13 ปีตากใบ...ฝันร้ายที่ยังมีชีวิต
ที่บ้านจาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีญาติพี่น้องและครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 หลายครอบครัว
สัญญะแห่งความรู้สึกที่ได้รับจากพวกเขาระหว่างที่กลุ่มผู้หญิงและองค์กรภาคประชาสังคมเดินทางไปเยี่ยมเยือน ก็คือทุกวันนี้พวกเขายังคงติดค้างในความรู้สึก และต้องการให้มี "คนรับผิดชอบ" หลังจากมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวถึง 85 คน และไม่อยากให้ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ถูกบิดเบือน
"เราต้องซอบัร (อดทน) มากๆ กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับลูกชาย" เป็นเสียงของ ตีเมาะ กาบากอ หรือ มะดอ ที่บอกเล่าความรู้สึกจากการที่ต้องสูญเสียลูกชายอย่างไม่มีวันหวนคืน
"มันไม่คุ้มกับเงินเยียวยาที่ได้มา ไม่พอกับความรู้สึกที่กลับคืนมาไม่ได้ แม้จะมาขอโทษก็ยังไม่หาย สงสารคนที่เสียไปแล้ว ตอนนี้ไม่อยากได้อะไรแล้ว ขอแค่คนรับผิดชอบเรื่องที่เกิดข้น อายุเราก็เยอะแล้ว ไม่ต้องมีอะไรให้นึกถึง ยิ่งเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนพวกเรารู้สึก ไม่ต้องทำอะไรแล้ว แต่ก็ยังดีใจที่ยังมีคนนึกถึงพวกเรา มาหามาเยี่ยมพวกเรา ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว"
ความรู้สึกของ ตีเมาะ ไม่ต่างอะไรกับ แยนะ สะแลแม ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "ก๊ะแยนะ" แกนนำคนตากใบที่ช่วยเคลื่อนไหวจนครอบครัวผู้สูญเสียได้รับเงินเยียวยา ก๊ะแยนะ บอกว่า การได้เงินเยียวยาไม่ได้จบความรู้สึก เพราะความทรงจำกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นยังคงชัดทุกครั้งที่นึกถึง
"เรายังคิดถึงเสมอกับวันที่เกิดเหตุ ความรู้สึกคือยังไม่ยอมรับ มันกลับคืนมาไม่ได้ เจ็บปวดทุกครั้งเมื่อนึกถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ ยิ่งเมื่อเห็นภาพของเหตุการณ์ ความรู้สึกทนไม่ไหวก็กลับมา อยากให้ลูกหลานได้รับทราบประวัติศาสตร์ตากใบที่เป็นความจริง ไม่ถูกบิดเบือนเหมือนหลายๆ เหตุการณ์ ยังดีที่มีคนระลึกถึงและถามไถ่จนถึงทุกวันนี้ เป็นความรู้สึกดีๆ ที่สังคมยังมีให้พวกเรา"
ทุกปีเมื่อถึงวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ มักจะมีเจ้าหน้าที่รัฐออกมาตีปลาหน้าไซ ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวหรือเสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยอ้างว่าเป็นการทำลายบรรยากาศในพื้นที่ที่กำลังดีวันดีคืน และเป็นการสร้างเงื่อนไข ทั้งๆ ที่ชาวบ้านอยากจะลืม
แต่เมื่อลงพื้นที่ลงมาสัมผัสความรู้สึกของพวกเขาจริงๆ ก็จะทราบว่าชาวตากใบลืมไปหรือยัง...
ทว่าการไม่ลืม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดเงื่อนไขใดๆ โดยเฉพาะหากรัฐแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
เหตุการณ์ตากใบปะทุขึ้นจากการชุมนุมประท้วงให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คนที่ถูกทางการจับกุมดำเนินคดีเนื่องจากถูกคนร้ายปล้นอาวุธปืนที่ทางราชการแจกให้ แต่รัฐสงสัยว่ารู้เห็นเป็นใจกับทำให้อาวุธปืนถูกปล้นอย่างง่ายดาย
การชุมนุมบานปลายจนกลายเป็นการรวมตัวกันของผู้คนหลายพันคน สุดท้ายเจ้าหน้าที่รัฐตัดสินใจสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธ เพราะเชื่อว่ามีความพยายามปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง ผลจากการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย จากนั้นได้จับกุมผู้ชุมนุมนับพันคน โดยวิธีถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และนำขึ้นไปนอนเรียงซ้อนกันบนรถยีเอ็มซีของทหาร เจตนานำตัวไปสอบสวนต่อยังค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 180 กิโลเมตร ทำให้ผู้ชุมนุมอีก 78 คนเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้าย
จำนวนคนตายมากถึง 85 คน กับภาพมากมายที่ถูกบันทึกได้ในลักษณะเจ้าหน้าที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่กลับไม่มีคดีถูกฟ้องขึ้นสู่ศาลเพื่อพิสูจน์ความถูกผิด หรือตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่เลย ทำให้เรื่องนี้ "ไม่จบ" ในสายตาของคนตากใบผู้สูญเสีย
ไม่ไกลนักจากบ้านจาเราะ เป็นกุโบร์ (สุสาน) บ้านศาลาใหม่ที่ฝังร่างของผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นเอาไว้ 4 ศพ
ส่วนศาลาริมน้ำ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอตากใบ ที่มีผู้ชุมนุมถูกต้อนไปรวมกัน บัดนี้ถูกรื้อลงเพื่อรอการก่อสร้างใหม่ ขณะที่สถานีตำรวจภูธรตากใบในอดีตซึ่งเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น วันนี้เปลี่ยนเป็นอาคารคอนกรีตหลายชั้น บรรยากาศร่มรื่น ศาลาริมน้ำอีกหลังหน้าโรงพักยังคงอยู่
ที่นี่เราได้พบกับชายหนุ่มวัย 30 ปี ชาวเจ๊ะเห ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุมากนัก เขามานั่งพักผ่อนกับเพื่อนๆ เมื่อได้พูดคุยกันทำให้ได้รู้ว่า เขาคือหนึ่งในจำนวนผู้ที่ถูกมัดมือแล้วนำไปเรียงซ้อนทับบนรถยีเอ็มซีไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในคืนวันที่ 25 ต.ค.2547
"ตอนนั้นผมอายุ 17 บ้านอยู่แถวนี้ ได้ยินว่ามีการจับชาวบ้านมาและมีคนเยอะ เลยขี่รถมาดู ไม่ได้มีอาวุธอะไรมาเลย เข้ามาแล้วกลับออกไปไม่ได้ ไม่คิดว่าเรื่องจะบานปลายไปอย่างนั้น เห็นเพื่อนโดนยิงแต่ลากไม่ทัน เขาเสียชีวิตต่อหน้า ผมหนีไปอยู่หลังกำแพง เจ้าหน้าที่ให้นอนคว่ำหน้าแล้วมัดมือไพล่หลัง ให้กระดื๊บไปทีละนิด ทรมานมาก ไปช้าก็โดนเจ้าหน้าที่เตะกับรองเท้า เหตุแรงขึ้น เขาฉีดน้ำ เสียงปืนมั่วไปหมด จนเขาจับขึ้นรถไปซ้อนทับกัน โชคดีที่ถูกซ้อนอยู่ชั้นสาม ใกล้กับฝารถข้างหนึ่งที่มีลมระบายได้ จึงรอดชีวิตมา"
เขาเปิดใจว่าทุกอย่างยังอยู่ในความทรงจำ ไม่เคยลืม สาเหตุที่มานั่งที่ริมน้ำตรงจุดเกิดเหตุ ไม่ได้เกี่ยวกับอดีต แต่เป็นเพราะอากาศดี และใกล้บ้าน เมื่อครบรอบวันเกิดเหตุก็นึกถึงฝันร้ายในครั้งกระโน้น แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เก็บไว้ในความทรงจำ
และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าที่ไหน...
