เมื่อรบ.'บิ๊กตู่ ขยับ แก้ไขปัญหาe-bidding ทั้งระบบ!ล้างบางทุจริต 'ซื้อขายข้อมูล'
"...บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ ให้กรมบัญชีกลางจัดระบบคัดกรองบุคคลผู้เกี่ยวข้อง (clearance) ทุกคนว่าต้องเป็นผู้ที่ไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่เอกชนของบริษัทภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อมิให้เข้าถึงข้อมูลและล่วงรู้หรือลอบนำข้อมูลออกไปได้ อีกทั้งให้จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศด้วย ซึ่งการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว..."
ดูเหมือนว่า ปัญหาการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) กำลังได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างเป็นระบบ!
หากใครยังจำได้ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) กรณีมีการร้องเรียนกล่าวหากันว่ามี ‘มือมืด’ สามารถเจาะเข้าระบบ e-bidding เพื่อนำข้อมูลการเสนอราคาของเอกชนออกมาเผยแพร่ให้กับบุคคลที่ต้องการได้ โดยต้องจ่ายค่าตอบแทน ภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขยายผลสอบสวนเพิ่มเติมจากการจับกุมผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อขายพาสเวิร์ดระบบการประมูล e-bidding ผ่านกรมบัญชีกลาง เบื้องต้นพบพฤติการณ์ว่า ซื้อรายชื่อบริษัทที่ยื่นซองประกวดราคาผ่านกรมบัญชีกลาง และโทรเสนอเงินให้กับบริษัทต่าง ๆ ร่วมกันฮั้วประมูล หากบริษัทใดให้ความร่วมมือจะได้ส่วนแบ่ง แต่ถ้าบริษัทที่ยื่นซองไม่ยอมฮั้ว ในวันประมูลจะมีผู้เข้ารหัส e-bidding โทรมาแจ้งบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดในโครงการนั้น ๆ แก่ผู้ต้องหา เพื่อให้ข้อมูลกับบริษัทที่ดีลเอาไว้แล้ว เสนอราคาต่ำสุดได้ เบื้องต้นผู้ต้องหารายนี้ให้การปฏิเสธ แต่ดีเอสไอดำเนินการอายัดทรัพย์สินไปแล้วประมาณ 58 ล้านบาท
ปัจจุบันดีเอสไอกำลังสอบสวนประเด็นนี้อย่างเป็นทางการ เบื้องต้นสามารถจับกุม ผู้ต้องหาที่เชื่อว่า มีพฤติการณ์ดังกล่าวได้แล้วที่ จ.ยโสธร และอายัดทรัพย์สินที่เชื่อว่าได้มาจากการกระทำความผิดแล้วเบื้องต้น 58 ล้านบาท แต่ผู้ต้องหายังคงให้การปฏิเสธอยู่ (อ่านประกอบ :ผ่าปฏิบัติการซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding ดีเอสไอล่าตัว‘มือมืด’-กรมบัญชีกลางไม่รู้?, ดีเอสไอสาวลึกปมซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding ยึดแล้ว 58 ล.-กรมบัญชีกลางยันโปร่งใส)
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบ e-bidding สรุปได้ ดังนี้
ระบบ e-bidding มีเครื่องเซิร์ฟเวอร์อยู่ที่กรมบัญชีกลาง แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือห้อง control ปกติจะไม่เปิดให้เจ้าหน้าที่หรือใครเข้าไป เว้นแต่เข้าไปปรับปรุงระบบ ซึ่งส่วนมากจะเป็นเอกชนที่เป็นผู้สร้าง คือ บริษัท โปรเฟสชั่นนัล คอมพิวเตอร์ จำกัด หรือ PCC บริษัทเครือข่ายของ LOXLEY หรือบริษัท ล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) และถ้ามีคนเข้าไปจะต้องแลกกุญแจ ห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปเด็ดขาด พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่จากกรมบัญชีกลางเข้าไปด้วยทุกครั้ง
ขณะที่ห้องเซิร์ฟเวอร์ e-bidding ซึ่งปกติห้ามเจ้าหน้าที่เข้าไปอย่างเด็ดขาดเช่นกัน
ส่วนกระบวนการทำงานเริ่มจากที่หน่วยงานราชการ เข้าไปคีย์ข้อมูลทั้งร่างขอบเขตของงาน (TOR) รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ผ่านเว็บไซต์ จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (www.gprocurement.go.th) เพื่อเปิดประมูลจากเอกชน
หลังจากนั้นเอกชนสามารถซื้อซองประมูลได้ โดยระบุคุณสมบัติ และอัพโหลดเอกสารผ่านเว็บไซต์จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเช่นกัน จากนั้นหน่วยงานราชการจะกำหนดวันที่และเวลาประมูล โดยในวันประมูลเอกชนต้องยื่นเสนอราคาผ่านเว็บไซต์จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
เมื่อปิดการประมูลแล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกดึงไปสู่เว็บไซต์จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการดังกล่าวสามารถเปิดดูได้ภายหลังเวลา 00.00 น. ของวันถัดไป เมื่อเข้าระบบแล้ว เบื้องต้นจะดูคุณสมบัติก่อน หลังจากนั้นจึงขึ้นว่าเอกชนรายใดเสนอราคาเท่าไหร่บ้าง
เพื่อเป็นการเปิดโอกาสคัดเลือกเอกชนอย่างเสมอภาค และเป็นธรรม ไม่ใช่ดูกันแต่ราคาเหมือนอย่างแต่ก่อน
โดยในช่วงเวลา 15.30-16.30 น. กรมบัญชีกลาง ‘ห้ามเด็ดขาด’ ไม่ให้เจ้าหน้าที่คนใดเข้าไปภายในห้องเซิร์ฟเวอร์ และห้อง control ระบบ e-bidding โดยเด็ดขาด
แต่ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศราทราบมาคือ พฤติการณ์ของผู้ต้องหา จะใช้แอพพลิเคชั่น ‘ไลน์’ เพื่อสอบถามบุคคลรายหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง ให้ส่งข้อมูลมาให้ โดยสามารถดูได้ทั้งหมดว่า เอกชนรายใดเข้าประมูล และเสนอราคาเท่าไหร่บ้าง?
อาจเป็นไปได้ว่า ในการคีย์ระบบ e-bidding เข้าสู่เซิร์ฟเวอร์กรมบัญชีกลาง ข้อมูลไม่ได้วิ่งไปแค่เครื่องเซิร์ฟเวอร์กรมบัญชีกลางอย่างเดียว แต่วิ่งไปเข้าที่คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นด้วย?
อย่างไรก็ดี ตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า “ไม่น่าเป็นไปได้”
เพราะระบบเซิร์ฟเวอร์ e-bidding มีระบบการป้องกัน (Firewall) หลายชั้น นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ อีกมาก
ส่วนข้อสังเกตที่ว่า อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า เจ้าหน้าที่ปรับปรุงระบบของบริษัทเอกชนที่สร้างระบบนี้ดำเนินการ ? ทางกรมบัญชีกลาง ยืนยันเจ้าหน้าที่ของเอกชนที่เข้ามาดำเนินการปรับปรุงระบบ สามารถมีพาสเวิร์ดเพื่อเข้าไปแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ได้จริง แต่ไม่สามารถดูการประมูลได้ นอกจากนี้เมื่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้นทำงานเสร็จแล้ว พาสเวิร์ดอันเก่าไม่สามารถใช้ได้ (อ่านประกอบ : ชัด ๆ วิธีประมูลระบบ e-bidding! ขมวดข้อสังเกตมือมืดใช้ช่องไหนล้วงข้อมูล?)
