เสียงจากครอบครัวเหยื่อทุ่งยางแดง กับกระแสไม่เอาทหารพรานที่บ้านโต๊ะชูด
แม้ปฏิบัติการผิดพลาดของฝ่ายความมั่นคงจนมีผู้เสียชีวิตถึง 4 คนที่บ้านโต๊ะชูด หมู่ 6 ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ดูจะจบลงไประดับหนึ่งแล้วในความรู้สึกของผู้คนในสังคม หลังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงรายงานผลการตรวจสอบออกมาว่าคนตาย 4 คนไม่ใช่คนร้าย และต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในเหตุการณ์ดังกล่าว
แต่ทว่าในความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสียอย่างครอบครัวสาแม็ง พวกเขายังต้องเผชิญวันคืนอันเลวร้ายต่อไป
คอลิด สาแม็ง เป็นหนึ่งใน 4 ผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูดเมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 ทั้งๆ ที่เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในวันนี้แม้จะผ่านวันคืนของความสูญเสียมาร่วมครึ่งเดือนแล้ว แต่พ่อและแม่ของเขายังคงต้องนอนทั้งน้ำตา
"แรกๆ พยายามคิดว่าลูกไม่ตาย ลูกแค่ไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย แต่พอหลายวันผ่านไป รู้สึกว่าเริ่มตื่นจากความฝันมาอยู่กับความจริง เราเสียเขาไปจากเหตุการณ์นี้จริงๆ" ซูรายา สาแม็ง แม่ของคอลิค เผยความรู้สึกในระหว่างทำใจยอมรับให้ได้กับข่าวร้ายของครอบครัว
นางบอกต่อพร้อมกับหยิบภาพถ่ายของลูกชายขึ้นมาดูว่า เหตุการณ์ผ่านมาหลายวันแล้วก็จริง แต่ก็ยังรู้สึกหมดแรง จะทำอะไรก็ไม่ไหว ใจนึกถึงแต่คอลิค
"ภาพถ่ายที่คอลิดใส่ชุดปากีสีครีมใบนี้ เพิ่งถ่ายเมื่อวันที่ 19 มี.ค.นี่เอง เป็นภาพสุดท้ายของเขาที่แม่จะเก็บเป็นความทรงจำ นอกจากคำพูดสมัยตอนยังมีชีวิตที่บอกว่า จะทำทุกอย่างเพื่อพ่อและแม่ เพื่อครอบครัว เรียนจบจะขอสอบปลัดอำเภอเพราะจะกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิด คำพูดเหล่านี้ยังคงก้องอยู่ในหูของฉันแม้ว่าคอลิดจะเสียไปแล้ว"
ซูรายา ย้อนเล่าถึงนิสัยใจคอของลูกชายว่า คอลิดเป็นเด็กเจ้าระเบียบ ไปไหนมาไหนมักพกข้าวของเครื่องใช้และยาติดตัวไปด้วยเสมอ วันเกิดเหตุประมาณ 15.55 น. คอลิดไปหาหมอเพราะเขาปวดหลัง ยาที่หมอสั่งมา คอลิดเอาติดตัวไว้ แม้กระทั่งหลังเกิดเหตุยิงกัน ยาก็ยังอยู่ในกระเป๋า ทำให้มั่นใจว่า ลูกชายไม่ใช่คนร้าย
"สิ่งที่ฉันหวังมากที่สุดในเวลานี้คือขอให้คอลิดเป็นคนสุดท้ายที่ต้องตกเป็นเหยื่อจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่" ซูรายา กล่าว
ขณะที่ มะหามะ เซ็นและ พ่อของ ซูไฮมี เซ็นและ ผู้เสียชีวิตอีกคน เล่าว่า เขามีอาชีพกรีดยางและรับซื้อกระดาษจากในพื้นที่ไปส่งให้กับร้านในยะลา หลังเกิดเรื่องจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้ทำอะไร ทำไม่ไหว เพราะไม่มีกำลังใจ
"ตั้งแต่เกิดเหตุ รถคู่ชีพคันนี้ที่ใช้ขับรับซื้อเศษกระดาษยังจอดอยู่ในโรงรถจนฝุ่นเกาะแน่น ท้ายกระบะลูกหลานใช้นั่งเล่น" มาหามะเล่าพลางปัดฝุ่นที่เกาะอยู่บนกระจกรถซึ่งจอดไว้ในบ้าน
เขาบอกว่า สิ่งที่ต้องการตอนนี้ คือ ไม่อยากให้มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก อยากให้คนที่กระทำถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจริงๆ หลังจากนี้คงต้องติดตามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
"ความหวังของพวกเราตอนนี้ คืออยากให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่มีความระมัดระวังในการทำงาน มีความรอบคอบมากกว่าปัจจุบัน ไม่ใช่เข้ามาปั๊บก็เอาเลย เหมือนกับเหตุการณ์ที่บ้านโต๊ะชูด"
ส่วน วาลิ วานุ พ่อของ ซัดดัม วานุ อีกหนึ่งผู้เสียชีวิต เผยความรู้สึกว่า เมื่อผลสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงออกมาว่าลูกไม่ใช่คนร้าย ก็คลายความรู้สึกโกรธลงบ้าง แต่เมื่อเห็นทหารพรานเข้ามาในพื้นที่ อารมณ์และความรู้สึกก็เปลี่ยนเป็นเจ็บปวดขึ้นมาทันที
"ตอนนี้พวกเรายังรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกครั้งที่เห็นทหารพรานจะเจ็บและปวดใจมาก บางครั้งก็พยายามเก็บอารมณ์ ไม่แสดงออกมา แต่ภรรยาผมสิสุดๆ เลย ไล่ทหารพรานออกทันทีที่เห็นพวกเขาเห็นเข้ามา"
บรรยากาศตึงเครียดและการไม่ยอมรับทหารพราน หรือที่คนในพื้นที่เรียก "ทหารชุดดำ" ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการหลักในเหตุการณ์ปิดล้อมตรวจค้นเมื่อวันที่ 25 มี.ค.จนไปสู่การสูญเสีย ได้รับการยืนยันจาก นายมะนาแซ ดอคอ ผู้ใหญ่บ้านโต๊ะชูด
"ตอนนี้ถ้าจะให้ดี ทหารพรานยังไม่ควรเข้ามา เพราะชาวบ้านยังเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อความรู้สึกของชาวบ้านคลายลง ค่อยหาวิธีเข้าพื้นที่ใหม่ เข้าตอนนี้จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย" มะนาแซบอก
ผู้ใหญ่บ้านโต๊ะชูด เล่าต่อว่า บรรยากาศโดยทั่วไปในหมู่บ้าน ชาวบ้านสามารถทำงานได้ปกติ เหลือแค่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่ยังเศร้าเสียใจและเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน รวมทั้งหวาดผวาทุกครั้งที่มีเจ้าหน้าที่ทหารพรานเข้ามาก บางครั้งก็แรงถึงขั้นออกมาขับไล่ทหารพรานให้ออกไป
วัยรุ่นชายวัย 18 ปีที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโต๊ะชูด กล่าวยอมรับว่าเขาคือหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาขับไล่ทหารพรานจากกรมทหารพราน 41 ออกจากพื้นที่ เพราะรับไม่ได้ที่ทหารทำกับ ซัดดัม วานุ เพื่อนของเขาจนเสียชีวิต
"รู้สึกรับไม่ได้จริงๆ ยิ่งเห็นทหารพรานมาในพื้นที่ยิ่งรู้สึกว่าซัดดัมถูกรังแก ทำให้ยิ่งเจ็บปวด เพื่อนเราเจ็บ เพื่อนเราตายเพราะทหารพรานกลุ่มนี้"
ด้านเจ้าหน้าที่ทหารพรานชุดที่ถูกชาวบ้านขับไล่ออกจากบ้านโต๊ะชูด เล่าว่า พยายามเข้าไปเยี่ยมเยียนทำความเข้าใจ แต่กลับมีทั้งผู้หญิงและวัยรุ่นออกมาไล่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่เดินเข้ามาด้วยสีหน้าเอาเรื่อง ทำให้ต้องถอยออกมา
"ตอนนั้นใจนึกถึงเหตุการณ์ที่มีการจับทหารนาวิกโยธิน 2 นายแล้วรุมทำร้ายจนเสียชีวิต ที่หมู่ 7 บ้านตันหยงลิมอ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อ 21 ก.ย.48 คิดว่าถ้าเราอยู่ในหมู่บ้านต่อ ต้องเป็นอย่าง 2 นาวิกโยธินแน่นอน"
ในส่วนของผู้ที่ถูกควบคุมตัว 22 รายตั้งแต่วันเกิดเหตุ จนถึงวันนี้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวแล้ว 21 ราย เหลือเพียงเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นบ้านที่กำลังซ่อมแซมเท่านั้น เพราะเจ้าหน้าที่อายัดตัวไปดำเนินคดียาเสพติด
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พ่อกับแม่ของ คอลิด สาแม็ง โชว์ภาพลูกชายด้วยความอาลัย
2 คอลิด สมัยเป็นนักศึกษาวิชาทหาร
3 ยาที่คอลิดไปรับมาจากโรงพยาบาลทุ่งยางแดงก่อนถูกยิงจนเสียชีวิต
4 บ้านที่เกิดเหตุยังไม่ได้ซ่อมแซมต่อเพราะเจ้าของบ้านถูกอายัดตัว