โรงพยาบาลเก่าได้ แต่โกงไม่ได้
"..งบการจัดซื้อจัดจ้างโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์สูงถึงกว่า 600 ล้านบาท/ปี หากมีเงินทอนเพียง 5 -15 % มีมูลค่าที่สูงมาก รวมทั้งหากจัดซื้อของที่แพงผิดปกติย่อมเกิดความเสียหายมากกับงบประมาณของชาติ และ ยังอาจทำให้ประเทศได้ผู้อำนวยการที่ไม่ซื่อสัตย์.."
สองสัปดาห์ก่อนข้าราชการคนหนึ่งถามต่อหน้าว่า ทำไมเรื่องร้องเรียนกรณีโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งในจ.ระยองซึ่งตกเป็นข่าวเมื่อสองเดือนก่อนถึงเงียบหาย?
ก่อนหน้านี้ กระทรวงต้นสังกัดและองค์กรอิสระในระดับจังหวัดกำลังสอบสวน เห็นว่าไม่มีความคืบหน้า ส่วนตัวก็ไม่ได้คาดหวังกับกลไกการตรวจสอบภายใต้ระบบอุปถัมภ์? หรือบางคนอาจเรียกว่า ‘ระบบพี่ช่วยน้อง’ อยู่แล้ว
ประเด็นร้องเรียนโรงพยาบาลที่ตกเป็นข่าวมี 3 กรณี
1. การรับเงินทอน จากบริษัทยา- เครื่องมือแพทย์ จำนวนกว่า 20 ล้านบาทต่อปี
2. การจ้างเหมา CT - MR1 (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) โดยจัดจ้างเอกชน มาดำเนินการในโรงพยาบาลระยองมีราคาจ้างเหมาสูงกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ 2 – 3 เท่าตัว รวมมูลค่า 33.6 ล้านบาท/ปี
3. การก่อสร้าง ตกแต่งภายในห้องผ่าตัด 14 ห้อง รวมมูลค่า 159 ล้านบาท มีราคาวัสดุสูงเกินกว่าจริง
ดูจากข้อมูลตามที่ปรากฎเป็นข่าว เห็นว่าถ้าสอบสวนอย่างตรงไปตรงมาก็สาหัสอยู่โดยเฉพาะกรณีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของกองทุนโรงพยาบาล ปรากฏรายการสเตทเมนท์เงินหมุนเวียนนับสิบล้านบาท ในจำนวนนี้ถอนออก 4 ครั้งๆละ 1 ล้านบาทในวันเดียวซึ่งทางผู้บริหารก็ยอมรับในข้อเท็จจริงว่าเป็นเงินที่เอกชนบริจาคด้วยความสมัครใจ ส่วนกรณี 4 ล้านบาทอ้างว่าถอนจากบัญชีนี้แล้วนำไปเข้าฝากอีกบัญชีอ้างว่าสนับสนุนแพทย์ทำวิจัย จำนวน 2 ล้าน ฟังก็ยังไม่กระจ่าง โดยเฉพาะเงินสดถอนออกจากบัญชีจำนวน 2 ครั้งละ 1 ล้านบาท เอาไปไหน?
น่าสังเกตว่าจนถึงขณะนี้ ไม่มีการเปิดเผยผลการสอบสวน แถมล่าสุดมีข้อมูลว่า การสอบสวนในเรื่องนี้ เอาเจ้าหน้าที่ระดับ ซี 3 ซี 4 ในสำนักงานปลัดหรือรองปลัดฯไปนั่งซักถามโดยมิได้สอบสวนตามประเด็นร้องเรียนและหลักฐานที่ปรากฎ ทำให้ถูกครหาในความโปร่งใสยิ่งขึ้นไปอีกว่ามีความพยายามปกปิด ช่วยเหลือ หรือพยายามที่จะหาบุคคลผู้ร้องเรียนเพื่อห้ามปราม เตือนการกระทำ หรือไม่?
เรื่องคอมมิชชันหรือเงินทอนค่ายา เป็นเรื่องใหญ่ในระบบสาธารณสุข ไม่ต่างจากกรณีเงินทอนวัด 12 แห่ง หัวหน้ารัฐบาล ผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข ไม่อยากรู้หรือว่ามีการเบิกจ่ายไปให้ ‘ผู้ใหญ่’ หรือไม่? โรงพยาบาลแห่งอื่นทำกันหรือไม่?
คอมมิชชัน หรือเงินทอน เป็นต้นทุนในการรักษาพยาบาลของชาวบ้านที่ต้องจ่ายในราคาแพงกว่าความเป็นจริงหรือไม่?
ต้องแสดงถึงความตั้งใจในการจัดการปัญหาอย่างเด็ดขาด ตรงไปตรงมา เอาคนที่มีปัญหาออกมา เหมือนกรณีเงินทอนวัดหรือไม่?
อันที่จริงเรื่องร้องเรียนกล่าวหาการทุจริตเกิดขึ้นในโรงพยาบาลหลายแห่ง ประหนึ่งเป็นเรื่องปกติ นอกจากเรื่องเงินทอนบริษัทยา งบการจัดซื้อจัดจ้างโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์สูงถึงกว่า 600 ล้านบาท/ปี หากมีเงินทอนเพียง 5 -15 % มีมูลค่าที่สูงมาก รวมทั้งหากจัดซื้อของที่แพงผิดปกติย่อมเกิดความเสียหายมากกับงบประมาณของชาติ และ ยังอาจทำให้ประเทศได้ผู้อำนวยการที่ไม่ซื่อสัตย์ เล็งเห็นผลประโยชน์จากเงินก้อนดังกล่าว รวมไปถึงการซื้อขายตำแหน่งสำคัญในระบบสาธารณสุขซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีต
กรณีเอาพื้นที่ไปให้เอกชนเช่าเชิงพาณิชย์เปิดร้านขายอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายกาแฟชื่อดัง ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีการประมูลแข่งขัน ประกวดราคาหรือไม่ มีข้อมูลว่า บางแห่งทำเลทองมีรายได้เดือนละนับล้านบาท
เพื่อนคนหนึ่ง ส่งจดหมายเปิดผนึกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขถึงผู้อำนวยโรงพยาบาลทุกแห่ง มาให้อ่าน มีเนื้อหาสั้นๆ
“สองปีที่เราได้ร่วมงานกันมา ผมเห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการพัฒนาโรงพยาบาลในความรับผิดชอบของท่าน แม้จะมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณและบุคลากร ขอให้ทุกท่านพึงระลึกไว้เสมอว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคือปัจจัยแห่งความสำเร็จของโรงพยาบาล โรงพยาบาลอาจจะเก่าไปตามกาลเวลา แต่ขอให้มีหลักการว่า โรงพยาบาลเก่าได้แต่สกปรกไม่ได้ ต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย และขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อความมั่นคงและหลอมรวมน้ำใจของบุคลากรและประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะสุขภาพของประชาชนคือเป้าหมายสูงสุดของพวกเราครับ”
ไม่ทราบว่าท่านเขียนและส่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อใด และไม่ทราบถึงความหมาย ‘สกปรก ระเบียบเรียบร้อย’ ตรงไปตรงมา หรือ ซ่อนความนัยหรือไม่ อย่างไร?
ชื่นชมทุกถ้อยคำ แต่การกระทำสำคัญกว่า ขอเรียนเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลเก่าได้ สกปรกไม่ได้ แต่โกงหรือปล่อยให้ใครโกงไม่ได้โดยเด็ดขาดด้วยครับ
อ่านเรื่องประกอบ: