รัฐยันมีแผนพัฒนา "เหมืองลาบู" แต่ต้องรอ 2 ปีขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า!
เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบพื้นที่ "เหมืองลาบู" ยืนยันว่ายังมีโครงการพัฒนาจุดชมวิวทะเลหมอก และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ต่อไป หลังจาก "ทีมข่าวอิศรา" เสนอข่าวและภาพข่าวว่าสภาพพื้นที่อยู่ในลักษณะถูกทิ้งร้าง ภายหลังจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ "เบิกฟ้าลาบู สู่อาเซียน Unseen Labu 2017" อย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อ 8 เดือนเศษที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่รัฐรายนี้ อธิบายว่า ทางเทศบาลตำบลปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา มีโครงการพัฒนาเหมืองลาบูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างชัดเจน และจะเดินหน้าต่อไป โดยขณะนี้ติดปัญหาเรื่องพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลาบู-ถ้ำทะลุ ซึ่งต้องรอขออนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อน โดยคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี
ส่วนกิจกรรม "เบิกฟ้าลาบู สู่อาเซียน Unseen Labu 2017" ที่จัดเมื่อวันที่ 18 ก.พ.60 ที่ผ่านมา โดยมี พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมบุคคลสำคัญในพื้นที่ทุกภาคส่วนร่วมปั่นจักรยานพิชิตเหมืองลาบู ระยะทาง 28 กิโลเมตร จากที่ว่าการอำเภอยะหา สู่จุดชมวิวทะเลหมอกนั้น เป็นเพียงกิจกรรมประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทราบว่า เหมืองลาบูกำลังมีโครงการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่น่าสนใจระดับ Unseen และงบประมาณที่ใช้ก็ไม่ได้มากมาย เมื่อเทียบกับการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้
เจ้าหน้าที่รัฐรายนี้ ยืนยันด้วยว่า ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนจุดชมวิวทะเลหมอกลาบูเป็นระยะ แม้จะไม่มากนัก แต่ก็ถือว่ามีนักท่องเที่ยว ไม่ใช่ไม่มีเลยตามที่สื่อเสนอข่าว พร้อมย้ำว่าไม่ได้ปล่อยให้พื้นที่ถูกทิ้งร้าง แต่มีโครงการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแน่นอน มีการเชิญสำนักงานการท่องเที่ยวจังหวัดยะลาเข้ามาประชุมวางแผนร่วมกันด้วย
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ ไม่ได้ชี้แจงเกี่ยวกับภาพสภาพพื้นที่ที่เหมือนถูกทิ้งร้าง มีกองขยะ และสิ่งปลูกสร้าง เช่น ห้องน้ำชำรุดเสียหาย ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และยังไม่ได้อธิบายว่าหากต้องรอขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าถึง 2 ปี ทำไมจึงต้องเร่งรีบจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า และใช้งบประมาณเท่าที่ตรวจสอบได้ถึงกว่า 8 แสนบาท
ด้าน พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ชี้แจงเรื่องนี้กับผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี ว่า โครงการพัฒนาเหมืองลาบูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ยังมีการดำเนินการของทางองค์กรท้องถิ่นอยู่ และมีนักท่องเที่ยวไปเยือนทุกวัน โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนการทำเหมืองแร่ ขณะนี้มี 8 บริษัทต่างชาติขอประทานบัตร มีบริษัทหนึ่งที่ได้รับอนุญาตเป็นเวลา 5 ปี ล่าสุดผ่านไปแล้ว 3 ปี เหลืออีก 2 ปี ขณะนี้อยู่ในช่วงสำรวจความคุ้มค่า
สำหรับแนวคิดการฟื้นฟู "เหมืองเก่า" ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนพื้นที่ของ พล.ท.ปิยวัฒน์ ตั้งแต่รับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ปีที่แล้ว โดย "เหมืองลาบู" เป็น 1 ใน 8 เหมืองเป้าหมายของการพัฒนา เพราะถือว่าเป็นเหมืองที่มีความสำคัญ เคยมีการให้สัมปทานทำเหมืองแร่ดีบุก กระทั่งจังหวัดยะลายังใช้ภาพคนหาบแร่ และภาพภูมิประเทศภูเขาที่มีการทำเหมืองแร่ เป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
----------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
วันนี้ของ "อันซีน ลาบู" โฮมสเตย์-ทะเลหมอก ถูกทิ้งร้าง?
"โฮมสเตย์-ทะเลหมอก" ทหารพรานคอฟ้า... ชายแดนใต้เฮฮา-รัฐเชื่อใกล้สงบ