เช็คสถานะคดีฮั้วจัดซื้อยาฆ่าแมลง12จว. ใครจ่อคิวถูกอายัด ซ้ำรอยอดีต'ผู้ว่าฯอุบล'
"..ในขั้นตอนการดำเนินงานของ สตง. นอกเหนือจากการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย จะมีการส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการอายัดทรัพย์ เช่นเดียวกับ กรณีของจังหวัดอุบลราชธานีด้วย.."
สืบเนื่องจาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เผยแพร่คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม อายัดทรัพย์ นายสุรพล สายพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการ จ.อุบลราชธานี ,นางนฤมล มะลิวัลย์ และ นายเกรียงไกร วรรณเสริมสกุล กับพวก จำนวน 229 รายการ อาทิ เงินฝากในบัญชีธนาคาร รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง โรงเรือน ห้องชุด เป็นต้น รวมราคาประเมินทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้เบื้องต้น คิดเป็นมูลค่า 384,129,127.73 บาท
โดยเป็นผลจากที่ ปปง. ได้รับแจ้งรายงานผลการสอบสวนคดีการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน การเกิดโรคหรือการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช ช่วงปี 2554-2555 จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งปรากฏพฤติการณ์การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่หลายอำเภอในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จ.อุบลราชธานี และ จ.อำนาจเจริญ ในการจัดซื้อสารเคมีแจกจ่ายให้กับราษฎร โดยไม่ถูกต้อง ส่อไปในทางทุจริต ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (อ่านประกอบ : ปปง.แพร่คำสั่งอายัดทรัพย์อดีตผู้ว่าฯอุบล-พวก 384 ล. คดีฮั้วจัดซื้อยาฆ่าแมลง)
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า ปัจจุบัน สตง. อยู่ระหว่างสรุปรายงานผลการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน การเกิดโรคหรือการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช ช่วงปี 2554-2555 ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ จำนวน 12 จังหวัด นอกเหนือจาก จ.อุบลราชธานี (รวมเป็น 13 จังหวัด) ที่ส่งให้ ปปง.ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ไปแล้วตามที่ปรากฎเป็นข่าว
โดย พื้นที่ที่ตรวจสอบพบปัญหาใน 13 จังหวัด (รวมอุบลราชธานี) มีจำนวนทั้งหมด 176 อำเภอ วงเงินที่ทำสัญญาอยู่ที่ 2,686 ล้านบาท และมีมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 1,195 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : จ่อคิว12จว.!สตง.ส่งปปง.อายัดทรัพย์คดีฮั้วซื้อยาฆ่าแมลง ซ้ำรอยอดีตผู้ว่าฯอุบล)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงใน สตง. เกี่ยวกับสถานะทางคดีฮั้วจัดซื้อยาฆ่าแมลงในพื้นที่ 13 จังหวัด (รวมอุบลราชธานี) ของสำนักตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2559 สรุปได้ดังนี้
สตพ.1 จ.ปราจีนบุรี จำนวน 6 อำเภอ และ สตพ.2 จ.ฉะเชิงเทรา 1 อำเภอ ระบุสถานะทางคดีออกรายงานแล้ว
ส่วน สตพ.4 จ.นครราชสีมา 22 อำเภอ พบว่า ออกรายงานแล้วเช่นกัน โดยในส่วนของ จ.บุรีรัมย์ อีก 18 อำเภอ อยู่ระหว่างร่างรายงาน