-----------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ
ประเด็นที่ไม่ค่อยมีฝ่ายใดพูดถึงนัก ก็คือความสูญเสียด้านชีวิตและร่างกาย เศรษฐกิจ ตลอดจนผลการดำเนินคดีหลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า กรณีตากใบนั้น รัฐต้องจ่ายเยียวยาและค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบในทางคดีสูงถึงเกือบ 700 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.ยอดเงินเยียวยาที่จ่ายเมื่อปี 2556 ตามมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวม 641,451,200 บาท แบ่งเป็น
-ผู้เสียชีวิต 85 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 561,101,000 บาท
-ผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย จ่ายรายละ 1 ล้านบาทขึ้นไปตามอาการ รวมเป็นเงิน 60,455,000 บาท
-ทุพพลภาพ 1 ราย เป็นเงิน 6,380,000 บาท
-ผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอัยการถอนฟ้อง 58 ราย เป็นค่าเยียวยาจิตใจ รายละ 30,000-50,000 บาท เป็นเงิน 2,025,200 บาท
-ผู้ที่ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 1,280 ราย เป็นค่าขาดโอกาสในการทำมาหารายได้ รวม 11,490,000 บาท ส่วนนี้ยังจ่ายไม่ครบ เพราะมีผู้ที่ไม่กล้าออกมาแสดงตัวอีกจำนวนหนึ่ง
2.ค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกจ่ายให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย รวม 42 ล้านบาท
จนถึงปัจจุบันยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบที่ร่างกายพิการ ไม่สมบูรณ์ ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องอีก 8 ราย บางรายเสียชีวิตแล้ว ประกอบด้วย
1.นายมะตาราวี เจ๊ะมะ ขาไม่สามารถใช้การได้ปกติ เนื่องจากถูกกดทับเป็นเวลานานขณะถูกเคลื่อนย้าย
2.นายเจ๊ะยูฮารี ดอรอนิง ขาลีบจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน
3.นายมะยูดีน อาแว มือลีบ ใช้การไม่ได้
4.นายรอกิ มะหะมะ ขาลีบ ใช้การได้ไม่ปกติ
5.นายเจ๊ะกอเชม มัยเซ็ง มือหัก ไม่สามารถใช้การได้เหมือนเดิม
6.นายสานูสี เจ๊ะแม มือลีบเพราะถูกกดทับเป็นเวลานาน
7.นายแวดี มะโซ๊ะ ตาบอด ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
8.นายมาลีกี ดอเลาะ แขนขาลีบ ไม่สามารถใช้การได้
สำหรับคดีความจากเหตุการณ์ตากใบ มีคดีใหญ่ๆ 3 คดี ประกอบด้วย
1.คดีอาญากรณีผู้เสียชีวิต 78 รายระหว่างเคลื่อนย้ายโดยรถยีเอ็มซีของทหาร
ผลของคดี อัยการสั่งไม่ฟ้องหลังศาลมีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพว่าผู้ตายขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏว่าถูกใครทำให้ตาย แต่ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายฟ้องคดีเอง
อย่างไรก็ดี เรื่องคำสั่งไต่สวนการตายนั้น มีประเด็นที่ต้องบันทึกไว้ คือ ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพ (หรือไต่สวนการตาย) เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ตายเพราะ "ขาดอากาศหายใจ" โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย ซึ่งแม้มีข่าวอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีเอง
ทว่าตลอดมากลับไม่มีการยื่นฟ้องเอง สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะครอบครัวผู้สูญเสียหวาดกลัว ไม่อยากเป็นความกับรัฐ แต่ก็มีความพยายามขององค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้ ผลักดันให้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายดังกล่าว และสู้กันจนถึงชั้นฎีกา สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2556 ว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคำร้องในเรื่องนี้ เพราะผู้เสียหายต้องไปยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนี้ (ซึ่งพ้นเวลาที่กฎหมายเปิดช่องให้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งไต่สวนการตายไปนานแล้ว)
2.คดีอาญาที่รัฐฟ้องแกนนำ 58 คนปลุกปั่นยุยงให้เกิดการชุมนุมประท้วง
ผลของคดี อัยการถอนฟ้องตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
3.คดีแพ่งที่ญาติผู้สูญเสียฟ้องหน่วยงานรัฐ ต่อมากองทัพบกเจรจาไกล่เกลี่ยยอมความ และจ่ายค่าเสียหายจำนวน 42 ล้านบาท
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ศาลาริมน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอตากใบ หนึ่งในสถานที่สำคัญของเหตุการณ์ตากใบ กำลังถูกรื้อและสร้างใหม่
2 ตีเมาะ กาบากอ
3 กุโบร์ที่ฝังร่างผู้สูญเสียในเหตุการณ์
4 ชายหนุ่มวัย 30 ปีที่เคยมีประวัติศาสตร์บาดแผลในเหตุการณ์ตากใบ
อ่านประกอบ :
"12 ปีตากใบ"เหยื่อยังลืมไม่ได้ กับพลวัตคนรุ่นใหม่และโฮมโกรว์น
11 ปีตากใบ: ความสูญเสียของทุกฝ่าย...มีแต่พ่าย ไร้คนชนะ
10ปีตากใบ..ไม่อยากพูดถึง ไม่ได้แปลว่าลืม
หนึ่งทศวรรษตากใบ..."อังคณา"จี้รื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ฟ้าครึ้มที่ตากใบ... 9 ปีรัฐจ่ายค่าเสียหายร่วม 700 ล้าน!
8 ปีตากใบ (1) เมื่อการเยียวยาไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นธรรม
8 ปีตากใบ (2) คดีไต่สวนการตายยังไม่จบ
8 ปีตากใบกับพลวัตปัญหาใต้ "ปณิธาน"ชี้รัฐไทยยังไม่พร้อมรับมือ