ไม่ว่าคำชี้แจงของกรมบัญชีกลางจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่อง การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบแล้ว ตามข้อเสนอของนายวิษณุ และให้อธิบดีกรมบัญชีกลางรับผิดชอบหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง ได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมบัญชีกลาง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติของกรมบัญชีกลาง ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้ว สรุปได้ ดังนี้
1. สถานที่ดำเนินการ ขณะนี้ใช้สถานที่กลางซึ่งอยู่ที่กระทรวงการคลังเป็นที่ดำเนินการ การเปลี่ยนแปลงสถานที่ไปยังที่อื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม ไม่ได้แก้ปัญหาแต่กลับจะเป็นภาระด้านการติดตั้งระบบใหม่และอาจต้องใช้เวลาพัฒนาระบบหลายปี โดยที่ความเสี่ยงยังคงมีอยู่เช่นเดิม หนทางที่ควรดำเนินการคือ การจัดระบบใหม่ ได้แก่ การจัดทำห้องควบคุมให้โปร่งใสใช้กระจกโปร่งใส 2 ด้าน มองเห็นจากภายนอกได้ชัดเจน และแบ่งโซนภายในห้องควบคุมเป็น 2 โซน แต่ละโซนติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเข้าถึงพื้นที่ด้วยกุญแจและเครื่องสแกนลายนิ้วมือ ทั้งจัดทำระบบแจ้งเตือนการเข้าถึงข้อมูลส่วนที่สำคัญใน Database ของระบบ e-bidding โดยระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังหัวหน้างานด้านพัฒนาระบบและหัวหน้างานด้านเครือข่าย มีการติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบสีแดงหน้าห้องควบคุม และจะส่งสัญญาณไฟกระพริบเมื่อมีการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ มีการติดตั้งกล้อง CCTV 2 ตัว ภายในห้องควบคุม ซึ่งในขณะนี้การปรับปรุงสถานที่เสร็จแล้ว
2. บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ ให้กรมบัญชีกลางจัดระบบคัดกรองบุคคลผู้เกี่ยวข้อง (clearance) ทุกคนว่าต้องเป็นผู้ที่ไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่เอกชนของบริษัทภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อมิให้เข้าถึงข้อมูลและล่วงรู้หรือลอบนำข้อมูลออกไปได้ อีกทั้งให้จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศด้วย ซึ่งการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
3. ขั้นตอนการดำเนินการ เปลี่ยนการโอนเงินค่าซื้อเอกสารประกวดราคาจากกรมบัญชีกลางไปให้หน่วยงานเจ้าของโครงการซึ่งจะทำในวันถัดจากวันที่ผู้ซื้อเอกสารชำระ เป็นให้โอนเมื่อผ่านพ้นไปแล้ว 1 เดือน เพื่อให้พ้นกำหนดเวลาของวันเสนอราคาเสียก่อน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว
4. การติดตามตรวจสอบซ้ำ จัดให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ผลัดเปลี่ยนกันเข้าสุ่มตรวจระบบอย่างสม่ำเสมอ
5. การดำเนินการกับผู้กระทำผิด จะดำเนินการทางวินัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเมื่อพบว่ามีบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับการล่วงรู้ข้อมูล เปิดเผยข้อมูล หรือซื้อขายข้อมูล โดยขอความร่วมมือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ส่วนรายที่รับเป็นคดีไว้แล้วก็จะขยายผลการสืบสวนสอบสวนต่อไป
ทั้งหมดนี่ คือ ท่าทีล่าสุด ของรัฐบาลเกี่ยวกับการปรับปรุงหาแนวทางการแก้ไขปัญหา การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตอกย้ำให้เห็นว่า รัฐบาล ดูเหมือนจะยอมรับเป็นทางการเช่นกันว่า การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มีปัญหาเกิดขึ้นจริง และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบหาทางแก้ไขโดยด่วน
ส่วนผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องจับตาดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด!
อ่านประกอบ :
ผ่าปฏิบัติการซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding ดีเอสไอล่าตัว‘มือมืด’-กรมบัญชีกลางไม่รู้?
ดีเอสไอสาวลึกปมซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding ยึดแล้ว 58 ล.-กรมบัญชีกลางยันโปร่งใส
บ.ลูก‘ล็อกซเลย์’ผู้ทำระบบ e-bidding-กรมบัญชีกลางยันไม่มี‘บิ๊ก’ถือพาสเวิร์ด
กรมบัญชีกลางใกล้สรุปผลสอบคนพันซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding-รองอธิบดียันโปร่งใส
ชัด ๆ วิธีประมูลระบบ e-bidding! ขมวดข้อสังเกตมือมืดใช้ช่องไหนล้วงข้อมูล?