ขณะที่ สตพ.5 จ.อุบลราชธานี ออกรายงานแล้ว 11 อำเภอ โดย 6 อำเภอ อยู่ระหว่างเสนอ ผอ.สำนักฯ และอีก 2 อำเภออยู่ระหว่างร่างรายงาน
ส่วน จ.ศรีสะเกษอยู่ระหว่างร่างรายงานจำนวน 55 อำเภอ รวมถึง 18 อำเภอใน จ.ยโสธร ด้วย
ด้าน สตพ.6 จ.บึงกาฬ ระบุสถานะคดีว่า ออกรายงานแล้ว
ส่วน สตพ.7 จ.ร้อยเอ็ด อยู่ระหว่างเสนอผลการตรวจสอบ จำนวน 3 อำเภอ และอยู่ระหว่างเสนอ ผอ.สำนักฯ อีก 3 อำเภอ โดย จ.มหาสารคาม ออกรายงานแล้ว 3 อำเภอ อยู่ระหว่างเสนอ ผตง. 3 อำเภอ ,ผอ.สำนักฯ 2 อำเภอ และอีก 4 อำเภออยู่ระหว่างร่างรายงาน
สำหรับ สตพ.9 จ.พะเยา ระบุสถานะคดีว่าอยู่ระหว่างเสนอผลสอบ 15 อำเภอ ส่วน สตพ.11 จ.พิจิตร และ สตพ.13 จ.สุราษฎร์ธานี ออกรายงานแล้ว จำนวน 5 และ 3 อำเภอตามลำดับ
รวมทั้งสิ้น 13 จังหวัด 176 อำเภอ
ทั้งนี้ ในการรายงานผลสถานะทางคดีดังกล่าว ระบุว่า มีวงเงินที่ได้รับจัดสรรรวมจำนวน 2,863,947,344.56 บาท เป็นวงเงินที่ทำสัญญารวม 2,686,488,876.24 บาท และมีมูลค่าความเสียหายรวม 1,195,802,947 บาท (ดูตารางประกอบ)
เบื้องต้น มีรายงานข่าวว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดแต่ละพื้นที่ เป็นเรื่องการจัดซื้อสารเคมีแจกจ่ายให้กับราษฎร โดยไม่ถูกต้อง ส่อไปในทางทุจริต ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
โดย ข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกัน ประกอบด้วย หัวหน้าและเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.อุบลราชธานี คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินระดับอำเภอ ผู้อนุมัติในการจัดซื้อสารเคมี เสมียนตราอำเภอ คณะกรรมการจัดหาและเจรจาต่อรองราคา และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ นิติบุคคลที่ร่วมเสนอราคาขายวัตถุเคมีอันตรายในลักษณะสมยอม ร่วมกันกระทำผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
ขณะที่ ในขั้นตอนการดำเนินงานของ สตง. นอกเหนือจากการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย จะมีการส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการอายัดทรัพย์ เช่นเดียวกับ กรณีของจังหวัดอุบลราชธานีด้วย
ส่วนจังหวัดใดที่อยู่ในข่ายถูกอายัดทรัพย์ก่อน หรือหลังพิจารณาจากสถานะทางคดีแล้ว น่าจะรับรู้คำตอบได้โดยไม่ยากเย็นนัก ?
อ่านประกอบ:
เจาะปมจัดซื้อ‘ยาปราบศัตรูพืช’จ.มุกดาหาร ขุมข่าย‘2 บ. -4 หจก.’เหมา 408 ล้าน
เจาะ‘อำนาจเจริญ’ ขุมข่าย‘2 บ. -4 หจก.’กวาดจัดซื้อ‘ยาปราบศัตรูพืช’379 ล้าน
เปิด 173 สัญญาจัดซื้อ‘ยาปราบศัตรูพืช’ จ.อุบลฯ 14 อำเภอ ‘2 บ.- 6 หจก.’ 674 ล.
‘สรรพากร’ส่งหนังสือยิบ 65 ฉบับ ‘แช่เข็ง-สอบภาษี’8 ผู้ขาย‘ยาปราบศัตรูพืช’
หลักฐาน-ชื่อ'หญิงสาว'มัด! 8 ผู้ขายยาปราบศัตรูพืช 1.4 พันล. ที่แท้‘เครือข่ายเดียวกัน’
2 บ.-6 หจก.ยาปราบศัตรูพืช โชว์รายได้ 4.2 พันล.-ส่งหนุ่มวัย 22 ปีแจ้งเลิกกิจการ
พบ‘หุ้นใหญ่’หจก.ขาย‘ยาปราบศัตรูพืช’อายุแค่ 22-25 ปี รับ 446.3 ล้าน
เปิดชื่อขรก.-เอกชนยกจ.บึงกาฬ! ป.ป.ช.ลุยสอบพันปมจัดซื้อสารป้องเชื้อราข้าว
พบ บ.ที่ 8 ฟันขาย‘ยาปราบศัตรูพืช’ 524 ล. -ลาม สนง.เกษตรฯด้วย 43 ล.
เปิดอีก 3 บ. พันคดี'ยาปราบศัตรูพืช’ ฟันอื้อ 469.9 ล - แจ้งเลิกกิจการ ‘วันเดียวกัน’
เปิด 4 หจก.ซื้อขาย‘ยาฆ่าแมลง’ 87 ครั้ง 490 ล. ชนวนสอบผู้ว่าฯกับพวก 41 ราย