ตรวจรายชื่อ17เหยื่อกระสุนจนท.ได้เยียวยา "ทุ่งยางแดง-บานา"รับด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม มีข่าวดีๆ เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. มีมติอนุมัติเงินเยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ รวม 17 ราย ใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท
กพต.เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. ซึ่งในรัฐบาลชุดนี้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วยรัฐมนตรีจากหลายกระทรวง และหน่วยงานระดับนโยบายอีกหลายหน่วยงาน เปรียบเสมือน "ครม.น้อย" ในภารกิจดับไฟใต้ที่มุ่งเน้นงานพัฒนา
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีมติให้จ่ายเงินเยียวยาประชาชนที่เสียชีวิต ตั้งแต่ปี 2548–2557 รวม 17 ราย รายละ 1 ล้านบาท และดูแลค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรจนจบปริญญาตรี ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ทุกภาคส่วนได้หารือจนเป็นที่ยอมรับ
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า การเยียวยาครั้งนี้เป็นส่วนที่เยียวยาเพิ่มเติมจากที่ ศอ.บต.ได้เยียวยาเบื้องต้นไปแล้วรายละ 500,000 บาท และทาง ศอ.บต.ยังมีหลักเกณฑ์การเยียวยาในเรื่องของอาชีพให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบอีกครอบครัวละไม่เกิน 50,000 บาท โดยผู้ได้รับผลกระทบในส่วนนี้จะได้รับการดูแลรวมทั้งหมดรายละประมาณ 2 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง และคณะอนุกรรมการไปดำเนินการเขียนระเบียบให้มีความชัดเจน เช่น เงินเยียวยาด้านการศึกษา เมื่อให้ไปแล้วต้องส่งบุตรหลานเข้าศึกษาเล่าเรียนจริง โดยผู้ได้รับเงินเยียวยาต้องทำข้อตกลงกับ ศอ.บต.ด้วย
เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ยกตัวอย่างหลักเกณฑ์การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เช่น เหตุการณ์ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส คนร้ายขับจักรยานยนต์เป็นพาหนะ แล้วใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ฐานของทหารพราน จากนั้นทหารที่เข้าเวรอยู่เห็นรถจักรยานยนต์อีกคันวิ่งมาแล้วหันหัวกลับ ทหารจึงยิงเข้าใส่จนเสียชีวิต แต่เมื่อสอบสวนแล้วกลับพบว่าไม่ใช่แนวร่วมผู้ก่อเหตุ แต่ที่ต้องหันรถกลับเพราะได้ยินเสียงปืน เมื่อเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ ก็จะมีการจ่ายเยียวยา
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ได้รับเยียวยา 17 รายนี้ มาจากเหตุการณ์ 10 กรณี ใน 17 รายนี้แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มแรก ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังระเบียบ กพต.เรื่องการช่วยเหลือเยียวยามีผลบังคับใช้แล้ว กลุ่มนี้มี 10 รายจาก 6 กรณี จำนวนเงิน 13,590,000 บาท ประกอบด้วย
1. เด็กหญิงไฮซูลา แตเมาะ เป็นผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งตั้งจุดตรวจอยู่ที่บริเวณบ้านฮูแตยือลอ หมู่ 6 ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เหตุเกิดเมื่อปี 2557 อนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,660,000 บาท
2. เด็กชายมูฮัมหมัดอาซูวัน สอเหาะ เป็นผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยสำคัญผิดว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ เหตุเกิดเมื่อปี 2557 ต่อมาอาสาสมัครทหารพรานที่เป็นผู้ใช้อาวุธ ได้เข้ามอบตัวและถูกดำเนินคดี กรณีนี้อนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,388,000 บาท
3. นายมูฮัมหมัดอายิ ตาเย๊ะ กับ นายอับดุลเลาะห์ เจะนิ ชาว ต.เปาะเส้ง อ.เมือง จ.ยะลา ทั้งคู่เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยสำคัญผิดคิดว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบตามที่ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าว เหตุเกิดเมื่อปี 2556 กรณี นายมูฮัมหมัดอายิ ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,000,000 บาท ส่วน นายอับดุลเลาะห์ ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,873,000 บาท
4. นายมะกอเซ็ง ลาแซ เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ได้มีส่วนจากการกระทำความผิด ทั้งนี้พิจารณาจากคำสั่งศาลจังหวัดยะลาในสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ที่เชื่อว่านายมะกอเซ็งไม่ได้ใช้อาวุธปืนลูกซองที่ตกอยู่ข้างศพยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ จึงไม่ได้มีส่วนร่วมในเหตุปะทะในพื้นที่ จ.ยะลา เมื่อปี 2555 ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,000,000 บาท
5. นายการิง มะ เป็นผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เหตุเกิดขณะขับรถยนต์ผ่านด่านทหาร ขณะที่ทหารกำลังยิงตอบโต้คนร้าย กระสุนพลาดเป้าโดน นายการิง เสียชีวิต เหตุเกิดในปี 2560 ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,183,000 บาท
6. นายสุไฮมี เซ็นและ, นายคอลิด มาแม็ง, นายมะดาวี แมเราะ และ นายซัดดัม วานุ เป็นผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีปิดล้อมจับผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง บริเวณหมู่ 6 ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อปี 2558 ซึ่งรู้จักกันดีในนาม "คดี 4 ศพทุ่งยางแดง" ได้รับอนุมติการช่วยเหลือเยียวยาแยกเป็น นายสุไฮมี 1,352,000 บาท นายซัดดัม 2,012,000 บาท นายมะดาวี 1,000,000 บาท และ นายคอลิด 1,122,000 บาท
ทุกกรณีในกลุ่มนี้ ทาง ศอ.บต.ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นไปแล้วรายละ 500,000 บาท
กลุ่มที่ 2 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนระเบียบ กพต.บังคับใช้ มี 4 กรณี 7 ราย จำนวนเงิน 8,031,000 บาท ประกอบด้วย
1. นายฮีสซัน มามะ กับ นายอับดุลเลาะ แวแยะ ทั้งคู่เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงปะทะกับคนร้ายที่ซุ่มโจมตีฐาน โดยระหว่างนั้นทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์ผ่านไปพอดี จึงถูกกระสุนลูกหลงจนเสียชีวิต เหตุเกิดในพื้นที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2554 กรณีของนายฮีสซัน ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,485,000 บาท ขณะที่ นายอับดุลเลาะ ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,000,000 บาท
2. นายนิเล๊าะ บาเห๊ะ เสียชีวิตเพราะถูกยิงขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนจุดตรวจบนถนนสายบันนังสตา-เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2551 ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,000,000 บาท โดยก่อนหน้านี้อาสาสมัครทหารพรานที่ใช้อาวุธปืนยิงใส่ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้ตาย 290,000 บาท
3. นายอาบูคอลี กาสอ เสียชีวิตเพราะถูกเจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงใส่เข้าไปในรถที่เขานั่งมา เพราะเข้าใจผิดคิดว่ามีคนร้ายอยู่ในรถ เหตุเกิดใน ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2550 ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,000,000 บาท
4. เด็กชายสุชีพ รับยูร, เด็กชายเจ๊ะมูซอ สาและ และ นายมัคตา มะมิง เป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทหารยิงเด็กในพื้นที่ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2549 โดยทหารพรานที่ออกลาดตระเวนหลังเกิดเหตุการณ์คนร้ายลอบเผาเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ ไปพบเด็กๆ กำลังเล่นซ่อนหา แล้วมีเสียงระเบิดดังขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดว่ากลุ่มเด็กเป็นผู้ก่อเหตุ จึงใช้อาวุธปืนยิงป้องกันตัว จากกรณีนี้ เด็กชายสุชีพ ผู้เสียชีวิต ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,000,000 บาท เด็กชายเจ๊ะมูซอ เสียชีวิตเช่นกัน ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา 1,546,000 บาท และ นายมัคตา ตาบอดทั้ง 2 ข้าง ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือเยียวยา 1,000,000 บาท
รวมทั้งสองกลุ่ม 10 กรณี 17 ราย ได้รับเงินเยียวยาทั้งสิ้น 21,621,000 บาท
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุการณ์ 4 ศพทุ่งยางแดง (แฟ้มภาพและเบลอภาพโดยศูนย์ข่าวอิศรา)
อ่านประกอบ :
ปะทะเดือดทุ่งยางแดง วิสามัญฯ 4 ศพ!
วิฯ4ศพทุ่งยางแดงวุ่น ชาวบ้านโวยคนตายไม่ใช่คนร้าย
ม.ฟาฏอนี ชี้ 2 ใน 4 เหยื่อวิฯเป็นนศ. จี้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง
"ลูกแค่ผิดที่ติดน้ำกระท่อม ถึงกับต้องยิงเขาเลยหรือ..." แม่เหยื่อวิฯทุ่งยางแดง
รู้ตัว5ทหารในปฏิบัติการทุ่งยางแดง ใบปลิวว่อน "ยิงตาย จ่ายจบ"
ผลสอบเบื้องต้น 4 ศพทุ่งยางแดง จนท.ส่อกระทำเกินกว่าเหตุ
สอบ4ศพทุ่งยางแดงจบไม่ลง – ญาติ4ศพ"ปุโละปุโย"ถาม3ปีคดีถึงไหน
เสียงจากครอบครัวเหยื่อทุ่งยางแดง กับกระแสไม่เอาทหารพรานที่บ้านโต๊ะชูด
กสม.เตือนคดี 4 ศพทุ่งยางแดง ตำรวจอาจสั่งไม่ฟ้อง แนะญาติเตรียมสู้เอง