สิ่งที่ต้องทำมากกว่าขอโทษ
ไม่ได้เรียกร้องแบบ "ได้คืบจะเอาศอก" จากฝ่ายทหาร
และอยากบอกจากใจจริงว่าการที่แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ปราการ ชลยุทธ ยอมเอ่ยคำ "ขออภัย" กรณีความผิดพลาดจากปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิตไปถึง 4 รายโดยไม่มีหลักฐานว่าพวกเขาเป็นคนร้าย หรือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานนั้น ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีมากๆ ต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบปัจจุบันที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี
เพราะตลอดมามีน้อยครั้งที่ฝ่ายทหาร หรือฝ่ายรัฐจะยอมเอ่ยคำขอโทษ แม้จะกระทำผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า
กลายเป็นเงื่อนปมเกาะกินใจคนในพื้นที่ ถึงขั้นนั่งตั้งวงตามร้านน้ำชาตั้งข้อสังเกตกันว่า เหตุใดแม่ทัพถึงใช้คำว่า "ขออภัย" ไม่ใช้คำว่า "ขอโทษ" ที่เข้าใจและสื่อแบบใจถึงใจง่ายกว่า
นี่คือภาพสะท้อนของความหวาดระแวงที่ฝังแน่น ทั้งๆ ที่ความหมายในภาษาไทย คำว่า "ขออภัย" นั้น เป็นคำที่สื่อความหมายในแง่ "ให้เกียรติ" มากกว่า "ขอโทษ" เสียด้วยซ้ำ
และความหวาดระแวงสำคัญที่คนในพื้นที่กำลังเฝ้าจับตามอง ก็คือ ความจริงใจในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อาวุธจนมีคนตาย
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การวิสามัญฆาตกรรมไม่ใช่สิ่งที่เจ้าหน้าที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย แต่เป็น "ข้อยกเว้น" ของกฎหมาย (จึงใช้คำว่า "วิสามัญ" ไม่ใช่ "สามัญ") ฉะนั้นตามขั้นตอนปกติต้องมีการแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำ เพียงแต่เจ้าหน้าที่อาจไม่ต้องรับผิด หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการ "ป้องกันตนเองโดยชอบ" และ "ไม่เกินสมควรแก่เหตุ"
ที่ผ่านมากรณีวิสามัญฆาตกรรม เจ้าหน้าที่มักช่วยเหลือกันเองจนไม่ต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ฉะนั้นสิ่งที่ฝ่ายรัฐต้องทำมากกว่าเอ่ยคำ "ขอโทษ" คือสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นให้ได้ว่า เจ้าหน้าที่ที่กระทำจักต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย (ไม่ใช่ซ้ำเติม แต่เป็นขั้นตอนปกติตามกฎหมาย)
ยิ่งไปกว่านั้น ยังควรรายงานความคืบหน้าของคดีให้ประชาชนได้รับทราบด้วย โดยเฉพาะครอบครัวผู้สูญเสีย ซึ่งเป็นผู้เสียหายทางตรงจากเหตุการณ์ ท่านโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ควรเปิดแถลงเป็นระยะ เหมือนกับที่แถลงอยู่บ่อยๆ เวลาฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือแนวร่วม หรือผู้ก่อเหตุรุนแรงถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดี
เรื่องแบบนี้ต้องทำให้เท่าเทียมทางความรู้สึก ปมคาใจมันถึงจะจบ
วันก่อน "ทีมข่าวอิศรา" ได้พูดคุยกับครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่หน่วยหนึ่งกราดยิงรถกระบะต้องสงสัยในพื้นที่บ้านน้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อเดือน ม.ค.2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 4 ราย ภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเหมือนกับกรณีทุ่งยางแดง และสรุปว่าคนตายไม่ใช่คนร้ายเช่นกัน
กรณีปุโละปุโย แม้ครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยาไปแล้วครอบครัวละ 7.5 ล้านบาท แต่สิ่งที่ยังค้างคาอยู่ในใจก็คือ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในวันเกิดเหตุ ถึงวันนี้ถูกดำเนินคดีจริงหรือไม่ คดีคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ญาติคนตายไม่รู้แม้กระทั่งว่าเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าถูกดำเนินคดี ถูกดำเนินการทางวินัย เป็นใคร ชื่ออะไร ถึงกับเปรยว่า ไม่รู้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่หรือเปล่า และจะย้อนมาทำร้ายครอบครัวคนตายหรือไม่
อีกด้านหนึ่งก็มีข้อสังเกตจาก คุณอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ที่ตั้งคำถามเรื่อง "ความรับผิดชอบทางจริยธรรม" ของบรรดาผู้บังคับบัญชาในหน่วยปฏิบัติว่าเหตุใดจึงไม่ปรากฏให้เห็นแม้แต่น้อย หลายหน่วยในพื้นที่ โดยเฉพาะทหารชุดดำ ก่อปัญหาลักษณะเดียวกันนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ผู้บังคับหน่วยก็ยังอยู่สบาย หลายๆ กรณีมีแต่ทหารเด็กๆ ที่โดนดำเนินการ
คุณอังคณา บอกว่า ถ้าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว อย่างน้อยต้องมีผู้รับผิดชอบ "ลาออก" ในเบื้องต้นก่อน ซึ่งนอกจากจะเพื่อแสดงความรับผิดชอบในทางจริยธรรมแล้ว ก็ยังเพื่อเปิดทางให้มีการตราวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์อย่างโปร่งใสด้วย
นี่คือสิ่งที่ฝ่ายรัฐน่านำมาพิจารณา และดำเนินการบางอย่างมากกว่าเอ่ยคำว่า "ขอโทษ" แล้วจบไป
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แม่ทัพภาคที่ 4 ขณะแถลงขอโทษจากปฏิบัติการที่ผิดพลาดที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี