"โฮมสเตย์-ทะเลหมอก" ทหารพรานคอฟ้า... ชายแดนใต้เฮฮา-รัฐเชื่อใกล้สงบ
ภารกิจการสร้างสันติสุข ยุติเหตุรุนแรงรายวันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายในอายุของรัฐบาลชุดนี้ ดูจะไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอยอีกต่อไป หากพิจารณาจากตัวเลขสถิติความรุนแรงที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ประกอบกับการขยับขยายงานมวลชนและงานพัฒนาของทหาร คู่ขนานไปกับงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงห้วงเดือนมกราคม 2560 รวมทุกประเภท ลดเหลือเพียง 31 เหตุการณ์ หรือเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง เมื่อแยกแยะออกมาแล้ว เป็นเหตุทางความมั่นคงเพียง 2 เหตุการณ์ ลดลงจากห้วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้วที่มีเหตุความมั่นคงถึง 17 เหตุการณ์ นี่คือตัวชี้วัดที่ได้จากตัวเลข
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า มีสัญญาณความเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 ประการที่เป็นตัวชี้วัดว่าสถานการณ์โดยรวมกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น คือ
1.การบ่มเพาะเยาวชนเพื่อไปเป็นนักรบติดอาวุธรุ่นใหม่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
2.อาร์เคเค หรือกลุ่มติดอาวุธขนาดเล็กของขบวนการก่อความไม่สงบ ไม่มีเสรีในการปฏิบัติเหมือนเก่า ไม่สามารถก่อเหตุปูพรมพร้อมกันหลายจุด กระจายในหลายอำเภอได้เหมือนเดิม
และ 3.ความร่วมมือในการแจ้งข่าวสารของประชาชนมีมากขึ้น ส่งผลให้สามารถจับกุมอาร์เคเคได้เป็นจำนวนมาก
เมื่อหันไปดูการเลือก พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช เข้ารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 คนที่ 25 ของกองทัพบกไทย เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ถึงวันนี้ผ่านมาเกือบ 5 เดือน จะเห็นได้ว่าแม่ทัพร่างเล็กคนนี้ลุยงานพัฒนาแบบเต็มตัว สอดรับกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่เชื่อว่าหากสร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่แล้ว ผู้ก่อเหตุรุนแรงก็จะลดลงไปด้วย
เหตุนี้เอง พล.ท.ปิยวัฒน์ จึงเปิดเกมรุก ปัดฝุ่นเหมืองแร่เก่าที่เคยมีในอดีตให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง นั่นคือ “เหมืองลาบู” อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายและมีการทำประชาพิจารณ์ หากสำเร็จ ที่นี่จะเป็นเหมืองแร่ใหม่แห่งแรกในพื้นที่ปลายด้ามขวานปัจจุบัน
สำหรับเหมืองลาบู เริ่มบุกเบิกโดยชาวออสเตรเลีย เข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุก ชื่อ “เหมืองฟักทอง” พร้อมก่อสร้างที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับ ต่อมา หลวงสุนทรสิทธิโลหะ หรือ นายซุ่นฮวด วัฒนายากร เข้ามาซื้อกิจการต่อ และเปลี่ยนชื่อเป็น "เหมืองแร่ลาบู" ก่อนจะเลิกกิจการไปเมื่อปี 2535 ทำให้คนงานเหมืองแร่จับจองพื้นที่ใกล้เคียงประกอบอาชีพและสร้างเป็นชุมชนไทยพุทธ ชื่อหมู่บ้านลาบู
แม้การทำเหมืองรอบใหม่จะยังไม่เกิดขึ้น แต่พื้นที่โดยรอบหมู่บ้านลาบูมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างจุดขาย ไม่ว่าจะเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกลาบู, ป่าเสม็ดแดง ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ชัยชนะ กฤตยานาถ นายอำเภอยะหา บอกว่า บรรยากาศแบบนี้ใช้เวลาพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง 4 เดือน และจะค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ซึ่งอนาคตจะทำโฮมสเตย์ที่มีมาตรฐานต่อไป ส่วนเหตุการณ์ความรุนแรงที่หลายคนกังวลนั้น ยืนยันว่าตลอดกว่า 10 ปีที่มีสถานการณ์ความไม่สงบที่ชายแดนใต้ แต่บ้านลาบูไม่เคยได้รับผลกระทบ
นอกจากเรื่องเหมืองแร่แล้ว แม่ทัพภาคที่ 4 ยังเตรียมขยายรันเวย์สนามบินบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นสนามบินทหาร ให้เป็นสนามบินพาณิชย์ เพื่อหวังให้เป็นศูนย์กลาง หรือ "ฮับ" การคมนาคมขนส่งทางอากาศของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดึงความเจริญเข้าสู่พื้นที่ด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563
สอดรับกับโครงการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ขับเคลื่อนโดยมี ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพหลัก ภายใต้การกำกับอย่างใกล้ชิดของ “ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล” หรือ ครม.ส่วนหน้า ซึ่งล่าสุดได้เห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมตามโครงการ “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อีกจำนวน 10 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,720 ล้านบาท
ภาณุ อุทัยรัตน์ หนึ่งใน ครม.ส่วนหน้า และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต. บอกว่า มีข้อเสนอให้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมอบให้ ศอ.บต.ไปพิจาณา เพื่อให้เกิด “วัน สต็อป เซอร์วิส” และมีการประชาสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่
เมื่อนโยบายการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจปรากฏชัดเจน ผลที่ตามมาก็คือการดึงคนที่เคย "หลงผิด" หรือร่วมอยู่ในขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรง ให้กลับคืนสู่ครอบครัว และร่วมกันพัฒนาพื้นที่ต่อไป
โครงการนี้ชื่อว่า "โครงการพาคนกลับบ้าน" เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมียอดผู้เห็นต่างจากรัฐเข้ารายงานตัวแล้วจำนวน 4,432 คน เฉพาะห้วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าแสดงตัวมากถึง 2,407 คน สะท้อนความมั่นใจที่มีต่อรัฐมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากงานด้านการพัฒนาแล้ว งานด้านความมั่นคงก็ไม่ได้ละเลย ปัจจุบันทหารจากกองทัพภาคอื่นถอนกำลังไปเกือบหมด คงเหลือแต่กำลังของกองทัพภาคที่ 4 และทหารพราน แต่ด้วยภาพลักษณ์ของทหารพรานที่ชาวบ้านจดจำในแง่มุมของความโหดร้าย ผู้บัญชาการทหารบกจึงปรับนโยบายใหม่ในการเข้าถึงประชาชน ด้วยการจัดชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน หรือทหารชุดดำที่สวมผ้าพันคอสีฟ้า มีหน้าที่คอยช่วยเหลือชาวบ้านทุกรูปแบบ ใครเดือดร้อนก็แจ้งได้ทันที
ทุกวันนี้ สถานการณ์ความไม่สงบเริ่มดีขึ้นตามลำดับ หลายฝ่ายก็หวังใจว่าวันหนึ่งความขัดแย้งและความรุนแรงจะจบลง พร้อมๆ กับความสันติสุขที่จะหวนกลับมาอย่างยั่งยืน และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะยุทธศาสตร์พระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
*หมายเหตุ : อัญชลี อริยกิจเจริญ เป็นผู้สื่อข่าวสายทหาร สถานีโทรทัศน์ NOW26
บรรยายภาพ :
1-3 กิจกรรมเปิดแหล่งท่องเที่ยวเหมืองลาบู อ.ยะหา จ.ยะลา