10ปีตากใบ..ไม่อยากพูดถึง ไม่ได้แปลว่าลืม
แม้ไม่อยากเอ่ยถึงเรื่องราวร้ายๆ ในเหตุการณ์ตากใบให้ทิ่มแทงหัวใจ ทว่าผลกระทบที่เกิดกับร่างกาย อวัยวะสำคัญ และสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ลง ย่อมทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวเมื่อ 10 ปีก่อน ณ เวลาบ่ายคล้อยของวันที่ 25 ต.ค.2547 จนมิอาจลบออกไปจากความทรงจำได้
มันคือเหตุการณ์ที่ทหาร ตำรวจ ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่หน้าโรงพัก สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (ระยะทางร่วม 200 กิโลเมตร) ด้วยวิธีจับถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วหิ้วขึ้นไปเรียงทับกัน 3-4 ชั้นบนกระบะรถยีเอ็มซี
ผลของปฏิบัติการทั้งช่วงของการสลายและเคลื่อนย้าย ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน บาดเจ็บอีกเป็นพัน
ณ วันนี้ผ่านมา 10 ปีแล้ว ทีมข่าวได้เดินทางย้อนกลับไปที่ตากใบอีกครั้ง และได้พบผู้ได้รับผลกระทบหลายราย ซึ่งแม้พวกเขาไม่ได้ตาย แต่ก็ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างค่อนข้างสิ้นหวัง
ชายหนุ่มวัย 38 ปี สานูสี เจ๊ะแม ชาวบ้านศาลาใหม่ อ.ตากใบ พูดคุยต้อนรับด้วยน้ำเสียงและท่าทีเป็นมิตร จนมิทันสังเกตว่าแขนขวาของเขาไม่ปกติ จนกระทั่งเมื่อเอ่ยถึงเรื่องราวในคืนวันอันโหดร้ายเมื่อสิบปีก่อน เขาจึงยื่นแขนขวามาให้ดู และได้เห็นความผิดปกติตั้งแต่ข้อศอกจนถึงปลายนิ้ว โดยนิ้วมือและฝ่ามือของสานูสีกำและยืดออกไม่ได้ ท่อนแขนขวางอไมได้ จึงใช้งานอะไรไม่ได้เลย เขาจึงเป็นเสมือนคนพิการ มีแขนเดียว
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเขาถูกจับหลังเหตุการณ์ชุมนุมที่ตากใบ แล้วถูกนำตัวขึ้นรถบรรทุก ให้นอนชั้นล่างสุดติดกับกระบะรถ แล้วถูกซ้อนทับจากเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันอีกหลายชั้น ทำให้เลือดไม่ไหลเวียน หากพระเจ้ายังเมตตาที่ให้เขารอดชีวิตมาได้
"เจ้าหน้าที่ทำรุนแรงกับเราเกินไป เขาจับมัดมือไพล่หลังด้วยเชือก ตอนนั้นคิดว่าตัวเองตายแล้ว เขาให้นอนคว่ำหน้าบนพื้นรถ ผมอยู่ชั้นล่างสุด มือถูกมัดไพล่หลัง ฝนก็ตก มองเห็นแต่เพื่อนที่นอนชั้นล่างสุดแค่นั้น จะช่วยเหลือใครก็ไม่ได้ เพราะทุกคนถูกมัดมือทั้งหมด คนข้างบนปวดฉี่ก็ราดลงมาข้างล่าง บางคนก็ปวดหนัก บางคนที่โดนพานท้ายปืน โดนซ้อมมาก็ร้องเจ็บปวด ผมได้แต่ฟังเสียง พยายามไม่ให้ตัวเองสลบหรือหลับ แต่หายใจไม่สะดวก"
"ตอนถึงค่ายอิงคยุทธฯก็หมดแรง รู้สึกชาที่แขนและขา เดินตรงไม่ได้ อยู่ในค่ายนั้น 2 วัน ได้ออกไปนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี อยู่โรงพยาบาลอีกหนึ่งอาทิตย์ แขนขวาบวมมากเพราะเลือดคั่ง จนหายบวม กลับมาบ้าน แขนขวาก็ชา ทำงานไม่ถนัด ต้องปรับตัวใช้แขนซ้ายให้เป็นประโยชน์จนถึงทุกวันนี้" เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่อยากจะลืม แต่กลับแจ่มชัดในความทรงจำ
สานูสีและเพื่อนร่วมชะตากรรมมี ก๊ะแยนะ สะแลแม เป็นแกนนำ ได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม เดินทางไปศาลทุกนัดเพื่อรับฟังความคืบหน้าการพิจารณาคดี จนมีการจ่ายเงินเยียวยา และเขาได้รับมาจำนวนหนึ่งจากความพิการ ซึ่งเขาได้เก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น
ทุกวันนี้ สานูสี ยังไม่มีครอบครัว จึงอยู่กับพ่อแม่ซึ่งมีบ้านใกล้กับครอบครัวของพี่สาว เขาทำงานเป็นพนักงานส่งของในร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง และใช้ชีวิตประจำวันเหมือนชาวบ้านทั่วไป
"เงินที่ได้มาถือว่าอัลลอฮ์ให้เรามาเท่านี้ แม้จะไม่คุ้มกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตและร่างกายของเราก็ตาม" สานูสี บอก
สิบปีตั้งแต่เกิดเรื่อง เจ้าหน้าที่ชอบบอกว่าอย่ารื้อฟื้นแผลเก่าขึ้นมาอีก แต่เจ้าของแผลอย่างสานูสี บอกว่า "ถ้าเขา (เจ้าหน้าที่รัฐ) ไม่รับผิดในสิ่งที่ทำ ก็ไม่มีความยุติธรรมอยู่ดี ผมไม่อยากพูดเรื่องนี้แล้ว แต่อยู่ในใจตลอดมา และไม่เคยลืม"
ไม่ไกลจากบ้านของสานูสี เป็นบ้านของ กะเมาะ วัย 59 ปีที่สูญเสียลูกชายไปในเหตุการณ์ตากใบ ทุกวันนี้กะเมาะต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง มีลูกชายที่เหลือเพียงคนเดียว แต่ก็ไปทำงานในมาเลเซีย เดือนหนึ่งจะกลับมาเยี่ยมบ้านสักครั้ง
"ก่อนหน้าเกิดเหตุตากใบ 2 เดือน อาแบ (สามีของกะเมาะ) เสียชีวิตไปก่อน ฉันมีลูกชาย 3 คน ลูกชายคนที่สองเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบในวันที่เกิดเหตุ ไปรับศพที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ ตอนนี้ก็อายุประมาณ 35 ปี หลังสามีกับลูกชายคนที่สองเสียชีวิต ต่อมาลูกชายคนโตก็ป่วยจนเสียชีวิตอีก ตอนนึ่งจึงเหลือแต่ลูกชายคนสุดท้องอายุ 19 ปีคนเดียว เขาไปทำงานที่มาเลเซีย นานๆ จึงกลับมาบ้านครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังดีที่มีหลานสาว ซึ่งเป็นลูกของน้องสาวมาอยู่เป็นเพื่อน มีเพื่อนบ้านใกล้กันบ้าง ทำให้ไม่เหงามาก ช่วยกันดูแลทุกข์สุข"
เงินที่กะเมาะได้รับจากการเยียวยา เธอนำไปซื้อสวนยางพารา สวนปาล์ม และเก็บไว้ในธนาคาร บางส่วนนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่อยู่เพียงคนเดียว และทำอะไรได้ไม่ถนัด เพราะมีหลายโรครุมเร้า ทั้งความดัน หอบ และหัวเข่าที่เจ็บเนื่องจากลื่นล้ม ทำให้เดินไม่สะดวก จะลุกจะนั่งก็ลำบาก
"ฉันยังทำใจยอมรับไม่ได้กับเงินที่ได้มา เหมือนต้องแลกกับชีวิตของลูก มีเงินแต่ไม่มีใครอยู่ด้วยก็ไม่มีประโยชน์ สิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่เคยลืมกับความไม่ยุติธรรมที่ได้รับ รัฐไม่ยอมรับผิด ฉันไม่พอใจที่คนทำผิดไม่ยอมรับผิด มันยังคาใจ ไม่มีความกระจ่างอยู่ถึงตอนนี้ และในใจไม่เคยลืมการกระทำของเจ้าหน้าที่ในวันนั้นเลย"
เมื่อถามถึงความรู้สึกในวาระ 10 ปีตากใบ กะเมาะ บอกสั้นๆ เพียงว่า "กี่ปีก็ไม่ลืม"
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สานูสี เจ๊ะแม
2 แขนขวาที่ชาจนใช้การไม่ได้ของสานูสี
3 กะเมาะ
อ่านประกอบ : หนึ่งทศวรรษตากใบ..."อังคณา"จี้รื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่