส.พัชรีย์ ศุภสรรพตระกูล 1 ในผู้ถูกอายัดทรัพย์ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัท ทรัพย์การัณย์ จำกัด มีความเกี่ยวข้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองเป็นพยานในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท มินถาพร จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาจัดซื้อสารเคมี 13 สัญญา 112.4 ล้านบาท เป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายเกรียงไกรในการยื่นจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมที่ตั้งสำนักงานของ หจก. สยามไทยการโยธา และ เป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายเกรียงไกรในการยื่นจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมที่ตั้งสำนักงานบริษัท เสริมสินการช่าง จำกัด ซึ่งมีนายเกรียงไกรเป็นเจ้าของ
4. น.ส.วิมลสิริ โตวิริยะกุล 1 ในผู้ถูกอายัดทรัพย์ เป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ทรัพย์การัณย์ จำกัด (น.ส.พัชรีย์ ศุภสรรพตระกูล ร่วมถือหุ้น) มีอายุเพียง 24 ปี เจ้าของบัญชีเงินฝาก 4 บัญชี 13.5 ล้านบาท เป็นเจ้าของบ้านมูลค่า 55 ล้านบาท และถือหุ้นธุรกิจรับเหมา 3 บริษัท แท้ที่จริงเป็นลูกสาวนายเกรียงไกร (บุคคลทั้งสองใช้คนละนามสกุลกัน)
5.นายนิคม ปุยะติ 1 ในบุคคลผู้ถูกอายัดทรัพย์ นามสกุลเดียวกับ นายเกรียงไกร เมื่อครั้งที่นายเกรียงไกรใช้นามสกุล ‘ปุยะติ’
6.นายศักดา หอมจันทร์ 1 ในบุคคลผู้ถูกอายัดทรัพย์ มีอายุเพียง 27 ปี ถือหุ้นใหญ่มูลค่า 68 ล้านบาทในบริษัท นิลธาร จำกัด ทำธุรกิจรับเหมาจากทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท อยู่บ้านชั้นเดียวและบ้านหลังดังกล่าวเชื่อมโยงกับบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ติดกัน และเป็นที่อยู่ของหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ธนาเอกอนันต์ จำกัด (ถูกอายัด) ต่อมาหญิงสาวคนดังกล่าวได้โอนหุ้นให้ น.ส.วิมลสิริ โตวิริยะกุล บุตรสาวนายเกรียงไกร
7. นายโชคอนันต์ พลเขต นางณุธษา พลเขต น.ส.อัญชรีพร พลเขต และ ด.ญ. ฐิติพร พลเขต ผู้ถูกอายัดทรัพย์ 24 รายการ จากการตรวจสอบพบว่า นายโชคอนันต์ และ นางณุธษา เป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างชื่อ บริษัท โชครับทรัพย์อนันต์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 7 ม.ค. 2552 ทุน 1 ล้านบาท อยู่ในจังหวัดขอนแก่น ( 7 เม.ย.2553 แจ้งเปลี่ยนวัตถุประสงค์เป็นขายยาปราบศัตรูพืช) เป็นคู่สัญญาจัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกับที่ทำการปกครองอำเภอใน จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร และ สำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ (2 สัญญา) ในช่วงปี 2553- เม.ย.2556 จำนวน 87 สัญญา รวมวงเงิน 643,297,770 บาท
8. ผู้เกี่ยวข้องในบริษัท มินถาพร จำกัด (จังหวัดขอนแก่น) และ บริษัท โชครับทรัพย์อนันต์ จำกัด (จังหวัดขอนแก่น) มีตัวละคร อาทิ ผู้ถือหุ้น นามสกุลเดียวกัน ผู้รับมอบอำนาจ พยาน เชื่อมโยง กับเอกชนอีก 6 ราย คือ หจก.ศ.ศุภฤกษ์ (จังหวัดขอนแก่น) หจก.รับทรัพย์รุ่งเรือง (จังหวัดกาฬสินธุ์) หจก. นำทรัพย์เจริญ (จังหวัดมหาสารคาม) หจก.เมืองเลยเพิ่มทรัพย์รุ่งเรือง (จังหวัดเลย) หจก. นัติชดา (จังหวัดขอนแก่น) และ หจก.โชติชนิด (จังหวัดขอนแก่น) รวมเอกชน 8 ราย เป็นคู่สัญญาจัดซื้อสารเคมีกับที่ทำการปกครอง 25 อำเภอ 4 จังหวัด จำนวน 307 สัญญา 1,818,300,645 บาท ไม่รวมกรณีจัดซื้อเคมีในท้องที่จังหวัดบึงกาฬ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวน นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา อดีตผู้ว่าฯบึงกาฬกับพวกรวม 41 คน (เฉพาะข้าราชการ 37 ราย) น่าสังเกตว่าเอกชนทั้ง 8 ราย จดทะเบียนจัดตั้งในปี 2552-2554 เลิกกิจการในปี 2555 โดยใช้ผู้รับมอบอำนาจคนเดียวกัน
เห็นได้ว่าผู้ถูกอายัดทรัพย์มีความเชื่อมโยงกับบริษัทคู่สัญญาจัดซื้อสารเคมีช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด
ผลจากการเสนอข่าว
สำนักข่าวอิศราเผยแพร่ข่าวกรณีการอายัดทรัพย์สินกลุ่มนายสุรพล สายพันธ์ นางนฤมล มะลิวัลย์ และนายเกรียงไกร วรรณเสริมสกุล เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 25560 ได้สืบค้นข้อมูลย้อนหลัง ตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำเสนออย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1 เดือน ถูกนำไปใช้เป็นฐานข้อมูล ในทำงานขององค์กรตรวจสอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนของ สำนักงาน ปปง. และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นการทำหน้าที่ในเชิงป้องกันการทุจริต เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้อย่างเท่าทัน หาทางป้องกันมิให้เกิดขึ้นซ้ำรอย โดยยึดหลักสุจริตเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ (อ่านประกอบ : เรียงข้อมูล‘พัชรีย์’เชื่อม‘เกรียงไกร’ คดีฟอกเงินทุจริตจัดซื้อสารเคมี, ปปง.แพร่คำสั่งอายัดทรัพย์อดีตผู้ว่าฯอุบล-พวก 384 ล. คดีฮั้วจัดซื้อยาฆ่าแมลง, 16 รายชื่อถูก ปปง.อายัดทรัพย์คดีฟอกเงิน งบภัยพิบัติจัดซื้อสารเคมี 3 จว., เปิดตัว ‘เกรียงไกร’ คดีทุจริตงบภัยพิบัติจัดซื้อสารเคมีกลุ่มอดีตผู้ว่าฯ, คดีฟอกเงินงบภัยพิบัติ‘หนุ่ม 27 ปี’โอนหุ้น 50ล.ให้นักธุรกิจกลุ่มลูกอดีต รมต., เช็คสถานะคดีฮั้วจัดซื้อยาฆ่าแมลง12จว. ใครจ่อคิวถูกอายัด ซ้ำรอยอดีต'ผู้ว่าฯอุบล')
--------------
ทั้งหมดนี้ จึงถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า ข่าวเชิงสืบสวน ยังคงมีคุณค่าและความสำคัญในการทำข่าวของสื่อมวลชน ตามบทบาทหน้าที่ดูแลปกป้องรักษาผลประโยชน์สาธารณะ โดยไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใดก็ตาม